รักเกลียดเสมอกัน
คุณให้อภัยแก่ศัตรูคู่อริที่คิดทำร้ายคุณได้หรือ?
"รักเกลียดเสมอกัน" หมายถึง
แม้แต่ศัตรูคู่อริที่มีความแค้นเคืองต่อกัน
ก็ต้องปฏิบัติต่อเขาเหมือนคนที่ตนรัก
เรื่องนี้เป็นคติประจำใจของชาวพุทธ
ซึ่งบางทีคุณอาจคิดว่าคุณเข้าใจ
แต่พอคุณได้เผชิญหน้ากับศัตรูคู่อริ
มันก็ยากมากที่คุณจะปฏิบัติต่อเขาให้เสมอกับคนที่คุณรัก
ในสมัยก่อนที่ประเทศอินเดีย มีประเทศเล็กๆ ที่อ่อนแออยู่ประเทศหนึ่ง ต่อมาประเทศนี้ก็ถูกประเทศใหญ่ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านเข้ายึดครอง
ในตอนที่พระเจ้าแผ่นดินของประเทศเล็กถูกนำตัวไปประหารนั้น
พระองค์ได้ตรัสกับพระราชโอรสว่า
"เจ้าอย่าดู (การประหาร) นานเกินไป
และอย่าใจร้อนวู่วาม
ความแค้นย่อมหมดไปเพราะการไม่แค้นเคือง"
ต่อมาพระราชโอรสได้ถูกปล่อยตัวรอดตายมาได้
แต่พระองค์ก็คิดแค้นอยู่ในใจตลอด
ต่อมาไม่นาน โอกาสก็มาถึง
พระองค์ทรงไปทำงานอยู่ในประเทศใหญ่นั้น และยังเป็นที่วางพระทัยของพระเจ้าแผ่นดินจนได้ใกล้ชิดพระองค์ด้วย
วันหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกล่าสัตว์
และด้วยความที่ทรงอ่อนเพลียเพราะเดินทางมาไกล จึงทรงบรรทมหลับอยู่บนตักของพระราชโอรสองค์นี้
นี่เป็นโอกาสดียิ่งที่จะแก้แค้นแทนพระชนก
พระองค์จึงทรงชักพระแสงดาบจ่อพระศอของพระเจ้าแผ่นดิน
แต่ในชั่วพริบตานั้น พระองค์ทรงหวนนึกถึงพระกระแสรับสั่งของพระชนกได้
จึงทรงลังเลพระทัย และเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงตื่นจากบรรทม
พระองค์จึงทรงสารภาพเรื่องราวทั้งหมดให้พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบ พระเจ้าแผ่นดินทรงสดับด้วยความซาบซึ้งในพระทัยยิ่งนัก
และทรงขออภัยในเรื่องที่เกิดขึ้น
พร้อมทั้งทรงส่งพระราชโอรสกลับประเทศเพื่อความสงบสันติของทั้งสองฝ่าย
.............................................
"อย่าดูนานเกินไป" หมายความว่า อย่าคิดแค้นเคืองอยู่ในใจไปตลอด
"อย่าใจร้อนวู่วาม" หมายความว่า
อย่าหุนหันพลันแล่น จนทำร้ายมิตรภาพที่มีต่อกัน
อย่างเช่นการ "ไม่คิดแค้นเคือง" ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากอย่างยิ่ง
__________________________
ในการประชุมที่ลอสแองเจลิสครั้งหนึ่ง ตัวแทนจากศรีลังกาซึ่งเป็นเมืองพุทธได้กล่าวในที่ประชุมว่า "เวรอยู่ได้ด้วยเพราะมีเวร เวรย่อมหมดไปด้วยเพราะไม่มีเวร" และพยายามปกป้องญี่ปุ่นซึ่งแพ้สงครามอย่างเต็มที่
จาก ชนะทุกข์และสร้างสุขแบบเซ็น
คัตซึรากาว่า มิจิโอะ เรียบเรียง
อดุลย์ รัตนมั่นเกษม แปลและเรียบเรียง
"การรู้ซึ้งคุณค่าของสิ่งที่เรามีอยู่ในวันนี้คือสิ่งที่สำคัญ ขอให้ความทุกข์ที่ผ่านมาแล้ว...เป็นบทเรียนอันมีค่าที่จะทำให้เราเติบโตอย่างคนที่รู้เท่าทันความทุกข์"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น