++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ฐานทรัพยากรอาหาร: นวัตกรรมกอบกู้ความมั่นคงและอธิปไตย

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 สิงหาคม 2552 16:26 น.
สิทธิพึงได้รับอาหาร (Right to food)
อันเป็นสิทธิของมนุษย์ที่จะได้รับอาหารปลอดภัยและเพียงพอ
โดยที่ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ มีโภชนาการ มีความหลากหลาย
และมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการบริโภคเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
อย่างมีศักดิ์ศรีที่มีฐานรากจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR)
และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
(ICESCR) ข้อ 11 นั้นนับวันจะถูกท้าทายหนักหน่วง

เนื่องด้วยประชากรโลก 1.02 พันล้านคน หรือราว 1 ใน 6
กำลังทุกข์ทรมานหิวโหย โดยในปี 2009 จำนวนคนอดอยากที่เพิ่มขึ้น 105
ล้านคนนั้นไม่ได้มาจากเหตุเก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตรระดับโลกตกต่ำลง
แต่เป็นผลพวงวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้รายได้ลดลงและคนตกงานมากขึ้นต่างหาก

วันอาหารโลก (World Food Day) ที่ FAO จัดขึ้นทุกวันที่ 16
ตุลาคมของทุกปี ที่ใช้ธีมสิทธิพึงได้รับอาหารในปี 2007
ธีมความมั่นคงอาหารโลก:
ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและพลังงานชีวภาพ ในปี 2008
และต่อยอดด้วยธีม 'การบรรลุความมั่นคงทางอาหารในห้วงวิกฤต' ในปี 2009
น่าจะทอนสถานการณ์หิวโหยของประชากรโลกอันเนื่องมาจากความเปราะบางด้านความ
มั่นคงทางอาหาร (Food security) และอธิปไตยทางอาหาร (Food sovereignty)
ตามพิษเศรษฐกิจบวกแรงละโมบของบรรษัทเกษตรกรรมได้
แม้แต่ไทยที่อยู่ใต้อาณัติบรรษัทเกษตรกรรมมาช้านาน

แม้นประเทศไทยไม่ได้เผชิญวิกฤตจลาจลความมั่นคงทางอาหารระดับมหภาค
เหมือนเปรูหรือบราซิล
ทว่าระดับจุลภาคภาวะข้าวยากหมากแพงกลับกลุ้มรุมทำร้ายหลายครอบครัว
ไม่เว้นแม้แต่ครัวเรือนเกษตรกรที่ควรอุดมสมบูรณ์พูนสุขสำรับกับข้าวเพียบ
พร้อมโภชนาการ กลับบ่อยคราวที่ไร้ข้าวสารกรอกหม้อ ทั้งๆ
เป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงโลก (Feed the world) มาแต่รุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย

ละม้ายกันกับสิทธิเกษตรกร (Farmers' rights)
ในการเข้าถึงปัจจัยผลิตหลักทั้งเมล็ดพันธุ์ ที่ดิน แหล่งน้ำ
ที่เป็นฐานทรัพยากรธรรมชาติ
ก็กำลังสั่นคลอนจากการรุกรานของบรรษัทเกษตรกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้อำนาจเงินตรา
และการล็อบบี้มีอิทธิพลเหนืออธิปไตยทางอาหารของชาติ ชุมชนท้องถิ่น
และเกษตรกรรายย่อย
โดยการเข้าไปมีส่วนกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อเอื้อผลประโยชน์ตนเอง

อนึ่ง นัยสำคัญของวิกฤตดังกล่าวก่อเกิดจากเกษตรกรไทยเข้าไม่ถึงฐานทรัพยากร
ธรรมชาติทั้งผืนดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ และความหลากหลายทางชีวภาพ
หรือถ้าเข้าถึงได้ก็ต่อเมื่อยอมตกเป็นเบี้ยล่างบรรษัทเกษตรกรรมระดับชาติและ
ข้ามชาติที่แห่แหนกันเข้ามากำหนดกระบวนการผลิตอาหารของประเทศผ่านรูปแบบ
เกษตรพันธสัญญา (Contact farming) เกษตรเชิงเดี่ยว (Monoculture)
ที่เกษตรกรต้องพึ่งพิงเมล็ดพันธุ์และเคมีภัณฑ์ของบรรษัทเหล่านั้นนับแต่เพาะ
ปลูกจนเก็บเกี่ยวผลผลิต

ด้วย เหตุปัจจัยนี้
ความยากจนข้นแค้นที่เป็นพันธนาการล่ามร้อยเกษตรกรไทยทุกยุคทุกสมัยไว้ในความ
คับแค้นขัดสนหนี้สินล้นพ้นตัวจึงไม่ได้มาจากความแห้งแล้งแห่งผืนแผ่นดินหรือ
ขาดแคลนความหลากหลายทางชีวภาพ
หากแต่เป็นนโยบายสาธารณะของรัฐที่ขาดวิสัยทัศน์ ธรรมาภิบาล
กีดกันเกษตรกรออกจากฐานทรัพยากรท้องถิ่น
รวมถึงเอื้อบรรษัทเกษตรกรรมกว่าเกษตรกร
บวกรวมกับการก้าวตามการปฏิวัติเขียว (Green revolution)
ของเกษตรกรเองที่ลืมเลือนภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่ดำรงตนอยู่ในวิถี
เกษตรกรรมแบบเอื้ออาทรระบบนิเวศวิทยา (Ecological agriculture)

ฐานทรัพยากรธรรมชาติอันกอปรด้วยดิน น้ำ ป่า ทะเล
และความหลากหลายทางชีวภาพ ฐานวัฒนธรรมทั้งความรู้ ภูมิปัญญา เรื่องเล่า
และจิตวิญญาณ และฐานระบบนิเวศน์
ที่เคยอุดมสมบูรณ์แต่ดั้งเดิมจึงเสื่อมสลายลงไปในอัตราเร่งจากการกำหนด
นโยบายรัฐที่ไม่สอดคล้องวิถีวัฒนธรรมเกษตรกรรม
ดังไร่หมุนเวียนภาคเหนือที่มีข้าว 28 สายพันธุ์ ไร่หมุนเวียนชุมชนจะแก
จ.กาญจนบุรี ที่มีข้าวถึง 36 สายพันธุ์
ตามผลการศึกษาโครงการปลูกความหลากหลายให้งอกงามของมูลนิธิชีววิถี

ทั้งนี้ หลังการปฏิวัติเขียว
แนวคิดเกษตรกรรมไทยที่ถักถ้อยทุกสิ่งอย่างตั้งแต่ผืนดิน เมล็ดพันธุ์
สรรพสัตว์ จนถึงมนุษย์แบบองค์รวม ร้อยรัดระหว่างกัน (Interconnected)
ในเครือข่ายของระบบเกษตรกรรมสลับซับซ้อนไม่มีที่สิ้นสุดก็ถูกแทนที่ด้วยแนว
คิดลดทอนแยกส่วน (Reductionism)
ของเกษตรกรรมสมัยใหม่ที่ทลายระบบนิเวศน์และวิถีเกษตรพอเพียงเป็นผลิตเพื่อ
ป้อนสายพานอุตสาหกรรม

นับแต่นั้นมา กระบวนการผลิต จัดสรร
และกระจายอาหารของประเทศไทยจึงตกใต้อุ้งมือบรรษัทเกษตรกรรมยักษ์ใหญ่ที่ใช้
กลไกเศรษฐกิจผูกขาดเข้าครอบงำกำหนดแบบแผนการผลิตตั้งแต่ชนิดพืช
เครื่องจักร จนถึงเทคโนโลยี ที่มากครั้งเข้าข่ายใช้เกษตรกรเป็น
'หนูทดลอง' เมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่นิ่ง หรือเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรม
(GM seeds) โดยการโฆษณาชวนเชื่อเกินจริง
ยิ่งกว่านั้นยังแนบเนียนเข้าไปให้ทุนวิจัยกับมหาวิทยาลัย
และร่วมพัฒนาวิจัย (R&D) กับหน่วยงานรัฐปรับปรุงพันธุกรรมพืชและสัตว์
โดยส่วนมากสิทธิบัตรมักตกเป็นของบรรษัทนั้นๆ ดังกรณีสมุนไพรไทย

ไม่เท่านั้น
สุขภาวะแม่ธรรมชาติยังเสื่อมทรามตามปริมาณการใช้เคมีภัณฑ์ผูกขาดที่ทวีขึ้น
ทุกวัน พร้อมกันกับสุขภาวะของมนุษย์ทั้งตัวเกษตรกรและผู้บริโภคก็ยังเสื่อมโทรมลง
เรื่อยๆ

การสกัดกั้นปรากฏการณ์ข้างต้นไม่ให้ลุกลามทำลายฐานทรัพยากรอาหารของ
ประเทศจนหมดสิ้นจึงต้องมองระบบเกษตรกรรมด้วยมุมมองใหม่แต่เป็นของดีที่ไทยมี
อยู่แล้ว คือ เกษตรกรรมเป็นวิถีชีวิตมิใช่สินค้าซื้อหา
หากเป็นระบบที่ทุกภาคส่วนทั้งมีชีวิต คน พืช สัตว์ และไม่มีชีวิต ผืนดิน
แผ่นน้ำ ลมฟ้าอากาศ มีปฏิสัมพันธ์พึ่งพาซึ่งกันและกัน (interdependent)
ฉะนั้นยามผลผลิตตกต่ำ พืชผลไม่งอกงาม
จึงแก้ไขด้วยการอัดปุ๋ยเคมีหรือโหมฉีดยาฆ่าแมลงตามแนวคิดเกษตรสมัยใหม่ไม่
ได้

ด้วย ในข้อเท็จจริง ปัญหาระบบเกษตรกรรมนั้นซับซ้อน
ซ่อนส่วนที่จับต้องไม่ได้ (Intangible) ไว้มากมาย
ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการกำหนดนโยบายแบบขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารภาครัฐกับกลุ่มทุนเกษตรกรรม
จักรวรรดิทางอาหารกับการปลดแอกอธิปไตย ศรัทธา ค่านิยม
จนถึงจิตวิญญาณไทไม่ใช่ทาสอันเป็นปัจจัยภายในของตัวเกษตรกรเองด้วย

ปฏิบัติการแก้วิกฤตจึงต้องมองแบบองค์รวมโดยการผสานกฎกติกาอย่าง
พ.ร.บ.สภาเกษตรกรที่สร้างเสริมสิทธิเกษตรกรให้เข้าถึงปัจจัยการผลิตและเสนอ
นโยบายการเกษตรอย่างเป็นระบบ
เข้ากับนโยบายรัฐบาลปัจจุบันที่สัญญาว่าจะคุ้มครองฟื้นฟูพื้นที่อนุรักษ์ที่
มีความสำคัญเชิงระบบนิเวศน์เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
สร้างความมั่นคงด้านอาหาร และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
รวมถึงแผนงานฐานทรัพยากรอาหารที่มุ่งสร้างสรรค์ระบบบริหารจัดการทรัพยากร
ธรรมชาติที่มีศักยภาพรองรับระบบการผลิตอาหารอย่างยั่งยืนมั่นคง
ตลอดจนรู้เท่าทันกระบวนการผลิตอาหารที่สร้างผลกระทบต่อพัฒนาการฐานทรัพยากร
อาหาร โดยเฉพาะ GMO, FTA และนอมินีที่ดิน

ดังนั้น ฐานทรัพยากรอาหารจึงนับเป็นนวัตกรรมส่วนเพิ่ม
(Incremental innovation) ที่พัฒนาต่อยอดจากรากฐานภายในและนอกประเทศ
โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางอาหารที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นต้นแบบ
ปฏิบัติ ดัง FAO ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญ Agricola และ Telefood
เหรียญแรกของโลกเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณด้านการเกษตรและความมั่นคงด้านอาหาร

ส่วนอธิปไตยทางอาหารก็ได้ขบวนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายเกษตรกรรมทาง
เลือกและเกษตรอินทรีย์ที่เป็นหัวหอกเกษตรกรรมทางเลือก (Alternative
agriculture) ผนึกร้อยประสบการณ์ชาวบ้านปากมูลและชาวปะกาเกอญอที่รักษาระบบการผลิตดั้ง
เดิมและพันธุกรรมพื้นบ้านบนแนวคิดสิทธิชุมชน
เข้าต้านทานบรรษัทเกษตรกรรมข้ามชาติด้วยแนวทางโลกาภิวัตน์จากฐานราก
(Globalization from below)

ฐาน ทรัพยากรอาหารจึงเป็นนวัตกรรมกอบกู้ความมั่นคงและอธิปไตยในห้วงวิกฤต
เศรษฐกิจและอาหารโลก ด้วยถักถ้อยร้อยรัดสิทธิพึงได้รับอาหาร
ความมั่นคงทางอาหาร และอธิปไตยทางอาหารเข้าด้วยกันอย่างมีพลัง
จนสามารถรังสรรค์ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable agriculture)
ที่ควบคู่มากับความเป็นธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ.

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น