++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2552

บีโอไอ:เส้นทางโรงเหล็กต้นน้ำของไทย กับกรณีศึกษาในประเทศเพื่อนบ้าน

โดย ณรงค์ชัย สามภักดี


การสร้างโรงเหล็กต้นน้ำคุณภาพสูงของประเทศไทยในขณะนี้
ยังไม่มีความคืบหน้า
ในขณะที่ต่างประเทศเดินหน้าผลิตเหล็กต้นน้ำคุณภาพสูงเป็นของตนเองมานานหลาย
สิบปี ทำให้ประเทศเหล่านั้นกลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกเหล็กอันดับต้นๆ
ของโลก และที่สำคัญประเทศเหล่านี้ได้เจริญไปพร้อมๆ
กับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและชุมชนให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
ด้วยหลักปฏิบัติอย่างเคร่งครัดด้านการบริหารจัดการ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน
ตลอดจนการดูแลสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของชุมชน

ปัจจุบันโรงถลุงเหล็กในต่างประเทศ
ได้รับการยอมรับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เพราะมีการบริหารจัดการที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพและลดต้นทุนทางพลังงาน
ยกตัวอย่างกรณีศึกษาในต่างประเทศที่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็ก
กล้าที่ถลุงจากแร่เหล็ก ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และเวียดนาม
ที่มีการกำหนดแนวปฏิบัติอย่างเคร่งครัดให้สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมและ
ชุมชนได้

ประเทศญี่ปุ่น : กรณีบริษัท Nippon Steel Corporation

รัฐบาลญี่ปุ่นได้สนับสนุนให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กตั้งแต่ปี
2400 ทั้งๆ ที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตเหล็กและเหล็กกล้า
ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดคือ บริษัท นิปปอน สตีล คอร์ปอเรชั่น
ซึ่งมีการผลิตเหล็กและเหล็กกล้ามากเป็นอันดับ 2 ของโลก
และมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้สามารถควบคุมมิให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ปี 2515 บริษัท นิปปอน สตีล คอร์ปอเรชั่น ได้ตั้งโรงงาน นิปปอน
สตีล โออิตะ เวิร์ค ที่เมืองโออิตะ
เป็นโรงงานเหล็กคุณภาพสูงครบวงจรที่ดำเนินการตั้งแต่การถลุงแร่เหล็กจนถึง
เหล็กแผ่นรีดร้อน โดยตั้งอยู่ใกล้ศูนย์กลางของเมืองอยู่ห่างจาก City Hall
น้อยกว่า 2 กิโลเมตร และอยู่ใกล้กับรีสอร์ต
มีประชากรอาศัยในบริเวณใกล้เคียงประมาณ 5 หมื่นครอบครัว
มีการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน
พื้นที่อย่างเข้มงวด เมืองโออิตะ
ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น
เนื่องจากอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล และเป็นอ่าวที่มีธรรมชาติสวยงาม มีแม่น้ำ
Ono ไหลผ่านด้านตะวันออกของโรงงาน

รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดการด้านโครงสร้างพื้นฐาน
ในด้านการกำหนดเขตอุตสาหกรรม Oita-Tsurusaki
มีการปรับผังเมืองและจัดการเรื่องการเวนคืนที่ดิน
รวมถึงพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
มีการก่อตั้งสถาบันการศึกษาในพื้นที่ตัวอย่าง
เพื่อฝึกฝนผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคให้กับอุตสาหกรรม

การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม นิปปอน สตีล
มีการจัดการดีเป็นอันดับ 10 ของโลก
สามารถดำเนินงานด้านการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามข้อกำหนดของญี่ปุ่น
การดำเนินงานใช้หลักการมีส่วนร่วมของชุมชนและใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ก่อให้
เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
และมีการค้นคว้าวิจัยเพื่อหาเทคโนโลยีที่สะอาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มีระบบบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม
โดยบริษัทได้ติดตั้งระบบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ทำการตรวจสอบตลอด
24 ชั่วโมง และเชื่อมโยงข้อมูลไปที่เมือง Oita และรัฐบาลกลาง นอกจากนั้น
ยังมีระบบตรวจสอบภายในและภายนอกเดือนละ 1-2 ครั้ง
มีการกำหนดพื้นที่สงวนสำหรับป่าไม้

ปัจจุบันนิปปอน สตีล โออิตะ เวิร์ค มีพนักงาน 1,658 คน พื้นที่
7.19 ล้านตารางเมตร โดยแบ่งเป็นพื้นที่ปั่นแร่ขนาด 400 ตารางเมตร
เตาถลุงพ่นลม 2 เตา ขนาด 5,573 ลูกบาศก์เมตร
ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลกและมีประสิทธิภาพสูง ผลิตเหล็กได้วันละ 13,000 ตัน
หรือปีละมากกว่า 4 ล้านตัน เตาหลอมเหล็กกล้า ขนาด 375 ตัน
ซึ่งเป็นขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน สามารถผลิตเหล็กได้มากกว่าวันละ
8,000 ตัน

ประเทศจีน : กรณีบริษัท Baosteel

ปัจจุบันบริษัท Baosteel
เป็นบริษัทผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดที่เป็นของรัฐบาล
ซึ่งเกิดจากการควบรวมกิจการของบริษัท Baoshan Iron and Steel
กับรัฐวิสาหกิจ 2 บริษัท คือ Shanghai Mattalurgical Holding และ บริษัท
Meishan ในปี 2541
เพื่อตั้งกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ตามนโยบายรัฐบาลที่จะปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม
เหล็กให้มีการผลิตที่มีประสิทธิภาพและผลิตเหล็กที่มีคุณภาพสูง

จีน มีปริมาณแร่เหล็กสำรองมากเป็นอันดับ 5 ของโลก (46,000
ล้านตัน) แต่เป็นสินแร่ที่มีคุณภาพต่ำ
โดยมีสัดส่วนของแร่เหล็กประมาณร้อยละ 30
จึงต้องนำเข้าสินแร่เหล็กจากต่างประเทศจำนวนมาก โดยในปี 2549
มีปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าหลอม 418.7 ล้านตัน เป็นอันดับ 1 ของโลก

รัฐบาลในฐานะเจ้าของกิจการ
ได้มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กโดยการจัดหาพื้นที่ตั้งโรงงานในเขต
Baoshan จังหวัดเซี่ยงไฮ้
และรับผิดชอบการย้ายประชาชนในพื้นที่อาศัยในบริเวณดังกล่าวออกจากพื้นที่
พร้อมทั้งจัดหาบ้านพักอาศัยให้
นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนให้มีการนำสถาบันออกแบบและสถาบันก่อสร้างมาดำเนิน
การก่อสร้างโรงงาน
และสนับสนุนการจัดหาวัตถุดิบและการรักษาระดับอุปทานของถ่านหินให้มั่นคง

ในด้านการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้ร่วมกับบริษัท
กำหนดค่าเป้าหมายคือ ไม่มีการปล่อยก๊าซออกจากเตาถลุงหรือเตาโค้ก
รวมถึงกำหนดให้โรงงานมีการลงทุนในด้านสิ่งแวดล้อมในระยะที่หนึ่งคิดเป็นร้อย
ละ 5.3 ของการลงทุนทั้งหมด ระยะที่สองอีกร้อยละ 3.3
และมีการควบคุมปริมาณน้ำเสีย กรดเสีย น้ำมันที่ใช้แล้วอย่างเคร่งครัด

ประเทศเกาหลีใต้ : กรณีบริษัท POSCO Steel

บริษัท POSCO Steel จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2511
โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลประธานาธิบดี Park Chung Hee
ซึ่งมีการระดมทุนจากผู้ผลิตเหล็กต่างชาติ จำนวน 7 ราย
และรัฐบาลได้จัดหาพื้นที่ตั้งโรงงาน การเพิ่มเงินกู้จากต่างชาติ
และเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่น
รวมทั้งได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจาก Nippon Steel Corporation
ทำให้บริษัทมีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน
รัฐบาลให้การสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ได้แก่
ท่าเรือน้ำลึก การพัฒนาแหล่งน้ำ และถนน
นอกจากนี้ในระยะก่อตั้งโรงงานยังได้มีการเตรียมบุคลากรด้วยการสนับสนุนให้
ศึกษาต่อต่างประเทศโดยเฉพาะการศึกษาและอบรมในประเทศญี่ปุ่น
เพื่อฝึกฝนและเพิ่มประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในโรงงาน

ด้านบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม บริษัท POSCO Steel
ในเกาหลีใต้ได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลโดยสมัครใจในการลดปริมาณ CO2
ที่ปล่อยจากกระบวนการผลิต ปัจจุบันบริษัท POSCO Steel
เป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของประเทศเกาหลีใต้ และเป็นอันดับ 5 ของโลก
มีการผลิตเหล็กครบวงจรคือ มีการถลุงเหล็กจากแร่โดยใช้เตาพ่นลม
และผลิตเหล็กกล้าด้วยเตาออกซิเจน

เวียดนาม : มาทีหลังดังกว่า

เวียดนาม ประเทศเพื่อนบ้านของไทย เคยตามหลังเราในหลายๆ ด้าน
แต่ขณะนี้อาจไม่เป็นเช่นนั้น
เพราะปัจจุบันเวียดนามกำลังศึกษาที่จะก่อสร้างโรงเหล็กต้นน้ำคุณภาพสูง

สำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นที่มีการถลุงเหล็กจากแร่
เหล็กและอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจรนั้น ประเทศเวียดนามได้อนุมัติให้ Tycoons
Worldwide Group ลงทุนในปี 2549 คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในปี 2552
เพื่อผลิต 4.5 ล้านตันต่อปี

ในเดือนพฤษภาคม ปี 2550 ได้ลงนาม MOU กับบริษัท POSCO และบริษัท
TATA ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงถลุงเหล็กครบวงจรโดยคาดว่าจะลงทุน
ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ภาครัฐเวียดนาม
ยังเร่งผลักดันด้านการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน
ได้มีการกำหนดพื้นที่เขตอุตสาหกรรม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น
เช่น ถนน ไฟฟ้า รวมถึงท่าเรือน้ำลึกด้วย

ส่วนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
เวียดนามมีการทบทวนกฎหมายสิ่งแวดล้อมใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2549
ซึ่งมีมาตรการห้ามนำเข้าเศษเหล็ก และให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพอากาศ
ฝุ่นละออง และการกำจัดของเสียโดยการกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม
รวมทั้งมีมาตรการควบคุมเทคโนโลยีและขนาดของอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตเหล็กและ
เหล็กกล้าเพื่อควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ประเทศไทย : รอต่อไป

ประเทศไทยเริ่มมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้ามา
ตั้งแต่ปี 2485 ซึ่งในช่วงนั้นทั้งเกาหลีใต้
และเวียดนามยังไม่ได้คิดจะทำโครงการเหล็กเลยด้วยซ้ำ

โดยรัฐบาลไทยในสมัยนั้นได้ให้สัมปทานกับ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย
จำกัด ในการทำเหมืองแร่เหล็กที่จังหวัดลพบุรี และปี 2493
ได้ก่อสร้างโรงงานผลิตเหล็กกล้าโดยใช้เตาแบบ Open Heart Furnace
สามารถผลิตเหล็กกล้าได้ครั้งละ 7 ตัน
และก่อสร้างโรงรีดเหล็กเส้นและเหล็กลวดแห่งแรกในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม โรงถลุงเหล็กของเครือซิเมนต์ไทย
ได้ปิดตัวเองลงในเวลาต่อมา เนื่องจากกิจการมีขนาดเล็กมาก
ทำให้มีต้นทุนในการผลิตสูง
จึงไม่สามารถแข่งขันกับเหล็กที่นำเข้าจากต่างประเทศได้
และในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ระหว่างปี 2535 - 2539
จึงมีความพยายามรื้อฟื้นการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กขึ้นมาอีก
โดยได้มีการอนุมัติให้การส่งเสริมจำนวน 6 โครงการ
เพื่อก่อตั้งโรงถลุงเหล็กขั้นต้นน้ำ กำลังการผลิตรวม 9.15 ล้านตัน/ปี

แต่วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ได้ส่งผลให้ทั้ง 6 โครงการ
ต้องยกเลิกหรือชะลอโครงการลงทุนทั้งหมด
และหลังจากที่ประเทศไทยกำหนดแนวทางส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเหล็กต้นน้ำ
คุณภาพสูง และเปิดโอกาสให้บริษัทผู้สนใจลงทุน
แสดงความจำนงในการลงทุนโครงการเหล็กต้นน้ำคุณภาพสูงในประเทศไทย
ก็มีผู้ยื่นข้อเสนอ 4 ราย โดยแต่ละรายกำหนดจะลงทุนนับแสนล้านบาททั้ง 4
โครงการ ได้กำหนดจะใช้เทคโนโลยีเหมือนกัน คือ Blast Furnace และ Basic
Oxygen Furnace ซึ่งนับเป็นเทคโนโลยีมาตรฐานสำหรับกิจการถลุงเหล็กที่ใช้กันแพร่หลายใน
ปัจจุบัน ประกอบด้วย

* บริษัทอาร์เซลอร์-มิตตัล ของเนเธอร์แลนด์และลักเซมเบอร์ก
ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก

* บริษัทนิปปอนสตีลของญี่ปุ่น ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก

* บริษัท JFE ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก

* บริษัทเซี่ยงไฮ้เป่าสตีล ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 6 ของโลก

อย่างไรก็ตาม
ประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนเรื่องทำเลที่ตั้งโครงการ
การสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องการลงทุนระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน
นอกจากนี้ยังมีแรงต้านจากประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะที่ภาคใต้
แถมล่าสุดยังมีรัฐธรรมนูญมาตรา 67
ซึ่งทำให้ต้องทำการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพ
ยิ่งเหมือนเป็นอุปสรรคที่เข้ามาซ้ำเติมอีก

แต่ สิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้โครงการเหล็กต้นน้ำคุณภาพสูงของไทย
เป็นเรื่องของการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนตั้งแต่เริ่มคิดจะทำ
โครงการ เพื่อเปิดโอกาสให้คนในชุมชน
และประชาชนที่สนใจเข้ามาร่วมในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน
เพื่อสร้างความมั่นใจ ความเชื่อใจแก่ชุมชน
ว่าการผลิตเหล็กต้นน้ำคุณภาพสูงในบ้านเรา ก็จะใช้เทคโนโลยีสะอาด
และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000093028

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น