นิติภูมิกำลังได้รับการชักชวนจากสถานเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทย
ให้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ในห้วงช่วงเวลาก่อนการเดินทาง
ผมก็เลยต้องศึกษาเกี่ยวกับสาธารณรัฐอิสลามนี่อย่างเต็มที่
เพื่อว่าเมื่อถึงอิหร่านแล้วจะได้เข้าใจสิ่งต่างๆได้ไม่ยากนัก
ที่จริงชาวอิหร่านเดินทางเข้ามาสู่ดินแดนของราชอาณาจักรไทยตั้งแต่รัชสมัยของพระนเรศวร
มหาราช ในสมัยนั้นมีสองพี่น้องชาวอิหร่านชื่อเฉกอะห์มัด และเฉกมุฮำมัด
สะอี๊ด เข้ามาตั้งห้างทำมาค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา เมื่อจุลศักราช 964
ปีขาล หรือ พ.ศ.2145 ในสมัยก่อน มีผู้รู้ชาวไทยหลายท่านบันทึกว่า
เฉกอะห์มัด (ต้นสกุลบุนนาค) และเฉกมุฮำมัด สะอี๊ด เป็นชาวอรับ
ท่านใดอ่านบันทึกเก่าๆอย่างนั้น ก็ต้องระลึกไว้หน่อยว่า
ข้อความนั้นไม่เป็นความจริง ความเป็นจริงท่านทั้งสองต้องเป็นชาวอิหร่าน
หรือ เปอร์เซียน เพราะท่านเป็นมุสลิมนิกายชีอะฮ์ 12 อิหม่าม
ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของอิหร่าน ประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ
ที่พี่น้องทั้งสองนำมาเผยแพร่ในราชสำนัก เมื่อพิจารณาแล้ว
ก็เป็นประเพณีและวัฒนธรรมเปอร์เซียนทั้งนั้น ไม่ใช่ของชาวอรับ
มีหลักฐานว่า ฮัมซะฮฺ ฟัรซูรี กวีที่มีชื่อเสียงจากจังหวัดอะเจะห์
ของอินโดนีเซีย เดินทางจากอะเจะห์มาเรียนภาษาเปอร์เซียนที่กรุงศรีอยุธยา
นี่ก็แสดงให้เห็นหลักฐานอีกอย่าง หนึ่งว่า
ภาษาที่พี่น้องสองท่านที่มาจากตะวันออกกลางในตอนนั้น เป็นชาวเปอร์เซียน
ไม่ใช่อรับ มีหลายอย่างที่เราสามารถศึกษาประวัติศาสตร์ไทยจากการบันทึกของชาวเปอร์เซียนที่เข้ามา
เผยแพร ่ศาสนาอิสลามในสยาม เราเคยชินกับการอ่านแต่เอกสารของพวกตะวันตก
ลองมาดูการบันทึกของเอกสารเลขานุการสถานทูตชาวเปอร์เซียนกันบ้างไหมครับ
ซึ่งเขียนถึงว่า
พระนารายณ์มหาราชทรงขึ้นครองราชสมบัติโดยการทำรัฐประหารในราชวัง
...ในสมัยที่พระนารายณ์ยังทรงพระเยาว์
พระองค์เสด็จเยี่ยมพวกอิหร่านเป็นประจำ
และทรงพอพระทัยประเพณีและรสอาหารของอิหร่านมาก
ในการเสด็จไปมาหาสู่เช่นนั้น
ทำให้พระองค์ทรงคุ้นเคยกับวิถีชีวิตของชาวอิหร่าน
เมื่อพระราชบิดาของพระองค์เสด็จสวรรคต ราชโอรส (เจ้าฟ้าไชย)
ได้ขึ้นครองราชสมบัติตามที่พระบิดาได้ทรงกำหนดไว้
แต่พระนารายณ์ทรงวางแผนโค่นล้ม พระองค์เสด็จไปหาพระเจ้าอา และ
ตรัสว่าพระเจ้าอาทรงรู้สึกอย่างไรในการที่พระเชษฐาของข้าพระองค์ได้ขึ้น
ครอง ราชย์ ขณะที่พระเจ้าอายังทรงพระชนม์อยู่ พระเจ้าอาจะทรงกราบ
พระเชษฐากระนั้นหรือ ขออย่าทรงยอมรับ อย่าเชื่อฟัง และอย่ากลัว
ข้าพระองค์จะให้การสนับสนุน ถ้าพระเจ้าอาต้องการ การตรัสเช่นนี้
ทำให้พระเจ้าอาทรงเห็นคล้อยตาม ในวันรุ่งขึ้น
พระนารายณ์จึงเสด็จไปยังพระราชวังของพระเชษฐา
และทรงปลงพระชนม์พระเชษฐาด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง
โดยไม่มีการเตือนแต่อย่างใด หลังจากนั้น
ก็ทรงผลักดันให้พระเจ้าอาขึ้นครองราชสมบัติ ในขณะนั้น
ชุมชนอิหร่านมีอยู่ประมาณ 100 คน หลังจากนั้น
พระนารายณ์ทรงบริหารราชการโดยไม่ปรึกษาพระเจ้าอาเลย
พระองค์ทรงปฏิบัติตามที่พระองค์ทรงประสงค์
ไม่ทรงสนพระทัยว่าขณะนั้นพระเจ้าอาเป็นกษัตริย์อยู่ สถานการณ์เป็นเช่นนี้
จนกระทั่งวันหนึ่ง
พระองค์ทรงประหารชีวิตขุนนางคนหนึ่งต่อพระพักตร์ของพระเจ้าอา
โดยไม่มีเหตุผลปรากฏชัด
แล้วพระองค์ก็เสด็จออกจากพระราชวังไปยังที่ประทับของพระองค์
โดยไม่เข้าเฝ้าอีกเลย
พรุ่งนี้มาดูบันทึกของชาวอิหร่านในกรุงศรีอยุธยากันต่อครับ
ดูซิว่าจะแตกต่างจากบันทึกของคนไทย และของฝรั่งตะวันตก มากน้อยขนาดไหน?
\'นิติภูมิ นวรัตน์\'
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น