from MOPH-Hot news by เว็บไซต์แนวหน้า
ที่ กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย
ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ธีรวัฒน์ กุลทนันท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์
ศิริราชพยาบาล และศาสตราจารย์นายแพทย์ธราธิป โคละทัต คณะแพทยศาสตร์
ศิริราชพยาบาล ร่วมกันแถลงข่าว การประชุมวิชาการ
"การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารก
เพื่อการดูแลภาวะคลอดก่อนกำหนด" นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า
สุขภาวะอนามัยแม่และเด็กเป็นตัวชี้วัดสำคัญของความเจริญก้าวหน้าของประเทศ
จากการสำรวจเด็กไทยพบว่ามีแนวโน้มพัฒนาการลดลง จากในปี 2547
เด็กเล็กมีพัฒนาการสมวัยร้อยละ 71 ลดเหลือร้อยละ 67 ในปี 2550
ส่วนเด็กวัยเรียนมีค่าเฉลี่ยด้านสติปัญญาหรือไอคิวร้อยละ 88 จุด
ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานคือ 90 จุด นอกจากนี้
ยังพบปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการเด็กทั้งด้านแม่และลูก
ที่สำคัญและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นคือ
มีแม่วัยรุ่นตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุไม่ถึง 20 ปีถึงร้อยละ 11 - 20
สูงกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด แต่ละปีพบประมาณ 160,000 คน
การใส่ใจดูแลเด็กในครรภ์มีน้อยกว่าหญิงทั่วไป
ทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาเด็กน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 2,500
กรัมประมาณร้อยละ 8 ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการคลอดก่อนกำหนด
และมีเด็กขาดออกซิเจนระหว่างคลอดร้อยละ 3 ต่อปี นอกจากนี้
อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนยังต่ำเพียงร้อยละ 25
ซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่บั่นทอนคุณภาพเด็กไทยที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า เพื่อพัฒนาคุณภาพแม่และเด็กไทย
ให้เด็กมีพัฒนาการสมวัย สนองพระปณิธานของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
สยามมกุฎราชกุมาร ในปี 2552-2556
กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาแม่และเด็กไทยระยะ 5 ปี
เน้นมาตรการสังคมสร้างเด็กฉลาด เร่งรัด 3 เรื่องคือ
1.สตรีเมื่อตั้งครรภ์ให้ฝากครรภ์ทันที 2.หญิงหลังคลอดให้ลูกกินนมแม่ 6
เดือน 3.เล่าหรืออ่านนิทานให้ลูกฟังทุกวัน โดยมีอสม.เป็นแกนนำ
และพัฒนาระบบบริการให้ได้มาตรฐานโรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัว
ดูแลตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอดและการเลี้ยงดูเด็ก
ขณะนี้มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการแล้ว 896 แห่ง ผ่านการประเมินระดับทอง
212 แห่ง 4.สนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้
และสมรรถนะของบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข และ 5.ประชาสัมพันธ์
สร้างกระแสสังคม
ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็ก
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า
แต่ละปีไทยมีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 800,000 คน
โดยมีเด็กน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยกว่า 2,500 กรัมร้อยละ 8 หรือ 64,000 คน
ในจำนวนนี้เป็นเด็กคลอดก่อนกำหนด 40,000 คน
ที่เหลือเป็นเด็กที่มีปัญหาเจริญเติบโตในครรภ์ชะงักงันแต่ครรภ์ครบกำหนด
ซึ่งเด็กที่คลอดก่อนกำหนด จะมีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูง
และต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
เนื่องจากอวัยวะสำคัญของร่างกายยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ โดยเฉพาะปอด
ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและออกซิเจน
ต้องให้อาหารทางหลอดเลือดหรือทางสายยาง มีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดสูง
และอาจมีปัญหาพัฒนาการล่าช้าหรือจอประสาทตาเสื่อมตามมา นายแพทย์โสภณ
กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาเด็กคลอดก่อนกำหนด ในวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2552
กรมอนามัยจะจัดประชุมวิชาการบุคลากรทางการแพทย์
เรื่องการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารก
เพื่อการดูแลภาวการณ์คลอดก่อนกำหนด ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม.
เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ
ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการดูแลหญิงตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยง
และการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด ตั้งเป้าหมายปี 2552
ลดจำนวนทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม ให้ไม่เกินร้อยละ 7
และทารกแรกเกิดขาดออกซิเจนน้อยกว่าร้อยละ 3
ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดประชุมระดมสมองกุมารแพทย์และสูติแพทย์
เพื่อแก้ปัญหาเด็กน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม ได้ผลสรุปแก้ไข 3
เรื่องได้แก่ แม่วัยรุ่น โภชนาการหญิงตั้งครรภ์
และการฝากครรภ์ที่มีคุณภาพ ด้านนายแพทย์ธีรวัฒน์ กุลทนันท์
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้
อยู่ในโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารก
เพื่อครอบครัวของเด็กและเยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยในวันที่ 1
กรกฎาคม 2552 เวลา 14.00 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์
พระวรชายาฯ จะเสด็จทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม
พร้อมประทานโล่เชิดชูเกียรติและรางวัลบุคลากรทางการแพทย์ดีเด่น 4 รางวัล
ได้แก่ กุมารแพทย์ดีเด่น สูติแพทย์ดีเด่น พยาบาลดีเด่น
และวิชาชีพดีเด่นด้านสูติกรรม
รางวัลโครงการดูแลสตรีตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยงและทารกคลอดก่อนกำหนด จำนวน 6
รางวัล และประทานตู้อบทารกชนิดเคลื่อนย้าย แก่โรงพยาบาลลำพูน นอกจากนี้
ยังมีการปาฐกถาพิเศษเรื่อง "อสม./อสส.
ช่วยป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนดได้อย่างไร" โดย นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี
อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ การอภิปราย
เสวนาทางวิชาการในหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ
การขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาเครือข่ายสุขภาพสำหรับสตรีตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยง
และทารกแรกเกิด ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการพัฒนาระบบดูแลสตรีตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยงและทารก
แรกเกิด ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น...วิกฤตของประเทศ เป็นต้น
และการแสดงนิทรรศการผลการดำเนินงานเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น