++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556

เข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอล ผู้บริโภคต้องเตรียมตัวอย่างไร



เขียนโดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค  


สัญญาณแบบอนาลอก เป็นสัญญาณโทรทัศน์ที่จะหมดยุคภายใน 4-5 ปีนี้ เนื่องจากประเทศไทยเราจะก้าวเข้ามาสู่ยุคโทรทัศน์แบบดิจิตอล ซึ่งผู้บริโภคที่มีความรู้ในเรื่องเทคนิคอย่างค่อนข้างจำกัดนั้น สมควรที่จะต้องหาความรู้พื้นฐาน ตลอดจนการเตรียมการในการที่จะรับสัญญาณแบบใหม่นี้


ความรู้พื้นฐานที่ผู้บริโภคควรมีไว้กับตัวนั้น ผมนำมาจากความรู้ของคณะทำงานในการเตรียมตัวการเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลของเยอรมัน เนื่องจากประเทศเยอรมนีได้ก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลก่อนเราไปล่วงหน้าหลายปี องค์ความรู้ในด้านการเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนผู้ให้บริการ หน่วยงานกำกับดูแล และผู้บริโภค ประเทศเขาสามารถทำได้และทำร่วมกันได้เป็นอย่างดี เราสามารถขอหยิบยืมองค์ความรู้ของเขามาประยุกต์ใช้ในบ้านเราได้ ก็จะทำให้การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเป็นไปได้อย่างราบรื่น และเป็นภาระกับผู้บริโภคได้อย่างน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น

ตอนนี้เรามี คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ครบถ้วนสมบูรณ์แบบแล้ว และเป็นความคาดหวังใหม่ของสังคม โดยเฉพาะในส่วนของผู้บริโภค ที่ไม่ต้องการการถูกเอารัดเอาเปรียบจากภาคธุรกิจเหมือนอย่างในอดีตที่ผ่านมา นอกจากการควบคุมกิจการในด้านนี้แล้ว ภารกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การให้ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นกับผู้บริโภค เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลที่จะเดินเข้ามาหาเราในเร็วๆ นี้


การเตรียมความพร้อมในยุคของทีวีดิจิตอลนั้น สำหรับผู้บริโภคที่มีโทรทัศน์ที่รับสัญญาณผ่านเสาอากาศ ก็ต้องจัดหา อุปกรณ์ตัวแปลงสัญญาณที่เราเรียกว่า Set-Top-Box ที่จะแปลงสัญญาณจากอนาลอกมาเป็นดิจิตอล สำหรับทีวีที่มีจุดเชื่อมต่อเป็นแบบ สการ์ต (Scart) เวลาที่เราเลือกซื้อ Set Top Box นั้น ก็จะต้องพิจารณาดูว่า มีจุดเชื่อมต่อสำหรับ การต่อผ่านแผ่น สการ์ตหรือไม่ดังรูปที่ 1


ถ้าทีวีที่ไม่มีแผ่นสการ์ต แต่มีจุดเชื่อมต่อเป็น coaxial cable ก็ต้องเลือก Set-Top-Box ที่มีตัวรับตัวเสียบดังรูปที่ 2
ในกรณีที่มีการเชื่อมต่อกับเครื่องเล่นดีวีดี หรือแอมปลิฟายเออร์ การเลือกซื้อ Set – Top- Box ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า มีจุดที่สามารถเชื่อมต่อได้ทั้ง แผ่นสการ์ต และจุดเชื่อมต่อแบบโคแอกเซียลดังรูปที่ 3



บทสรุป


ผู้บริโภคต้องเตรียมการสำรวจอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เครื่องเล่นอิเลคทรอนิกส์ ที่มีอยู่แล้วในบ้าน เช่น โทรทัศน์ เครื่องเล่นวีดีโอ เครื่องเล่นดีวีดี และแอมปลิฟายเออร์ ว่า มีจุดเชื่อมต่อกี่จุด และมีจุดเชื่อมต่อเป็นแบบใดแล้ว ผู้บริโภคก็ควรจะเลือกอุปกรณ์ Set Top Box ที่เหมาะสมสามารถที่จะต่อเชื่อมเข้ากับเครื่องเล่นอิเลคทรอนิกส์ ที่มีอยู่แล้ว โดยดูจากจุดเชื่อมต่อของ Set top box ว่าจะมีจุดเชื่อมต่อให้หลายจุดและเพียงพอหรือไม่ ก่อนที่จะพิจารณาต่อในเรื่องคุณภาพของสัญญาณ และราคา


ในส่วนของ กสทช. ควรต้องกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ Set Top Box ที่จะนำมาเสนอขายในท้องตลาด โดยกำหนดให้อุปกรณ์นั้นรองรับกับอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ที่มีอยู่ในครัวเรือนและที่ขายในตลาดบ้านเรา โดยเฉพาะการกำหนดจำนวนและประเภทของจุดเชื่อมต่อขั้นต่ำ ที่จะต้องมีจำนวนเพียงพอ เพื่อให้ผู้บริโภคไม่ต้องรับภาระมากเกินไปในการจัดหาอุปกรณ์เสริมและสายสัญญาณต่างๆ ที่จะต้องใช้ในการรับสัญญาณระบบดิจิตอลที่ได้เริ่มมีการทดลองออกอากาศกันบ้างแล้ว







รูปที่ 1 การเชื่อมต่อระหว่างเสารับสัญญาณและอุปกรณ์ Set Top Box ที่เป็นแบบแผ่นสการ์ต





รูปที่ 2 การเชื่อมต่อระหว่างเสารับสัญญาณและอุปกรณ์ Set Top Box ที่เป็นแบบสายโคแอกเซียล






รูปที่ 3 การเชื่อมต่อระหว่างเสารับสัญญาณและอุปกรณ์ Set Top Box ที่เป็นทั้งแบบสายสการ์ตและสายแบบโคแอกเซียล



แหล่งข้อมูลอ้างอิง
www.ueberallfernsehen.de

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น