++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556

จี้ปล้นและข่มขืน : ภัยสังคมที่อาจเพิ่มขึ้นในปี 56 โดย สามารถ มังสัง




 ในปี 2555 เกือบทุกวันจะมีข่าวอาชญากรรมจี้ปล้น ข่มขืน ไม่ข่าวใดก็ข่าวหนึ่ง หรือในบางวันครบทั้ง 3 ข่าว และทุกครั้งที่มีข่าวทำนองนี้ออกมา ก็มักจะมีมูลเหตุจูงใจให้ผู้กระทำผิดจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
     
        1. ติดยาเสพติด ไม่มีเงินซื้อยาจึงต้องจี้ปล้นเพื่อเอาเงินมาซื้อยา และแทบทุกครั้งถ้าเหยื่อขัดขืนก็จะถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บ และบางรายถึงกับเสียชีวิตเพื่อแลกกับเงินและทรัพย์สินซึ่งมีมูลค่าไม่กี่พันบาท ดังเช่นกรณีของพ่อค้าขายลูกชิ้นปิ้ง เป็นต้น
     
        2. ติดการพนัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพนันฟุตบอล ซึ่งนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายในหมู่เด็กวัยรุ่น
     
        ในทำนองเดียวกันกับยาเสพติด เมื่อติดการพนันและในคราใดเล่นแพ้ไม่มีเงินก็จะออกล่าเหยื่อด้วยการจี้ปล้น และคนที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นหญิง ซึ่งทำงานกลางคืนและกลับบ้านดึก ประกอบกับต้องเดินทางผ่านที่เปลี่ยว เช่น ต้องเข้าซอยลึกและมืด ไม่มีคนสัญจรไปมาบ่อยนัก หรือไม่ก็คนขับแท็กซี่
     
        แต่ถ้าเป็นประเภทหัวสูง และชอบเล่นได้เสียครั้งละมากๆ ก็อาจประกอบอาชญากรรมซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น ปล้นธนาคาร ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น
     
        ไม่ว่าจะจี้ปล้นรายเล็กหรือรายใหญ่ ล้วนแล้วแต่มีเหตุจูงใจประการเดียวคือ ต้องการเงินมาใช้หนี้พนัน
     
        3. นอกจากประเภทหนึ่งและสองแล้ว อาชญากรรมในประเทศไทยในขณะนี้ อาชญากรรมประเภทฆ่าข่มขืนโดยไม่มุ่งทรัพย์สิน และชิงทรัพย์ ข่มขืนแล้วฆ่า
     
        ผู้ประกอบอาชญากรรมประเภทนี้มีมูลเหตุจูงใจหลายประการรวมกัน แต่ส่วนใหญ่จะเน้นข่มขืน ส่วนจะฆ่าหรือไม่ฆ่า ประสงค์ต่อทรัพย์ด้วยหรือไม่เป็นประเด็นรองลงไป
     
        ดังนั้น อาชญากรประเภทนี้มูลเหตุขึ้นอยู่กับความผิดปกติทางด้านจิตใจ หรือเป็นคนปกติแต่ในขณะประกอบความผิดถูกครอบงำหรือถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเสพติด มีตั้งแต่สุราไปจนถึงสารกระตุ้นและสื่อลามกต่างๆ ทำให้ขาดสติความยั้งคิด และกระทำลงไปด้วยอารมณ์ชั่ววูบ ดังกรณีที่วัยรุ่นฆ่าสาวใหญ่และจุดไฟเผา เป็นต้น
     
        4. ความยากจนและต้องการเงินมาเลี้ยงปากท้องเพื่อบรรเทาความหิวโหย อาชญากรประเภทนี้เรียกได้ว่า อาชญากรจำเป็น มิใช่ผู้ร้ายโดยสันดาน ถ้าวันใดปากท้องอิ่มด้วยรายได้บริสุทธิ์อันเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของตนเองได้ก็จะเลิกเป็นอาชญากรได้ ซึ่งผิดกับ 3 ประเภทแรก ถึงแม้ปากท้องจะอิ่ม ถ้ายังไม่เลิกเหตุอันเป็นสิ่งจูงใจให้กระทำผิดได้ ก็จะยังคงเป็นอาชญากรเข้าคุกออกคุกเหมือนไม่มีอะไรผิดปกติในชีวิตพวกเขา
     
        ทำไมจึงบอกว่าอาชญากรรมประเภทจี้ปล้นและฆ่าข่มขืนจะมากขึ้นในปี 2556 ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วอาชญากรรมประเภทนี้เกิดขึ้นและมีเป็นอยู่ในสังคมมนุษย์มานานแล้ว จะเห็นได้จากการที่ทุกศาสนามีข้อห้ามเกี่ยวกับเรื่องที่ว่านี้
     
        เพื่อให้มองเห็นภาพรวมของอาชญากรรม 3 ประเภทดังกล่าวในอดีตที่ผ่านมา และเป็นพื้นฐานการวิเคราะห์ว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน และด้วยเหตุอันใด ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านได้รู้เกี่ยวกับสถิติเกิดอาชญากรรม และผลของการปราบปราม ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้นำมาเปิดเผยและกลายเป็นข่าวหน้า 1 ของสื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับดังต่อไปนี้
     
        ในรอบ 11 เดือนของปี 2555 เทียบกับปี 2554 ห้วงเวลาเดียวกัน พบว่ากลุ่มคดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีเกี่ยวกับประทุษร้ายต่อร่างกายและเพศ คดีฆ่าผู้อื่น และคดีลักทรัพย์ ซึ่งสรุปได้ดังนี้
     
        1. คดีประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย และเพศได้รับแจ้ง 23,324 คดี จับกุม 10,376 คดี เทียบกับปี 2554 ได้รับแจ้ง 23,488 คดี จับกุม 8,388 คดี ลดลง 146 คดี
     
        2. คดีฆ่าผู้อื่น 3,045 คดี จับกุม 164 คดี เปรียบเทียบกับปี 2554 ลดลง 24 คดี
     
        3. คดีลักทรัพย์จับกุมมากที่สุด 8,275 คดี และชลบุรีเป็นพื้นที่ที่เกิดคดีมากที่สุด”
     
        จากตัวอย่างคร่าวๆ ข้างบนดังกล่าว จะเห็นว่าในแต่ละปีมีคดีเกิดขึ้นเป็นอันมาก และการจับกุมก็สามารถดำเนินการได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2554
     
        แต่เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ บอกเพียงการจับกุมแต่ไม่ลงรายละเอียดถึงกระบวนการเอาผิดว่ามีผลเป็นอย่างไร เป็นต้นว่า มีหลักฐานพอฟ้องกี่ราย และฟ้องแล้วยกฟ้องกี่ราย และเหลือกี่รายที่ได้รับโทษตามกฎหมาย
     
        ดังนั้น การแถลงผลงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในครั้งนี้ถือได้ว่ายังไม่สมบูรณ์พอที่จะบอกได้ว่าเป็นผล เพราะในความเป็นจริงมีอยู่ไม่น้อยที่ตำรวจจับแพะ และต้องปล่อยไปในชั้นอัยการและศาล เนื่องจากมีพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
     
        ด้วยเหตุนี้ ในปี 2556 ถ้าจะให้ประชาชนเชื่อถือ และศรัทธาในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องป้องกันมิให้เกิดอาชญากรรม หรือเกิดแล้วจะต้องรีบดำเนินการจับกุมมาลงโทษให้เร็วที่สุด และจะต้องไม่เป็นแพะรับบาปด้วย
     
        แต่การจะทำได้ถึงขั้นนี้ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องมีข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับประชากรในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองท่องเที่ยว เช่น พัทยา และภูเก็ต เป็นต้น และการจะมีข้อมูลละเอียดในทำนองนี้ได้ จะต้องทำการสำรวจประชากรในทุกพื้นที่ และจัดทำบัญชีประชากรโดยแบ่งตามคุณสมบัติ 3 ประการเป็นอย่างน้อย คือ
     
        1. สถานภาพในครอบครัว เริ่มตั้งแต่รายได้ การศึกษา และพฤติกรรมระหว่างสมาชิกในครอบครัว
     
        2. การศึกษา และอาชีพหลักที่แต่ละคนในครอบครัวมีอยู่ และเป็นอยู่มากน้อยเป็นอย่างไร เพื่อจะได้นำมาศึกษาหาแนวโน้มในการจะเป็นอาชญากรมากหรือน้อยเพียงไร
     
        3. พฤติกรรมที่ล่อแหลมต่อการเป็นอาชญากร เช่น ติดยาเสพติด และติดการพนัน เป็นต้น
     
        เมื่อมีข้อมูล 3 ประการนี้แล้วก็เชื่อได้ว่าจะเป็นการง่ายต่อการสืบหาตัวผู้กระทำผิด โดยเบื้องต้นมุ่งไปที่บุคคลในสังคมซึ่งมีแนวโน้มการเป็นอาชญากรก่อน และเมื่อไม่พบก็ขยายวงออกไป
     
        เพียงแค่นี้ก็เชื่อว่าคงจะทำให้การควบคุมและปราบปรามทำได้ง่ายขึ้น
     
        ส่วนประเด็นว่าในปี 2556 จะเกิดอาชญากรรมประเภทที่ว่ามามากหรือน้อยเมื่อเทียบกับปี 2555 บอกได้เลยว่ามากกว่าแน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจอันเป็นเหตุจูงใจให้คนทำผิดมากขึ้น ซึ่งโดยสรุปมีอยู่ใน 2 ประเด็นหลัก คือ
     
        1. ปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจถดถอย และชะลอการขยายตัวอันเนื่องมาจากการขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ และผู้ประกอบการเลิกกิจการหรือย้ายฐานการผลิต
     
        2. ปัญหาการครอบงำของวัตถุนิยมที่เพิ่มมากขึ้น และทำให้ผู้คนในสังคมเป็นทาสวัตถุ และไล่ล่าความต้องการเพิ่มขึ้นจึงต้องกลายเป็นอาชญากร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น