++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556

6 กระบวนทัศน์สำหรับผู้บริหาร


6 กระบวนทัศน์สำหรับผู้บริหาร
การเป็นผู้บริหารนั้น ต้องมีตัวชี้วัดว่าเราคือผู้บริหารที่ “ใช่”หรือ “ไม่ใช่” ทั้งในความคิดของเราเองและในสายตาของผู้อื่น และต่อไปนี้คือ 6 กระบวนทัศน์สำหรับผู้บริหารที่จะชี้ขาดว่าเราเป็นผู้บริหารที่ “ใช่”หรือไม่
กระบวนทัศน์ที่ 1 บริหารเป้าหมาย หรือบริหารกระบวนการ
สำหรับผู้บริหาร การหาคำตอบในเรื่องนี้ให้ได้เป็นเรื่องสำคัญมาก และคำตอบที่ได้จะเป็นตัวบอกเราว่าองค์กรของเราจะไปถึงจุดหมายปลายทางหรือไม่ หากเปรียบองค์การเป็นเรือพายลำหนึ่งทุกคนที่นั่งอยู่ในเรือต่างก็ช่วยกันพายอย่างเต็มที่ในที่นี้กระบวนการคือทุกคนล้วนช่วยกันทำงานคนละไม้คนละมือ แต่ถ้าไม่มีการเซตเป้าหมายไว้การลงแรงพายเรือนั้นก็สูญเปล่า ต่อให้พายทั้งวันทั้งคืน ก็วนอยู่แต่ตรงนั้น เพราะไม่ได้กำหนดว่าจะพายไปไหน ดังนั้นการบริหารกระบวนการจำเป็นต้องบริหารเป้าหมายเป็นองค์ประกอบด้วยกระบวนการจึงจะสัมฤทธิผล หากทำงานหนักแต่ปราศจากผลลัพธ์ อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในองค์กรได้ เพราะเมื่อเรือไปไม่ถึงไหน คนบนเรือก็จะหา “แพะ” ว่าใครเป็นผู้ทำให้เรือไปไม่ถึงไหนเสียที เมื่อคนบนเรือกล่าวโทษกันไปมา ย่อมนำไปสู่ความขัดแย้ง สุดท้ายเรือก็อับปาง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ระบบราชการไทยที่มัวแต่ทะเลาะกันที่กระบวนการ ทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมาย กลายเป็นว่าทำให้กระบวนการกลายเป็นอุปสรรคของเป้าหมายโดยไม่รู้ตัว
กระบวนทัศน์ที่ 2 บริหารโดยคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงหรือบริหารด้วยความเคยชิน
องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า “ทุกอย่างในโลกล้วนอนิจจัง” ดังนั้นผู้บริหารต้องคำนึงการเปลี่ยนแปลง มิใช่ทำตามความเคยชินเคยทำมาอย่างไรก็ทำต่อไปอย่างนั้น
ผู้บริหารต้องรู้ร้อนรู้หนาวต่อความเปลี่ยนแปลงและบริหารให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง ไม่เช่นนั้นองค์กรก็อยู่ไม่ได้ เช่น ไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์ก็เพราะอยู่แต่กับสิ่งเดิม ไม่รู้จักปรับตัวให้สอดรับกับโลก และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อะไรที่สามารถปรับได้ เปลี่ยนได้ ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบท เช่น ฝนตกก็ต้องกางร่ม แต่เมื่อฝนหยุดตกก็ต้องเก็บร่ม เป็นต้น
อนึ่ง เราจะอยู่กับความเปลี่ยนแปลงได้เราก็ต้องมองให้ทะลุว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ไม่เพียงมองตัวเองแต่ต้องมองไปให้รอบ 360 องศาแล้วยอมรับและปรับตัวอย่างที่ควรจะเป็น
กระบวนทัศน์ที่ 3 บริหารด้วยแรงบันดาลใจหรือบริหารตามหน้าที่
การบริหารตามหน้าที่ไม่ได้ยากเย็นอะไรเพียงแค่มองดูว่าผู้บริหารคนก่อนหน้าทำเอาไว้อย่างไร ก็ทำตามไปอย่างนั้น แต่การบริหารด้วยแรงบันดาลใจคือการทำอะไรที่ต่างจากคนอื่น ไม่จำเป็นต้องเลิศวิเศษ แต่เปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจที่จะทำเพื่ออะไรสักอย่าง การบริหารนั้นไม่ใช่เพียงแค่บริหารให้หมดวาระไปแต่ต้องบริหารให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้
ข้อแตกต่างระหว่างการทำด้วยแรงบันดาลใจกับการทำตามหน้าที่ คือ การทำด้วยแรงบันดาลใจจะพิเศษ และมีคุณค่ามากกว่า เช่น พ่อไม่สูบบุหรี่ให้ลูกเห็น อย่างนี้เรียกว่าหน้าที่ แต่พ่อที่เลิกสูบบุหรี่เพื่อลูก นี่แหละคือแรงบันดาลใจ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรัสไว้ในวันขึ้นครองราชย์ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และพระองค์ท่านไม่เคยออกจากแนวทางนี้ ทรงเป็นพระราชาที่ครองแผ่นดินด้วยแรงบันดาลใจอันวิเศษยิ่ง หากใครเคยเข้าไปเยี่ยมชม “หอแห่งแรงบันดาลใจของราชสกุลมหิดล” ที่โครงการพัฒนาดอยตุง จังหวัดเชียงราย ก็จะเห็นภาพแรงบันดาลใจของ “ราชสกุลมหิดล” อันเปรียบประดุจหยดน้ำที่หยาดหยดลงบนผืนแผ่นดิน ยังความฉ่ำเย็นแก่หมู่ชนทั่วหล้า เป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ที่กลายเป็นน้ำพระทัยอันใหญ่ยิ่งและทรงคุณูปการอย่างหาที่สุดมิได้ต่อพสกนิกรชาวไทย ซึ่งแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่นี้ เราเองก็สามารถสร้างได้ มีได้และทำได้เช่นเดียวกัน
กระบวนทัศน์ที่ 4 บริหารด้วยปัจจัยภายในหรือปัจจัยภายนอก
เราจะบริหารโดยใช้ปัจจัยภายใน หรือปัจจัยภายนอกเป็นหลัก หากบริหารโดยใช้ปัจจัยภายนอก ดีชั่วก็ขึ้นอยู่กับฟ้าดินเป็นตัวชี้ ไม่ต่างอะไรกับคนที่เกิดความทุกข์ เพราะถูกผู้อื่นตัดสิน แต่หากบริหารโดยใช้ปัจจัยภายใน เราจะสุขหรือทุกข์ก็ด้วยหนึ่งสมองและสองมือของเราเอง ไม่ใช่ด้วยคำตัดสินของคนอื่นหากเราสามารถกำหนดตัวเองได้เช่นนี้ ฝนกี่ห่า คลื่นกี่ลูก ก็ไม่อาจทำให้เราสะดุ้งสะเทือนได้
กระบวนทัศน์ที่ 5 บริหารโดยใช้ Bench mark หรือ By Mark
Bench mark คือ การแสวงหาตัวอย่างวิธีปฏิบัติงานที่ดีกว่าเดิม ด้วยการค้นหาจุดเด่นจุดด้อยของเรา โดยใช้วิธีเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นๆที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า หรือองค์กรที่เป็นผู้นำจากนั้นนำข้อมูลที่วิเคราะห์ได้มาผลักดันให้เกิดผลการปฏิบัติงานที่ดี และปรับปรุงองค์กรของเราให้ดียิ่งขึ้น Bench mark จึงมิใช่การลอกเลียนแบบ แต่คือการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ด้วยการเทียบเคียงแล้วต่อยอดไปพร้อมๆกับ By Mark คือ การสร้างสรรค์ด้วยตนเอง
ในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคแห่งการเรียนลัด ไม่มีเหตุผลใดที่เราจะต้องไปหักร้างถางพง หรือเดินไปบนทางรกร้างที่เต็มไปด้วยขวากหนาม ในเมื่อมีทางที่คนอื่นแผ้วถางเอาไว้แล้ว
กระบวนทัศน์ที่ 6 บริหารอนาคตหรือบริหารปัจจุบัน
การบริหารปัจจุบันนั้น หากผู้บริหารเห็นว่าองค์กรอยู่ได้ สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างสรรค์อะไรเพิ่มเติม นอกจากคงสภาพเดิมเอาไว้ เปรียบเสมือนนักมวยที่ชกเพียงประคองตัวให้เสียงระฆังหมดยกดังขึ้นเท่านั้น
แต่การบริหารอนาคต คือ การไม่หลงใหลได้ปลื้มกับวันนี้ ไม่ประมาท ตื่นตัว วางรากฐานให้องค์กร สร้างอนาคต และโอกาสใหม่ๆ ให้กับองค์กรอยู่ตลอดเวลา เปรียบเสมือนนักฟุตบอลอาชีพที่เมื่อลงสนามแล้วต้องทุ่มเทอย่างเต็มที่วิ่งตามลูกฟุตบอล และไล่ล่าประตูไปจนวินาทีสุดท้าย จนกว่าจะได้ยินเสียงกรรมการเป่านกหวีดหมดเวลา
ผู้บริหารที่บริหารอนาคตจึงต้องเตรียมการสำหรับอนาคต และเซตค่าให้สูงเอาไว้ก่อน จะทำได้จริงหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากเป็นไปได้ตามค่าที่เซตไว้ เราก็สามารถอยู่กับมันได้อย่างลงตัว แต่ถ้าไม่เป็นไปตามนั้น เราก็สามารถอยู่ได้อย่างเหนือกว่า เพราะเราเตรียมความพร้อมในอนาคตเอาไว้อย่างรอบด้านแล้ว
เมื่อได้สำรวจตัวเองผ่านกระบวนทัศน์ทั้ง 6 แล้วคุณคิดว่าตัวคุณเป็นผู้บริหารที่ “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น