++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556

ประเทศไทยในกระแสการปฏิรูปแบบมีส่วนร่วม โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ





   กระแสการปฏิรูปประเทศไทยเป็นปัจจัยที่สืบเนื่องมาจากการเรียกร้องต้องการของประชาชนและการวิเคราะห์สภาพการณ์ปัจจุบันของสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมเป็นที่ตั้ง แต่ทว่าก็ว่าเถอะ ‘พลังของประชาชน’ ในการเปลี่ยนประเทศไทยให้มีความเป็นธรรม เท่าเทียม และเสมอภาคก็กลับก่อวิกฤตในตัวเองทั้งด้านความเชื่อมั่นในศักยภาพตนเอง การกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธิวิธีต่อสู้ การระดมทรัพยากรและคนเข้าร่วม ไปจนถึงการกลัวเกรงอำนาจเถื่อนและฎหมายที่มักมอบความสูญเสียมาให้
     
       อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศไทยไม่มีทางถอยกลับไปสู่จุดดั้งเดิมที่ประชาชนจำนนกับอำนาจนอกระบบและสยบยอมกับความอยุติธรรมที่กำหนดผ่านมาทางกฎหมายและนโยบาย ในสภาวการณ์ซึ่ง ‘ความตาย’ ก็ไม่อาจหยุดยั้งความปรารถนาของประชาชนในการปลดแอกพันธนาการความอยุติธรรมและเหลื่อมล้ำนั้นสิ่งสำคัญหนึ่งซึ่งต้องทำควบคู่กันไปกับการปรับโครงสร้างทางการเมืองให้เปิดกว้างกับการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอนก็คือการบริหารจัดการการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ต้องผสานทั้ง ‘ศาสตร์’ และ ‘ศิลป์’ เข้าด้วยกันอย่างแนบแน่น โดยเฉพาะการผนึกความรู้และหลักการเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ ริเริ่ม และยืดหยุ่นตามสถานการณ์ ที่จะเป็นปัจจัยและเงื่อนไขในการได้มาซึ่ง ‘มติ’ หรือข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับทิศทางประเทศไทยในอนาคต
     
       ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างพื้นที่หรือเวทีสาธารณะในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความเข้าใจร่วมกันในกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) ที่อย่างน้อยสุดต้องประกอบด้วยภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ อันจะเป็นหลักประกันเบื้องต้นในการบรรลุเป้าหมายปฏิรูปประเทศไทยที่มีทิศทางเดียวกันได้ ไม่ให้ขัดแย้งกันเกินจะผสานความร่วมมือ การเข้าใจในความหลากหลายทางทัศนะและอุดมการณ์ที่แสดงออกมาทางพฤติกรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมนั้นจะเป็นกลไกควบคุมจากภายในให้ไม่ต้องมีความขัดแย้งหนักหน่วงตามมาเมื่อต้องปฏิบัติการจริงในระดับของข้อกฎหมายหรือแนวนโยบายสาธารณะ หรือกระทั่งไม่ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรไปกับการติดตามมติปฏิรูปประเทศไทยที่อาจไม่มีผลทางปฏิบัติมากนักเนื่องจากหน่วยงานรัฐไม่ใคร่ให้ความสำคัญ หรือต่อต้าน คัดค้าน ไม่เห็นด้วยตั้งแต่ตอนกำหนดมติแล้ว
     
       กระบวนการมีส่วนร่วมที่เปิดกว้างไม่เพียงทำให้มติปฏิรูปประเทศไทยไปถึงจุดหมายภายในระยะเวลาอันสั้นอย่างมีประสิทธิภาพจากการเข้าใจในประเด็นเนื้อหาเดียวกันเท่านั้น หากยังทำให้เวทีสาธารณะนั้นๆ พัฒนามาเป็นเวทีแห่งการเรียนรู้ (learning assembly) ได้ด้วย โดยคนเข้าร่วมจะได้เรียนรู้ปัญหาและวิกฤตที่เกี่ยวเนื่องกับความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในระดับโครงสร้าง วิคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ ก่อนจะพัฒนาร่วมกันเป็น ‘มติปฏิรูปประเทศไทยให้มีความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม’ ที่มีขีดความสามารถในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทยได้
     
       ผลลัพธ์ (outcome) ที่ได้จากการบริหารจัดการเวทีให้เปิดกว้างกับการมีส่วนร่วมและเรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ นอกจากจะทำให้ได้พัฒนาทั้งงานและคน (capacity building) ไปพร้อมๆ กันแล้ว ยังสร้างแรงจูงใจในการจะลงมือปฏิบัติการตามมติร่วมกันเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะจากหน่วยงานรัฐที่เคยถูกวิพากษ์จากประชาชนว่าไม่ทำงานเพื่อประชาชน
     
       ดังนั้น การสร้างและพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมจะเป็นกลไกหลักของการจูงใจให้ประชาชน ตลอดจนหน่วยงานรัฐและองค์กรเอกชนเข้าร่วม นอกเหนือไปจากการสร้างสายสัมพันธ์ฉัน ‘กัลยาณมิตร’ ระหว่างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับวิกฤตสังคมไทยที่ยากจะหลีกเลี่ยงการถกเถียงถกแถลงที่จะเกิดขึ้นได้ในเมื่อต่างมีผลประโยชน์ ชุดข้อมูล หลักการ และโลกทรรศน์ ที่ยึดถือเชื่อมั่นไม่เหมือนกัน
     
       การจะบรรลุเป้าหมายปฏิรูปประเทศไทยให้หลุดพ้นหลุมดำแห่งความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมคือการพัฒนาเวทีสาธารณะให้สามารถเปิดช่อง ‘ความเป็นไปได้’ ที่จะทำให้มติซึ่งเกิดจากฉันทามติร่วม (consensus) ได้กลายเป็นกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ หรือกระทั่งศีลธรรมร่วมสำหรับสังคมส่วนรวมได้ยึดมั่นเชื่อถือท่ามกลางความเป็นสังคมพหุนิยม (pluralism) ที่มีความหลากหลายทางความคิดความเชื่อ
     
       กล่าวอีกนัยหนึ่งเป้าหมายของการบริหารจัดการเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่ความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมคือการพัฒนากระบวนการเชื่อมร้อยประโยชน์ของประชาชนโดยรวมเข้ากับประโยชน์ของแต่ละปัจเจก ถึงแม้ว่าประโยชน์ของประชาชนมักจะขัดแย้งกับประโยชน์ของปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำ (elites) แต่ทว่าถ้าประชาชนหมายถึงคนส่วนใหญ่ในประเทศแล้วประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ย่อมเกิดขึ้นได้ในเมื่อสังคมโดยรวมมีความเป็นธรรม เท่าเทียม และเสมอภาค และเปิดโอกาสกับการพัฒนาศักยภาพของแต่ละคนเป็นสำคัญอันเป็นแนวทางหลักของการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตย
     
       ในขณะเดียวกันก็มีกลไกที่เข้มแข็งในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรสังคม ทรัพยากรเศรษฐกิจ และทรัพยากรการเมือง ที่จะเป็นฟันเฟืองหรือกลจักรในการขับเคลื่อนความปรารถนาของประชาชนที่หลากหลายได้ทำงานภายใต้ผลประโยชน์ที่ขัดกันหรือแตกต่างกันของผู้คน
     
       ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าที่สุดแล้วการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะของประชาชนจะไม่ได้ในสิ่งที่ผลักดันขับเคลื่อน ‘100%’ เพราะเป้าหมายที่วาดหวังไว้ไม่ได้ง่ายดายเหมือนภาคธุรกิจที่มีผลกำไรสูงสุด (maximum profit) ขององค์กรเป็นเป้าหมายสูงสุดในการบริหารจัดการ หากแต่กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงของทุกภาคส่วนที่ร่วมกันผลักดันเป้าหมายที่เป็น ‘ผลประโยชน์ของส่วนรวม’ จะทำให้สามารถก้าวข้ามความแตกต่างทางความคิดความเชื่อซึ่งยากจะทอนลดลงได้ในสถานการณ์ปกติด้วยกระบวนการฉันทามติหรือกระทั่งเสียงข้างมากของประชาชน เช่น กรณีที่ดินที่ปัจจุบัน ‘กระจุกตัว’ อยู่ในกลุ่มกุมอำนาจทางการเมืองและทุนจนคนส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและทำมาหากินจะเปลี่ยนสถานภาพมาเป็น ‘กระจายตัว’ ได้ ถ้าประชาชนได้เข้ามาร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะ และร่วมกันผลักดันความปรารถนานั้นผ่านช่องทางและกระบวนการนิติบัญญัติทางสังคมเพื่อกำหนดเป็นมาตรการกฎหมายที่บังคับใช้อย่างเสมอหน้ากัน (everyone equal before the law) อันเป็นหลักการสำคัญของการเป็นนิติรัฐ
     
       เหมือนดังการพยายามผลักดันหลักการให้ที่ดินเป็นสมบัติของชาติที่พึงจัดการภายใต้หลักการการเป็นเจ้าของร่วมระหว่างรัฐ องค์กรชุมชนสาธารณะ และปัจเจกบุคคล และหลักการการเคารพสิทธิของประชาชนและของชุมชนในการมีส่วนร่วมกับรัฐเพื่อกำหนดกลไกในการเข้าถึง การใช้ประโยชน์ การอนุรักษ์ การบำรุงรักษา และการได้รับประโยชน์จากที่ดินของเวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ที่ปรากฏเป็นรูปธรรมผ่านการขับเคลื่อนโฉนดชุมชนและการต่อรองกับรัฐให้ชะลอการจับกุมประชาชนกรณีมีข้อพิพาทบุกรุกที่ดินรัฐ
     
       พลังประชาชนจึงเป็นพลังทางการเมืองและสังคมที่นำไปสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะ (public policy) ที่สามารถกำหนดวาระทางการเมือง (policy agenda) และวาระสื่อ (media agenda) ได้ ถ้าเพียงประชาชนตื่นตัวเข้าร่วมขบวนปฏิรูปประเทศไทยให้มีมิติเคลื่อนไหวกว้างขวางกว่าการเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปบริหารชาติบ้านเมืองด้วยนโยบายประชานิยม แต่เป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนความปรารถนาฉันทามติที่อยู่บนพื้นฐานและหลักการเสรีประชาธิปไตยที่มีเป้าหมายท้ายสุดที่ต้องการจะบรรลุเป็น ‘การสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย’

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น