++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เลือกพรรคไหนก็แพ้เพื่อไทย ร่วมกา “โหวตโน” หยุดสร้างความชอบธรรมให้ทักษิณ! โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งกลเม็ดของนักการเมืองทั้งหลายต่างนำมาใช้ในการเลือกตั้งกันอย่างเข้มข้นและเต็มที่

การซื้อสิทธิขายเสียงยังคงดำเนินกันต่อไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงก็คือ พรรคที่คาดว่าจะได้รับเลือกตั้งมากที่สุดครั้งนี้คือพรรคเพื่อไทย

การได้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นหัวหน้าพรรคจึงเสมือนเป็นตัวเลือกที่หลักแหลมและเจ้าเล่ห์ของทักษิณ เพราะด้านหนึ่งความเป็นผู้หญิงที่เรียกคะแนนสงสารได้ง่ายควบคู่ไปกับความรู้สึกของคนไทยที่ชอบลองของใหม่ อีกด้านหนึ่งยิ่งลักษณ์คือคนที่นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร มีความไว้วางใจมากที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย

ในที่สุดผลสำรวจของทุกสำนักโพลต่างระบุตรงกันว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 โดยมีพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นอันดับที่ 2 เหลืออยู่แต่เพียงว่าพรรคเพื่อไทยจะได้มีคะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่เท่านั้น ซึ่งผลสำรวจทั้งหมดไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่ประการใด

เพราะนับตั้งแต่มีพรรคของทักษิณขึ้นมา ไม่ว่าพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน หรือพรรคเพื่อไทย ที่ครองเสียงข้างมากเกือบทั้งหมดในภาคอีสานและภาคเหนือนั้นก็คือเสียงส่วนใหญ่ของคนในประเทศนี้ พรรคประชาธิปัตย์จึงไม่มีทางที่จะชนะพรรคเพื่อไทยไปได้เลย

การเลือกตั้งในปี 2544 พรรคไทยรักไทยได้ ส.ส.ทั้งสิ้น 248 คนจาก ส.ส.ทั้งหมด 500 คน (ได้คะแนนเสียงในระบบบัญชีรายชื่อ 11,634,495 เสียง) ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.ทั้งสิ้น 128 คน (ได้คะแนนเสียงในระบบบัญชีรายชื่อ 7,610,780 เสียง)

การเลือกตั้งในปี 2548 พรรคไทยรักไทยได้ ส.ส.ทั้งสิ้น 375 คน (ได้คะแนนเสียงในระบบบัญชีรายชื่อ 14,077,711 เสียง) ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.ลดลงเหลือเพียง 96 คน (ได้คะแนนเสียงในระบบบัญชีรายชื่อลดลงเหลือ 4,018,286 เสียง)

การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะโดยที่พรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กมาลงสมัครรับเลือกตั้งหลังจากพรรคการเมืองอื่นๆ ในสภาผู้แทนราษฎรไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ปรากฏว่าพรรคไทยรักไทยได้ ส.ส.จำนวน 460 คน (โดยมีคะแนนระบบบัญชีรายชื่อจำนวน 16,246,368 เสียง) ในขณะที่มีประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแต่กากบาทลงในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนในระบบเขตรวม 9,207,230 เสียง และไม่ประสงค์จะลงคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อจำนวน 8,399,144 เสียง แม้จะมีการเลือกตั้งใหม่แต่ก็ถูกรัฐประหารไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

การเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังมีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยส่วนใหญ่ลงคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์ เป็นช่วงเวลาที่มีการยุบพรรคไทยรักไทยไปแล้ว มีการแยกสลายขั้วพรรคไทยรักไทยเดิมแตกออกเป็นหลายพรรค เป็นช่วงเวลาที่คณะรัฐประหารยังมีอิทธิพลต่อกองทัพอย่างเต็มที่ในระหว่างการเลือกตั้ง ผลปรากฏว่าพรรคพลังประชาชนได้ ส.ส.233 คน (มีคะแนนเสียงในระบบสัดส่วนรวมกันทั่วประเทศ 12,331,381 เสียง) ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.165 คน (มีคะแนนเสียงในระบบสัดส่วนรวมกันทั่วประเทศ 12,138,960 เสียง) ซึ่งหมายความว่าแม้ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์จะใกล้เคียงกับพรรคพลังประชาชน แต่ ส.ส.เขตพรรคพลังประชาชนมีแต้มเหนือกว่าพรรคประชาธิปัตย์อยู่จำนวนมาก

หลักฐานที่แสดงทั้งหมดเพื่อยืนยันให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยชนะพรรคของระบอบทักษิณได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่ว่าจะได้แรงหนุนจากหลายฝ่ายอย่างมากที่สุดในการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 แล้วก็ตาม

ปี 2551 ถือเป็นปีที่คนเสื้อแดงเจริญเติบโตมากที่สุด เพราะทีวีคนเสื้อแดงได้ย้ายมาอยู่ในฟรีทีวีช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ทำให้เกิดการโฆษณาชวนเชื่อไปอย่างกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และเป็นจุดเริ่มต้นของรายการ “ความจริงวันนี้” ที่ทำให้สามเกลอหัวขวดยึด นปช.ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือกว่าแกนนำแดงทุกกลุ่ม แต่พรรคพลังประชาชนต้องถูกยุบพรรค เพราะมีภาคประชาชนอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เอาตัวเข้าแลกเพื่อขัดขวางไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหลบคดียุบพรรคและฟอกความผิดให้กับทักษิณได้สำเร็จ

การจัดตั้งรัฐบาลในกองทัพ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งในรอบ 8 ปี โดยดึงพรรคภูมิใจไทยที่แยกตัวออกมาจากทักษิณด้วยผลตอบแทนเก้าอี้รัฐมนตรีที่มากกว่าสัดส่วนของพรรคการเมืองอื่น ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาคือด้านหนึ่งกลุ่มคนเสื้อแดงลุกขึ้นมาต่อต้านแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลจนถึงขั้นใช้อาวุธสงครามเผาบ้านเผาเมือง ในขณะอีกด้านหนึ่งนอกจากรัฐบาลจะอ่อนแอปล่อยให้มีการเผาบ้านเผาเมืองและปล่อยประกันตัวคนเผาบ้านเผาเมืองแล้ว รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยังเต็มไปด้วยปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน บริหารงานด้อยประสิทธิภาพ และถลำลึกจนล้มเหลวในการทวงคืนแผ่นดินไทยจากการรุกรานของกัมพูชา

นอกจากความอ่อนแอของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ยังคงอยู่ในวังวนของการเมืองที่ล้มเหลวแล้ว ในอีกด้านหนึ่งคือคนเสื้อแดงมีการตั้งโรงเรียน นปช.เกิดขึ้นในหลายจังหวัดเป็นจำนวนมาก มีการทุ่มทุนแจกจานดาวเทียมที่ดูทีวีของคนเสื้อแดงกระจายไปทุกพื้นที่เลือกตั้ง มีการเกิดขึ้นของวิทยุชุมชนคนเสื้อแดงจำนวนมหาศาล ในขณะที่รัฐบาลอ่อนแอไม่สามารถจะเป็นคู่ต่อกรรับมือกับการโฆษณาชวนเชื่อของคนเสื้อแดงได้เลยแม้แต่น้อย

แต่ที่ต้องถือว่าอำมหิตที่สุดก็คือ การหนีเอาตัวรอดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยการยุบสภาทิ้งปัญหาให้กับบ้านเมืองต้องเผชิญหน้ากับการกลับมาของระบอบทักษิณ โดยไม่ได้สร้างความหวังให้กับประชาชนในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน หรือปฏิรูปการเมืองเสียก่อนที่จะมีการยุบสภา การยุบสภาเช่นนี้จึงไม่ต่างจากการประเคนชัยชนะการเลือกตั้งให้แก่พรรคเพื่อไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

ด้วยปัจจัยดังที่กล่าวมาข้างต้นก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า ไม่มีปัจจัยบวกที่จะบ่งบอกได้เลยว่าจะมีพรรคการเมืองไหนที่ชนะพรรคเพื่อไทยได้ และดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับกันหมดแล้วว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะทุกพรรคการเมืองมาเป็นอันดับ 1 (เหมือนเคย) ค่อนข้างแน่นอนแล้ว

เมื่อค่อนข้างชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยจะมี ส.ส.มากเป็นอันดับที่ 1 หากเกินครึ่งหนึ่งพรรคเพื่อไทยก็จะเป็นรัฐบาลแน่นอน แต่หากไม่ถึงครึ่งหนึ่งแนวโน้มพรรคที่เคยร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ดูจะเริ่มตีตัวออกห่าง เพราะเป็นจังหวะต่อรองตำแหน่งและอำนาจในการเข้าร่วมรัฐบาลชุดหน้า

ดังนั้น หากอำนาจต่อรองกลับมาอยู่พรรคการเมืองขั้วที่ 3 เมื่อไหร่ หากผู้นำขั้วที่ 3 ไม่ได้เห็นแก่บ้านเมืองมุ่งหน้าทำมาหากิน ก็จะเกิดการปล้นชาติโกงแผ่นดิน (เหมือนเคย) ไม่ว่าจะได้ใครมาเป็นรัฐบาลก็ตาม

ในทางตรงกันข้าม หากพรรคประชาธิปัตย์ที่จะมีคะแนนมาเป็นอันดับที่สองฝืนกระแสพรรคเพื่อไทย โดยการจัดตั้งรัฐบาลและรวมเสียงพรรคร่วมรัฐบาลได้ นอกจากจะมีแต่เดินหน้าทุจริตคอร์รัปชัน (เหมือนเดิม) แล้ว ก็ยังจะต้องเผชิญหน้ากับคนเสื้อแดงและการเผาบ้านเผาเมืองอีกไม่รู้กี่ระลอก และรัฐบาลประชาธิปัตย์ชุดหน้าก็ไม่รู้ว่าจะปล่อยให้เผาบ้านเผาเมืองหรือปล่อยประกันตัวคนเผาบ้านเผาเมืองจนประชาชนพินาศฉิบหายไปอีกกี่ปี?

ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลในสภาพเช่นนี้ก็มีแต่จะทำร้ายประเทศชาติทั้งสิ้น และมีโอกาสสูงอย่างยิ่งที่อาจจะมีการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตระหว่างคนไทยด้วยกันเอง เพราะถึงเวลานั้นคงไม่มีใครยอมใคร เพราะด้านหนึ่งเพื่อไทยมาก็นิรโทษกรรมทักษิณประชาชนก็ต้องออกมาต่อต้าน พรรคประชาธิปัตย์ชิงเสียงพรรคร่วมรัฐบาลกลับมาได้ก็ต้องเผชิญหน้ากับคนเสื้อแดงและการเผาบ้านเมืองต่อไปอีก

แต่ดูแนวโน้มแล้วหากพรรคเพื่อไทยชนะมาเป็นอันดับที่ 1 และมีเสียงเกินครึ่งก็จะได้มาเป็นรัฐบาล หากประชาชนไม่สนใจโหวตโน (ไปใช้สิทธิเลือกตั้งแต่กากบาทลงในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน) และทุกคนเข้าไปในคูหาเลือกพรรคของตัวเองให้ไปแพ้พรรคเพื่อไทยในสภา ก็ยิ่งเท่ากับเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับชัยชนะของทักษิณที่จะอาศัยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรในการยกมือแก้ไขกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมให้กับตัวเองและพวกพ้อง ทำลายขื่อแปของระบบหลักนิติรัฐ หรือแก้ไขให้อำนาจตุลาการอยู่ในมือนักการเมือง

หากพรรคเพื่อไทยเข้าสู่อำนาจได้แล้ว ต่อให้ฝ่ายค้านอภิปรายเก่ง ฉะฉานจนเสียงแหบเสียงแห้งแค่ไหน ก็จะต้องยอมจำนนแพ้การยกมือในสภาต่อไปอีก 4 ปี

แต่การโหวตโน “หรือการไปใช้สิทธิเลือกตั้งแต่กากบาทไม่เลือกใคร” คือการประท้วงนักการเมืองและไม่ยอมจำนนต่อระบบการเมืองที่ล้มเหลวโดยไม่ต้องมีการชุมนุม การโหวตโนจึงเสมือนเป็นเสียงที่สงวนสิทธิ์ไม่ให้คะแนนกับนักการเมืองคนไหน และพร้อมที่จะเคลื่อนไหวอยู่นอกสภาโดยไม่ยอมจำนนต่อระบบในสภาที่มีแต่พวกมากลากไป และเรียกร้องหาเวทีการปฏิรูปการเมืองของคนไทยทั้งประเทศไม่ใช่เพื่อคนกลุ่มใดสีใด อันจะเป็นหนทางการเปลี่ยนแปลงประเทศที่เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด

สำคัญก็คือว่า เสียงที่ต่อต้านระบอบทักษิณ หรือกลัวการกลับมาของทักษิณนั้น จะต้องตัดสินใจว่าควรจะมอบความไว้วางใจให้ใครที่จะรับมือกับการกลับมาของทักษิณให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดระหว่าง...

หนึ่ง เลือกพรรคตรงกันข้ามกับพรรคเพื่อไทย แต่ต้องไปแพ้ในสภาอีก 4 ปี และทำให้พรรคเพื่อไทยมีความชอบธรรมมากขึ้นในการอ้างจำนวน ส.ส.ในสภา และใช้มือ ส.ส.แก้ไขเปลี่ยนแปลงประเทศตามอำเภอใจ รวมถึงการออกกฎหมายนิรโทษกรรมได้โดยอ้างว่า ส.ส.ฝ่ายค้านเป็นเพียงแค่เสียงส่วนน้อยที่ต้องยอมรับความพ่ายแพ้ในระบบสภาผู้แทนราษฎร

หรือ

สอง ไปใช้สิทธิเลือกตั้งแต่กากบาทลงในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้การเมืองภาคประชาชนนอกสภา ไม่จำนนต่อชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในสภา ถ้ามีคะแนนโหวตโนจำนวนมากที่พร้อมเคลื่อนไหวก็จะเกิดอำนาจต่อรองที่จะแปรเป็นข้อเรียกร้องอันทรงพลังทันทีแม้ยังไม่ต้องมีการชุมนุม

คำถามก็คือ ประชาชนควรให้คะแนนของเราเป็นอำนาจต่อรองให้กับนักการเมืองฝ่ายค้านซึ่งไม่มีวันชนะในสภาซึ่งจะกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมในชัยชนะของทักษิณ หรือควรนำคะแนนของเราไปมอบให้เป็นอำนาจต่อรองกับการเมืองภาคประชาชนที่พิสูจน์มาแล้วว่าสามารถคานอำนาจกับระบอบทักษิณได้มีประสิทธิภาพมากกว่าการเมืองในสภา

การโหวตโนจำนวนมากจึงเป็นหลักประกันในการไม่จำนนต่อระบบที่ล้มเหลว และเป็นปราการด่านสุดท้ายที่พอจะรับมือกับทักษิณได้หลังการเลือกตั้ง

อย่าลืม 3 กรกฎา เข้าคูหา กาไม่เลือกใคร!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น