++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พฤติกรรมหาเสียง : ละครสะท้อนความอยากเป็น โดย สามารถ มังสัง

ทุกครั้งที่ดูละคร ไม่ว่าจะเป็นละครซึ่งมีเค้าโครงเรื่องมาจากเรื่องจริง หรือมาจากจินตนาการของผู้ประพันธ์ ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้ดูส่วนใหญ่หรือพูดได้ว่าเกือบทุกคนจะเข้าใจ และรับรู้ตรงกันว่าเป็นการแสดง แต่ก็ดูเพื่อหาความบันเทิง และมีความรู้เป็นผลพลอยได้จากเนื้อหาสาระในเชิงปรัชญาที่ผู้ประพันธ์นำมาสอดแทรกไว้

ดังนั้น คำว่าละครโดยนัยแห่งคำกล่าวข้างต้น จึงเป็นแค่สื่อสร้างสันทนาการแก่ผู้ดูเพื่อการพักผ่อน ไม่หวังผลอะไรมากไปกว่าความเป็นละคร

แต่วันนี้คำว่า ละคร มีนัยแตกต่างไปจากที่เคยเป็น เมื่อนักการเมืองอาวุโสระดับอดีตหัวหน้าพรรค และอดีตนายกฯ ท่านหนึ่งได้ให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อจากสองพรรคการเมืองใหญ่ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองสำคัญมาเป็นผู้แสดงนำในละครเรื่องปรองดองคล้องใจ แต่ผู้สมัครทั้งสองปฏิเสธโดยให้เหตุผลในทำนองเดียวกันว่า เอาไว้หลังเลือกตั้งค่อยปรองดองจริง โดยที่ประชาชนเป็นผู้เขียนบท

อะไรเป็นมูลเหตุจูงใจให้มีการเสนอในทำนองนี้ หรือว่าไม่มีอะไรมากไปกว่าเป็นบทตลกแทรกการหาเสียงเพื่อลดความตึงเครียดทางการเมือง จากผู้อาวุโสผู้มากประสบการณ์ทางการเมือง

เกี่ยวกับประเด็นแห่งปัญหาดังกล่าวข้างต้นผู้เขียนเชื่อว่ามองเห็นได้ไม่ยาก เพียงแต่ท่านผู้อ่านมองย้อนไปดูพฤติกรรมทางการเมืองอันเป็นปัจเจกของท่านผู้เสนอควบคู่ไปกับพฤติกรรมองค์กรของพรรคการเมืองที่ท่านผู้นี้สังกัด ก็พอจะอนุมานได้ว่าน่าจะมีมูลเหตุจูงใจหรือเจตนาในการเสนอดังต่อไปนี้

1. ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมาผู้คนในสังคมไทยมีความแตกแยกทางการเมือง มีการแบ่งขั้วแบ่งสี และแบ่งพวกค่อนข้างชัดเจน จนเป็นเหตุให้เกิดกระแสเบื่อหน่ายทางการเมืองเป็นกระแสต้านการแบ่งในรูปของพลังเงียบ และดูเหมือนว่าพลังเงียบที่ว่านี้เพิ่มมากขึ้นทุกที และจากกระแสต่อต้านที่ว่านี้เอง ผลักดันให้เกิดการเรียกร้องให้มีการปรองดองระดับชาติขึ้น โดยรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ได้ตั้งคณะปรองดองขึ้นมาทำการศึกษา และเสนอแนะแนวทางให้เกิดการปรองดอง

แต่หลังจากเวลาผ่านไปนานเป็นปีแล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเกิดการปรองดองได้อย่างเป็นรูปธรรม และนี่เองน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่มีการเสนอให้มีการแสดงละครเรื่องปรองดองคล้องใจ โดยหวังผลทางการเมืองจากผู้ที่ต้องการปรองดอง

2. ผู้เสนอเรื่องนี้มิได้คาดหวังให้เรื่องการแสดงละครเกิดขึ้นจริง แต่ต้องการโยนหินถามทางเพื่อหยั่งเชิงดูว่า ทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ซึ่งกำลังแข่งขันทางการเมืองเพื่อแย่งความเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ มีโอกาสจะจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันได้หรือไม่ เพราะถ้าสองพรรคใหญ่จับมือกันได้จริง นั่นก็แปลว่าพรรคขนาดเล็ก หรือแม้กระทั่งพรรคขนาดกลางก็หมดโอกาสที่จะเป็นตัวแปรชี้ขาดในการจัดตั้งรัฐบาล และโอกาสที่จะเป็นฝ่ายค้าน (ซึ่งผู้เสนอไม่ประสงค์จะเป็น) เกิดขึ้นได้แน่นอน

อีกนัยหนึ่ง ผู้เสนอรู้ดีว่าการจับมือกันทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงละครหรือการจัดตั้งรัฐบาลของสองพรรคใหญ่เกิดขึ้นไม่ได้แน่นอน แต่ก็เสนอเพื่อลดความตึงเครียดทางการเมือง และมุ่งหวังเพื่อแย่งพื้นที่ข่าวให้แก่พรรคของตัวเอง

โดยนัยแห่งข้อสังเกต 2 ประการดังกล่าวข้างต้น ข้อเสนอละครปรองดองคล้องใจจึงเกิดขึ้น

ไม่ว่าข้อเสนอดังกล่าวเกิดขึ้นจากมูลเหตุจูงใจอะไร ผู้เขียนเห็นว่าผู้เสนอลืมคิดถึงข้อที่เป็นสัจธรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้น และกำลังเป็นอยู่ในขณะนี้

สัจธรรมที่ว่านี้ก็คือ ทุกพรรคการเมืองรวมทั้งพรรคของท่านผู้เสนอแนวคิดการแสดงละครปรองดองด้วย กำลังร่วมกันแสดงละครเรื่อง แข่งกันให้ เพื่อหวังได้คะแนน โดยมีนโยบายประชานิยมที่ต่อยอดจากนโยบายของพรรคไทยรักไทยในอดีตในทุกรูปแบบ โดยไม่คำนึงว่าประชาชนในฐานะผู้ดูละครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เห็นด้วยหรือโต้แย้ง หวังเพียงอย่างเดียวคือ เรียกร้องความสนใจให้ลงคะแนนให้พรรคและตัวเอง โดยไม่คำนึงว่าเมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วจะหาเงินจากไหนมาใช้เพื่อสนองนโยบายที่ตนเองได้สัญญาไว้ต่อประชาชน และที่สำคัญไม่เคยบอกประชาชนให้รู้ว่า ถ้าทำตามนโยบายนี้แล้วประเทศจะมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอีกเท่าใดนี่คือละครหลอกประชาชนอีกฉากหนึ่งที่ทุกพรรคการเมืองกำลังแสดงอยู่ในขณะนี้

นอกเหนือจากละครเรื่องแข่งกันให้แล้ว ผู้นำพรรคบางพรรคได้กระโดดลงมาแสดงบทเป็นคนจนจำลอง ด้วยการทำกับข้าว ขับรถอีแต๋นไถนา เอาผ้าขาวม้าคาดพุง ดูแล้วนึกถึงตลกจำเป็นมากกว่าจะมองเห็นว่าผู้นำทำตัวติดดินกินข้าวแกงเพื่อร่วมคิดร่วมทำกับชาวบ้าน แต่กลับมองตรงกันข้ามว่า นี่คือการเสแสร้งที่น่าขำที่สุดเท่าที่เห็นมาในโลกแห่งความเป็นจริงของบรรดาท่านนักแสดงจำเป็นที่ว่านี้

แต่นึกอีกทีก็น่าเห็นใจบางท่านที่จำเป็นต้องแสดงบทนี้ทั้งๆ ที่ตนเองไม่ถนัด และเชื่อว่าถ้าไม่มีตำแหน่งทางการเมืองเป็นเดิมพันแล้วก็คงไม่ทำตามบทที่ตนเองไม่ได้คิด และไม่ได้เขียน (เข้าใจว่าบางคนมีบทให้ทำ โดยที่คนเขียนคอยกำกับอยู่ข้างหลัง) และที่เชื่อเช่นนี้ก็อาศัยตรรกะอย่างง่ายๆ ดังต่อไปนี้

โดยปกติคนจะทำอะไรจนกลายเป็นอุปนิสัย คือจำเจและเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตได้จะต้องคิดและทำด้วยความชอบเป็นหลัก ยกตัวอย่าง คุณสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ ผู้ล่วงลับไปแล้ว ท่านชอบจ่ายตลาดและทำกับข้าวด้วยตนเอง เมื่อไรเราได้เห็นท่านเดินจ่ายตลาด ถือกระจาดใส่ผักก็ไม่คิดว่าท่านเสแสร้ง เพราะนั่นท่านทำจนเป็นนิสัย และไม่สนใจว่าใครอื่นจะคิดอย่างไร

แต่ตรงกันข้าม เมื่อเห็นผู้ลงสมัครบางท่านทำกับข้าว หรือขับรถไถแบบเดินตาม หรือที่ยิ่งกว่านี้คือ ลงมือดำนากับชาวบ้าน ทั้งๆ ที่ในชีวิตไม่เคยทำ และไม่ชอบทำ ก็จะคิดได้ว่า นั่นคือการเสแสร้งแสดงละครหลอกให้ชาวบ้านชื่นชม เพื่อแลกคะแนนมากกว่าอื่นใด

ยังมีข่าวตลกและฟังแล้วขำไม่ออก แต่เป็นข่าวซุบซิบว่า เมื่อพรรคการเมืองพรรคหนึ่งประกาศจะลดภาษีมูลค่าเพิ่มลง 2% และได้มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งฟังแล้ววิตกกังวลต่ออนาคตการเก็บรายได้ของประเทศ ได้โทรศัพท์ไปสอบถามหัวหน้าพรรคเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้รับคำตอบว่า ไม่ตรงกังวล เมื่อถึงเวลาเป็นรัฐบาล ไม่ต้องทำตามนี้ก็ได้ นั่นก็แปลว่าสิ่งที่บอกไปเวลานี้มิได้ผูกพันไปถึงอนาคต ถ้าข่าวนี้เป็นความจริง ถ้าไม่เรียกว่าการหาเสียงของนักการเมือง หรือการแสดงละครแล้วจะเรียกว่าอะไรดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น