++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เรื่องสวรรค์ที่มีในพระไตรปิฎก


เรื่องสวรรค์ที่มีในพระไตรปิฎก


สวรรค์มีจริงหรือไม่ ? ถ้ามีจริง สวรรค์ตั้งอยู่ที่ไหน ? เรื่องของสวรรค์เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงควบคู่กันไปกับเรื่องนรกทุกครั้งที่ทรงแสดงกรรมและผลของกรรมดี-ชั่ว โดยแสดงกรรมและผลของกรรมชั่วก่อน แสดงกรรมและผลของกรรมดีในภายหลั

“...ภิกษุนั้น ย่อมเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ อุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดีตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่าสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคคติวินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกเขาย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์...”

(จูฬหัตถิปโทปมสูตร, ม.มู ๑๒/๓๓๗.)

สวรรค์ตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎกในฐานะเป็นที่สถานที่ที่คนทำบุญไว้ ตายลงแล้วจะได้ไปเกิด จะมีควบคู่ไปกับนรกทุกครั้ง ข้อความเป็นการเสนอข้อเท็จจริงเพื่อเตือนสติให้บุคคลระลึกถึงโทษของการทำชั่วและผลของการทำความดี

“...กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ที่เรากล่าวว่าควรทำโดยส่วนเดียวนี้ เมื่อผู้ใดกระทำ ก็พึงหวังอานิสงส์ต่อไปนี้ได้ คือ ตนเองก็กล่าวโทษตนเองไม่ได้ วิญญูชนทั้งหลายใคร่ครวญแล้วย่อมสรรเสริญ กิตติศัพท์อันดีงาม ย่อมขจรไป ตายก็ไม่หลงฟั่นเฟือน เมื่อแตกกายทำลายภายหลังมรณะ ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์....”

(อธิกรณวรรคที่ ๒ สูตรที่ ๘, องฺ.ทุก.๒๐/๒๖๔.)

สวรรค์ในพระพุทธศาสนาไม่ใช่สถานที่ที่จะไปได้ง่าย จัดเป็นธรรม(สิ่ง) ที่น่าปรารถนาที่หาได้ยากในโลกเลยทีเดียว ไม่ใช่ไปได้ด้วยการอ้อนวอนหรือบวงสรวงหรือเพียงความปรารถนาเพลิดเพลินไปกับเรื่องสวรรค์เท่านั้น ผู้ปรารถนาสวรรค์ต้องบำเพ็ญปฏิปทาเพื่อให้ได้สวรรค์โดยเฉพาะ ตามหลักการทำบุญในพระพุทธศาสนา คือ การให้ทาน การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ การเจริญภาวนาได้ในขั้นต้น

“...ชนผู้ปรารถนาอายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สวรรค์ ความเกิดในตระกูลสูงและความเพลินใจพึงทำความไม่ประมาทให้มากยิ่งขึ้น บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในการทำบุญบัณฑิตผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยึดถือประโยชน์ทั้ง 2 ไว้ได้ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในสัมปรายภพ ผู้มีปัญญา ท่านเรียกว่า บัณฑิต เพราะบรรลุถึงประโยชน์ทั้ง 2”

(อิฏฐสูตร, องฺปญจก.๒๒/๔๓.)

สวรรค์ในคัมภีร์พระไตรปิฎกนอกจากจะปรากฏควบคู่ไปกับนรกทุกครั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงกรรมและผลของกรรมดี-กรรมชั่ว ยังได้รับการกล่าวถึงมากกว่านรก ข้อความในคัมภีร์พระไตรปิฎกบางตอนถึงกับตั้งชื่อวรรคหรือเรื่องให้เป็นของเทวดาซึ่งเป็นประชากรสวรรค์โดยเฉพาะ เป็นข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสโดยตรงก็มี เป็นข้อความที่พระสาวกมหาเถระกล่าวก็มี เป็นข้อความที่นักปราชญ์ฝ่ายพุทธอื่นกล่าวก็มี ข้อความในคัมภีร์พระไตรปิฎกที่อ้างถึงสวรรค์ มักปรากฏใน 3 ลักษณะ คือ...

1. เป็นข้อความที่กล่าวถึงสถานที่คือ “สวรรค์” โดยตรง ซึ่งเป็นสถานที่อยู่ของพวกเทวดาในชั้นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร

“กามาวจรภูมิ เป็นไฉน คือ ขันธ์ ธาตุ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันท่องเที่ยวคือนับเนื่องในโอกาสนี้ ข้างล่างตลอดไปถึงนรกอเวจีเป็นที่สุด ข้างบนนี้ไปจนถึงเทวดาชาวปรนิมมิตวสวัตตีเป็นที่สุด นี้นับเป็นกามาจรภูมิ”

“รูปปาวจรภูมิเป็นไฉน คือ ธรรมคือจิตและเจตสิกของบุคคลผู้เข้าสมาบัติของบุคคลผู้เกิดในพรหมโลก หรือของท่านผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อันท่องเที่ยวคือนับเนื่องในโอกาสนี้ ข้างล่างนับแต่พรหมโลกขึ้นไปจนถึงเทวดาชั้นนอกนิฏฐะ นี้ชื่อว่า รูปาวจรภูมิ”

“อรูปาวจรภูมิเป็นไฉน คือ ธรรมคือจิตและเจตสิกของบุคคลผู้เข้าสมาบัติของบุคคลผู้เกิดในพรหมโลก หรือของท่านผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อันนับเนื่องในโอกาสนี้ ข้างล่างนับแต่เทวดาผู้เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนภพ ตลอดขึ้นไปถึงเทวดาผู้เข้าถึงชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนภพ นี้ชื่อว่า อรูปาวจรภูมิ”

(ภูมินานัตตญาณนิทเทส,ขุ.ปฏิ.๓๑/๑๗๑-๑๗๔.)

พระพุทธเจ้า เมื่อมีพระประสงค์จะแสดงเทศนาโปรดพวกเทวดา พระองค์จะเสด็จไปสวรรค์ โดยเฉพาะสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นสวรรค์ชั้นที่พระพุทธองค์เสด็จไปมากครั้งที่สุด แม้ในคราวที่แสดงยมกปาฏิหาริย์ปราบทิฏฐิของพวกนักบวชนอกพระพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธองค์ก็เสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อเทศนาอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดา ตามพุทธประเพณี

(มหามกุฏราชวิทยาลัย, พระธัมมปทัฏฐกถา แปล ภาค ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑๑ จำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม หน้า ๑๒๗-๑๒๘.)

“....ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหายจากพระวิหารเชตวัน ไปปรากฏในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้แขนที่เหยียด”

(ตติยเทวาจาริกสูตร, สํม.๑๙/๑๕๐๔)

พระสาวกที่ทรงคุณวุฒิบางรูป นอกจากจะเที่ยวจาริกไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทในโลกมนุษย์แล้ว ยังชอบไปแสดงธรรมโปรดพวกเทวดาในสวรรค์ ไปสอบถามความเป็นอยู่ของพวกเทวดาและเทพธิดา เพื่อเอามาเป็นข้อมูลสำหรับแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทในโลกมนุษย์หรือ บางท่านก็ชอบไปพักผ่อนในสวรรค์

“....ท่านพระโมคคัลลานะ ได้หายจากพระเชตะวันไปปรากฏในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้หรือแขนที่เหยียด....”

(ปฐมเทวจาริกสูตร,สํ.ม.๑๙/๑๔๙๘.ทุติยเทวจาริกสูตร,สํ.ม.๑๙/๑๕๐๑.)


ยังมีเรื่องวิมานซึ่ง เป็นบ้านของเทวดาและเทพธิดา เป็นเทพจำพวกอากาลัฏฐเทพบ้าง (เทพที่อยู่ในอากาศ) ภุมมัฏฐเทพบ้าง (เทพที่อยู่บนพื้นดิน) รุกขเทพบ้าง (เทพที่อยู่ตามต้นไม้) เทพเหล่านี้เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ เป็นผู้ทำบุญเล็กน้อย เหมาะแก่วิถีชีวิตของชาวบ้านผู้เสพกามคุณ พระพุทธเจ้า พระมหาเถระ หรือเทวดาเอง เมื่อมีความต้องการที่จะให้พวกชาวบ้านผู้ยังเสพกามอยู่รู้ถึงอานิสงส์ของการทำบุญเล็กน้อย ก็จะหาวิธีการประกาศให้ชาวบ้านเหล่านั้นรู้ ข้อความที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก จึงเป็นคำสนทนากันระหว่างพระสาวกกับพวกเทพ เป็นพระดำรัสที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพวกเทพบางครั้งก็เป็นคำสนทนากันระหว่างพวกเทพเอง

“พระมหาโมคคัลลานะถามว่า ดูก่อนเทพนารี ท่านนั่งวิมานเรืออันมุงด้วยทอง ลงเล่นในสระโบกขรณี เด็ดดอกปทุม....เพราะบุญอะไร ท่านจึงมีวรรณะเช่นนี้ เพราะบุญอะไร ผลนี้จึงสำเร็จแก่ท่าน ....ดูก่อนเทพีผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามท่าน ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ ท่านได้ทำบุญอะไรไว้ เพราะบุญอะไร ท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรื่องอย่างนี้....”

(ปฐมนาวาวิมาน,ขุ.วิ.๒๖/๖. มีวิมานอื่นอีก ๘๓ วิมาน,ขุ.วิ.๒๖/๑-๘๕.)

“พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามบุพพกรรมที่ภัททาเทพธิดานั้นได้กระทำไว้ว่า ดูก่อนเทพธิดาผู้มีปัญญาดี ท่านสวมมาลัยดอกมณฑารพไว้เหนือศีรษะ มีสีต่าง ๆ คือ ดำ แดงเข้ม และแดง แวดล้อมด้วยกลีบเกสรจากต้นไม้ที่ไม่มีในหมู่เทพเหล่าอื่น เพราะบุญอะไร ท่านจึงมียศเข้าถึงหมู่เทพชั้นดาวดึงส์...”

(ภัททิตถิกาวิมาน,ขุ.วิ.๒๖/๒๒.)

ข้อบัญญัติที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎกมีว่า ผู้ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นในขณะที่เป็นพระโพธิสัตว์ผู้ได้รับพยากรณ์แล้ว บำเพ็ญธรรม มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เมื่อตายลง ย่อมไปเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นดุสิต ส่วนพระอริยบุคคลชั้นอนาคามี (1 ในอริยบุคคล) เมื่อตายจากความเป็นมนุษย์แล้ว ย่อมไปเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้น “สุทธาวาส” ซึ่งจัดเป็นรูปาวจรสวรรค์ 5 ชั้น คือ

1. อวิหา สวรรค์ของท่านผู้ไม่ละสมบัติของตน

2. อตัปปา สวรรค์ของท่านผู้ไม่เดือดร้อนกับใคร

3. สุทัสสา สวรรค์ของท่านผู้งดงาม

4. สุทัสสี สวรรค์ของท่านผู้มีการมองเห็นแจ่มชัด

5. อกนิฏฐา สวรรค์ของท่านผู้ไม่มีความด้อยกว่าใคร

สวรรค์ทั้ง 5 ชั้นนี้เรียกว่า “สุทธาวาส” ที่อยู่ของท่านที่ผู้บริสุทธิ์คืออริยบุคคลชั้นอนาคามี อนาคามีบุคคลเมื่อตายจากความเป็นมนุษย์แล้ว ย่อมไปเกิดในสวรรค์ชั้นสุทธาวาสนี้ชั้นใดชั้นหนึ่งตามกำลังกรรม เกิดตายในชั้นสุทธาวาสนั้นโดยไต่ลำดับไปจากชั้นต่ำสุดถึงชั้นสูงสุดจนกว่าจะบรรลุอรหัตแล้วนิพพานก็มี เกิดตายในชั้นสุดท้ายคืออกนิฏฐาจนกว่าจะบรรลุอรหัตแล้วนิพพานก็มี

“ บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้ง 5 มีกำเนิดเป็นอุปปาติกะ ปรินิพพานในเทวโลกชั้นสุทธาวาสนั้น มีอันไม่กลับมาจากเทวโลกนั้นเป็นธรรมดา บุคคลนั้นจุติจากอตัปปาไปสุทัสสา จุติจากสุทัสสาไปสุทัสสี จุติจากสุทัสสีไปอกนิฏฐา ย่อมยังอริยมรรคให้เกิดขึ้นในอกนิฏฐา เพื่อละสังโยชน์เบื้องบน บุคคลนี้เรียกว่า อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี...”

นอกจากนี้ ในการกล่าวถึงสวรรค์ มีการนำเสนอหลักธรรมขั้นพื้นฐานที่ทำให้เกิดในสวรรค์แต่ละขั้นคือ “อริยวัติ 5 ” ( หรือวิหารธรรม 5) คือ ศรัทธา คีล สุตะ จาคะ ปัญญา ผู้บำเพ็ญธรรม 5 ประการนี้บริบูรณ์แล้ว เมื่อปรารถนา เขาย่อมสามารถเกิดในสวรรค์ชั้นใดก็ได้ตั้งแต่ชั้นดาวดึงส์ ยามา นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตตี พรหมปาริสัชชา พรหมปุไรทิตา มหาพรหมา.....เนวสัญญา นาสัญญายตนพรหม

(สังขารรูปปัตติสูตร, ม.อุ.๑๔/๓๒๑-๓๒๘.)



2. เป็นข้อความที่กล่าวถึงสถานที่คือสวรรค์และเทวดาควบคู่กันไป ข้อความในคัมภีร์พระไตรปิฎกที่กล่าวถึงเทวดานั้น โดยมากจะกล่าวถึงท้าวสักกะซึ่งเป็นหัวหน้าเทวดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เนื้อหาบางตอนถึงกับตั้งชื่อวรรคให้เป็นของท้าวสักกะโดยเฉพาะ

พระพุทธเจ้าเมื่อมีการพบปะสนทนากับพวกเทวดา มักจะทรงพบปะสนทนากับท้าวสักกะเพราะท้าวสักกะเป็นเทวดาที่ทรงคุณธรรมมาก มาเกิดเป็นท้าวสักกะได้เพราะบำเพ็ญสัตตบท 7 ประการอย่างบริบูรณ์

“....พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงพยากรณ์แก่ท้าวสักกะนั้นว่า ขอถวายพระพร เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ และสัตว์เหล่าอื่นเป็นอันมาก มีความริษยาและความตระหนี่เป็นเครื่องผูกพันเขาเหล่านั้นเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีอาชญา ไม่มีข้าศึก ไม่มีความคับแค้นใจ หวังอยู่ว่า ขอเราจงเป็นผู้ไม่มีเวรเป็นต้นอยู่เถิด ดังนี้ แต่ก็ยังเป็นผู้มีเวร มีอาชญา มีข้าศึก มีความคับแค้นใจเป็นไปกับด้วยเวรอยู่....”

(สักกปัณหสูตร , ที.ม.๑๐/๒๔๗-๒๗๒)

และมีบางครั้งที่ท้าวสักกะเองตรัสสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้าต่อหน้าพวกเทพบริวารในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เนื่องในโอกาสพิเศษ เหตุการณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นว่า พระพุทธเจ้ากับท้าวสักกะมีการติดต่อสัมพันธ์เป็นประจำ

“.....ท้าวสักกะจอมเทพ ตรัสพระคุณตามความเป็นจริง 8 อย่างของพระผู้มีพระภาคเจ้าแก่เหล่าเทพชั้นดาวดึงส์ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย......ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้ ทรงปฏิบัติเพื่อความเกื้อกูลแก่ชนเป็นจำนวนมาก เพื่อความสุขแก่ชนจำนวนมาก....”

(มหาโควินทสูตร , ที.ม.๑๐/๒๐๙-๒๓๔.)

ส่วนที่กล่าวถึงเทวดาทั่วไปนั้น จะกล่าวถึงเทวดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มากที่สุด คงเป็นเพราะเป็นสวรรค์ที่มีท้าวสักกะปกครองอยู่นั่นเอง แม้แต่เทวดาในชั้นดาวดึงส์เอง มีข้อพิพาทกับพวกอสูรก็ยังมีการกล่าวไว้ในคัมภีร์พระไตรปิฎก และเทวดาชั้นดาวดึงส์มีภารกิจประจำอยู่อย่างหนึ่ง คือ การตรวจดูความประพฤติของมนุษย์ทุกวันอุโบสถ 14,15 ค่ำแล้วกลับมารายงานต่อหน้าเทวดาทั้งหลายที่มาประชุมกัน ณ ศาลาชื่อสุธัมมา ที่กล่าวถึงเทวดาในสวรรค์ชั้นอื่นมีปรากฏน้อยมาก แต่เป็นข้อความที่พรรณนาไว้อย่างพิสดาร

“.....พวกเทวดาโดยมาก จากโลกธาตุทั้ง 10 ก็มาประชุมกันเพื่อชมพระผู้มีพระภาคเจ้า และภิกษุสงฆ์ ครั้งนั้นแล พวกเทพชั้นสุทธาวาส 4 องค์ มีความคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านี้แลกำลังประทับอยู่ที่ป่าใหญ่ ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ ในสักกกชนบท พร้อมกับพระภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ 500 รูป...”

(มหาสมัยสูตร, ที.ม.๑๐/๒๓๕.)

เนื้อหาบางตอนได้อ้างถึงพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธองค์ตรัสพระคาถาพรรณนาเทวดาโดยโคตร ยศ และหน้าที่ให้หมู่ภิกษุได้รับรู้ ในคราวที่เทวดาจากโลกธาตุทั้ง 10 มาประชุมกันเพื่อชมบารมีของพระพุทธองค์

“....พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสภาษิตนี้ว่า เราจักร้อยกรองโศลก ภุมมเทวดาอาศัยอยู่ ณ ที่ใดภิกษุก็อาศัยอยู่ที่นั้น ....ก็ท้าวธตรัฏปกครองทิศตะวันออก เป็นอธิบดีของพวกคนธรรพ์ ท้าวเธอเป็นมหาราช มียศ....ท้าววิรุฬหกปกครองทิศใต้ เป็นอธิบดีของพวกกุมภัณฑ์ ท้าวเธอเป็นมหาราช มียศ.....ฝ่ายท้าววิรูปักษ์ปกครองทิศตะวันออก เป็นอธิบดีของพวกนาค ท้าวเธอเป็นมหาราชมียศ....ท้าวกุเวรปกครองทิศเหนือ เป็นอธิบดีของพวกยักษ์ ท้าวเธอเป็นมหาราช มียศ....”

(มหาสมัยสูตร, ที.ม.๑๐/๒๔๑-๒๔๒)

3. เป็นข้อความที่กล่าวถึงภาวะ คือสวรรค์ที่เป็นเรื่องภายในของสัตว์โลก เป็นการนำเสนอสวรรค์ที่เกิดขึ้นแก่บุคคลทันทีที่อายตนะภายในกับอายตนะภายนอกกระทบกันเกิดการรับรู้

“...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สวรรค์ชื่อว่าผัสสายตนิกะ 6 ชั้น เราได้เห็นแล้ว ในผัสสายตนิกสวรรค์นั้น บุคคลจะเห็นรูปอะไรด้วยตา ก็ย่อมเห็นแต่รูปอันน่าปรารถนา ย่อมไม่เห็นรูปอันไม่น่าปรารถนาเลย....จะเป็นรู้แจ้งธรรมารมณ์ (อารมณ์ที่เกิดกับใจ) อะไรด้วยใจ ก็ย่อมรู้แจ้งแต่ธรรมารมณ์อันน่าปรารถนา ย่อมไม่รู้แจ้งธรรมารมณ์อันไม่น่าปรารถนา....”

(ขณสูตร,สํ.สฬ.๑๘/๒๑๕.)

ข้อความลักษณะอย่างนี้ ปรากฏไม่มากนักในคัมภีร์พระไตรปิฎก แม้พุทธประสงค์จริง ๆ ทรงต้องการให้สัตว์โลกรู้และซาบซึ้งปัญหาภายในของตัวเองมากกว่าการรับรู้และซาบซึ้งปัญหาภายนอกตัวก็ตาม จากข้อมูลทั้งหมดที่ได้อธิบายมา เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ในคัมภีร์พระไตรปิฎก เมื่อมีการกล่าวถึงสวรรค์และเทวดา ส่วนมากจะบ่งถึงสวรรค์ ที่เป็นสถานที่อยู่ และเทวดาที่เป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่ง เป็นการนำเสนอข้อมูลเน้นในเรื่องที่เป็นรูปธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น