ทำนองแต่ง - ใช้กาพย์ยานีและโคลงสี่สุภาพสลับกัน แบบกาพย์ห่อโคลง และเป็นทำนองนิราศ
เรื่องย่อ - เริ่มกล่าวถึง ความงามของนางซึ่งต้องจากกัน แล้วรำพึงรำพันเป็น โมง ยาม วัน เดือน ปี และบอกชนิดของสัตว์ประจำปี ต่อจากนั้น พรรณนาขบวนแห่ สาวสนม ไม้ นก และปลา กล่าวถึงบุคคลในวรรณคดีเรื่องอื่นในไตรดายุค เช่น พระรามจากนางสีดา พระอนิรุทธ์จากนางอุษา แต่ได้พบกันอีก ส่วนตนเองซึ่งอยู่ในกลียุคจากนางแล้ว เมื่อใดจึงจะได้กลับมาอยู่ร่วมกัน
ข้อคิดเห็น - กาพย์ห่อโคลงเรื่องนี้มีลักษณะเป็นนิราศ และจัดเป็นนิราศกาพย์ห่อโคลงเรื่องแรก แต่ไม่ได้กล่าวว่า จากนางไปที่ใด ผ่านตำบลใดบ้าง รำพึงรำพันเป็นวันเวลาเช่นเดียวกับ โคลงทวาทศมาส แต่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงเปลี่ยนกระบวนพรรณนาให้ผิดแผกออกไป โคลงทวาทศมาสรำพันความเป็นเดือนๆ แต่กาพย์ห่อโคลงนี้ขยายเป็นโมง ยาม วัน เดือน และปี และตอนท้ายได้เพิ่มบท ชมไม้ ชมนก จึงทำให้เกิดแบบวรรณคดีขึ้นใหม่อีกประเภทหนึ่ง นอกจากนิราศเรื่องนี้ให้ความรู้เกี่ยวกับประเพณีการแต่งกายของสตรี และความเป็นอยู่ของไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายในการทรงนิพนธ์กาพย์ห่อโคลงนี้ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ทรงสมมติการจากนางขึ้น ความจริงมิได้ทรงจากนางไปไหน ดังข้อความตอนจบว่า
จบเสร็จครวญคร่ำกาพย์ บทพิลาปถึงสาวศรี
แต่งตามประเวณี ใช่เมียรักจะจากจริง
การทรงสามารถรำพึงรำพันความอาลัยรักได้อย่างแนบเนียน โดยมิได้เกิดจากความจริง แสดงถึงพระอัจฉริยภาพทางกวีนิพนธ์อย่างเลิศล้ำ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น