++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2553

ตามรอยลายสือไทย - อาษา ขอจิตต์เมตต์

ส.บุญเสนอ



นักแปลผู้ได้ชื่อเป็นล่ามทางวรรณกรรม
สำหรับนักอ่านเรื่องแปลทั้งหลาย

ตอนก่อนผมได้เล่มอุปนิสัยของคุณอาษา ขอจิตต์เมตต์ ในเรื่องความรักระเบียบวินัยเคร่งครัด และเป็นผู้นับถือความถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ หากเทียบกับคนสมัยนี้มักนิยมความถูกใจสำคัญกว่า ผมขอเสริมถึงเรื่องความละเอียดถี่ถ้วนประจำตัวอีกเล็กน้อย คงเนื่องจากงานประจำเป็นพนักงานบัญชีของห้างฝรั่งกระมัง คุณอาษา ขอจิตต์เมตต์ติดนิสัยทำบัญชีรายวันส่วนตัวติดกระเป๋าไว้เสมอ พวกเราชอบล้อเล่นเป็นกันเองโดยเฉพาะ คุณจำนง วงศ์บ้าหลวง ผู้สนิทกับคุณอาษา ขอจิตต์เมตต์ยิ่งกว่าใคร พอเจอหน้าเป็นต้องถามถึงเงินในกระเป๋าก่อนเรื่องอื่น คุณอาษา ขอจิตต์เมตต์จะควักกระเป๋าเงินออกมานับทั้งธนบัตรและเศษสตางค์ แล้วเอาบัญชีประจำวันออกมาเทียบจะตรงกันเปี๊ยบไม่ผิดพลาดแม่แต่เหรียญครึ่งสตางค์ ซึ่งยังมีใช้สมัยนั้น หากจะใช้จ่ายอะไรก็ต้องหักบัญชีให้ยอดตรงกัน ไม่มีใครสักคนในหมู่เราทำอย่างเขาได้

พวกเราแต่ละคนรู้เพียงคร่าวๆ ว่ามีเงินติดกระเป๋ากี่บาท เรื่องจะให้รู้ละเอียดอย่าหมายเลย ยิ่งตกค่ำลงก็ชักจะเลอะเทอะ ต้องขยักเศษสตางค์แยกไว้ต่างหาก สำหรับเป็นค่ารถกลัย มิฉะนั้นจะขอยืมกันเป็นพัลวัน พรุ่งนี้หาใหม่โดยเขียนชื่อเรื่องไปเบิกล่วงหน้าแล้วเขียนเรื่องใช้หนี้ทีหลัง นักเขียนจึงเป็นลูกหนี้เจ้าของโรงพิมพ์วนเวียนไม่มีวันจบ

เป็นชีวิตอย่างหนึ่งของนักเขียนเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษมาแล้วชอบประพฤติ
เรื่องการเขียนหนังสืออีกอย่างที่กำหนดเป็นบรรทัดฐานไม่ค่อยจะได้ สุดแต่อารมณ์และสมองหรือเวลาจะอำนวยให้ ยิ่งแต่งร้อยกรองด้วยแล้วหากเผลอเอาสัมผัสไปขังตัวเองไว้จนหาทางออกไม่ได้ เสียเวลานานทีเดียวกว่าจะรื้อสัมผัสหาทางออกได้ใหม่ การเขียนหนังสือของคุณอาษา ขอจิตต์เมตต์ก็เลี่ยงไม่พ้น แต่คุณอาษา ขอจิตต์เมตต์มีความละเอียด บันทึกไว้ประจำวันว่าวันนั้นเขียนได้กี่หน้า หรือกี่บรรทัด การปรู๊ฟตัวพิมพ์อย่างที่สมัยนี้เรียกกันว่าพิสูจน์อักษรนั้น คุณอาษา ขอจิตต์เมตต์ขอทำด้วยตัวเอง และเอาใจใส่มากเรื่องเครื่องหมายวรรคตอน

อย่าว่าแต่คุณอาษา ขอจิตต์เมตต์ เลย นักเขียนทุกคนปวดหัวเมื่อเห็นข้อเขียนของตนผิดพลาดด้วยการตรวจปรู๊ฟ
ความคิดพิมพ์หนังสือขายเองคุณอาษา ขอจิตต์เมตต์มีมานานแล้ว และทดลองทำเมือ พ.ศ. ๒๔๗๖ เรื่องแรกที่เขาแต่งและออกทุนพิมพ์ขายเอง คือ "ดาวดวงเดียว" เป็นหนังสือหนา ๓๖๐ หน้า ขายราคา ๒๐ สตางค์ พิมพ์ที่โรงพิมพ์กรุงเทพฯ อังกฤษศึกษา หน้าวัดแก้วฟ้า ถนนสี่พระยา ใช้นามคณะพิมพ์ว่า "นาย เมษ ขอจิต์เมมต์" ผลที่ได้รับคงจะไม่ดีพอ เรื่องที่สองจึงยังมิได้ตามมาในครั้งนั้น

คุณอาษา ขอจิตต์เมตต์เริ่มตั้งสำนักพิมพ์ของเขา เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ ในระบบเขียนเอง แปลเอง พิมพ์เอง ขายเอง โดยช่วยกันทำในครอบครัวเป็นการลดค่าใช้จ่ายน้อยลง เพื่อจะขายหนังสือในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด วิธีการแบบนี้คุณเวช กระตุฤกษ์ ได้กระทำเป็นตัวอย่างให้เห็นผลสำเร็จมาแล้วจากคณะ "เพลินจิตต์" เรียกว่า มาตะเภาเดียวกัน แตกต่างเพียงว่าคุณเวชมาอย่างพ่อค้า คุณอาษา ขอจิตต์เมตต์มาอย่างนักเขียน อันพ่อค้าและนกัเขียนนั้น ความคิดและจิตใจย่อมต่างกันบ้างตามสมควร คุณอาษาเขียนหรือแปลหลังขดหลังแข็งกว่าจะสำเร็จแต่ละเรื่องและใช้เวลานาน คุณเวชไม่ต้องเขียนแต่ซื้อเรื่องจากนักเขียนร้อยแปดพันเก้า กำไรย่อมตามมาร้อยแปดพันเก้าเหมือนกัน อีกประการหนึ่ง พ่อค้ามองเห็นตลาดไกลกว่า ไม่ว่าตลาดหนังสือหันไปแนวไหน พ่อค้ารับได้ทั้งนั้น คงไม่มีใครเลยได้ยินว่า คุณอาษา ขอจิตต์เมตต์คิดพิมพ์เรื่องจีนขายเมื่อตลาดหนังสือเมืองไทยเห่อเรื่องจีนเป็นบ้าเป็นหลังทำให้พ่อค้าหนังสือร่ำรวยตามๆกัน

"สำนักพิมพ์คนไทย พิมพ์หนังสือไทย สำหรับคนไทย รับรองุคณภาพหนังสือทุกเล่ม ด้วยการคืนเงินเต็มจำนวนภายในหนึ่งสัปดาห์"
ข้อความเหล่านี้พิมพ์ติดหราอยู่ที่ปกในเห็นชัดเจนทุกเล่ม
คุณอาษา ขอจิตต์เมตต์ทนไม่ได้ที่จะแต่งหนังสือแบบถูกกำหนดให้ทำ โดยไม่ใช่ทัศนะของตน และถูกกดราคาค่าเรื่องอย่างไม่เป็นธรรม บางทีช้ำใจจากการพิจารณาของสำนักพิมพ์หากเขียนเรื่องไม่ถูกจุดที่เขาต้องการ และถูกส่งต้นฉบับคืน เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์เสียเองนั่นแหละ จึงจะหมดกังวลต่อสิ่งเหล่านี้
ผมอ่านพบข้อความของ คุณลิขิต วัฒนปกรณ์ เขียนไว้ในการสนทนากับเจ้าของหนังสือคนหนึ่ง ผมว่าขำดี ตอนหนึ่งมีข้อความดังนี้...

เจ้าของหนังสือ "เรื่องของคุณไม่เห็นบู๊เลย จะต้องให้มีบทบู๊มากๆ คนชอบอ่าน หนังสือพิมพ์จะขายได้ดี"
คุณลิขิต " ในชีวิตคนเรา เราบู๊อย่างเดียวเมื่อไหร่ บางคนก็ประสบความลำเค็ญ บางคนก็ประสบความสำเร็จ การต่อสู้ในการดำเนินชีวิตเป็นการต่อสู้อย่างหนึ่ง เรื่องชีวิตที่ผมเขียนยังไม่ถึงตอนที่จะบู๊"
เจ้าของหนังสือ "ไม่รู้ล่ะ คุณเขียนหนังสือให้คนอื่นอ่าน คุณต้องเขียนตามความต้องการของตลาด คุณจะเขียนตามแนวของคุณอย่างเดียวไม่ได้"

เรื่องทำนองนี้มิใช่แต่คุณลิขิตคนเดียว นักเขียนทั้งหลายต่างประสบมาแล้วบ้างมากน้อยตามสมควร
สำนักพิมพ์ "ขอจิตต์เมตต์" เริ่มด้วยคุณอาษาเอง สลับกับเรื่องแปลที่คัดเลือกจากบทประพันธ์ที่ได้รับความนิยมแล้วจากต่างประเทศ ทั้งเรื่องนวนิยาย, สารคดี, และประวัติชีวิตบุคคลสำคัญ ต่อมาหนักไปทางเรื่องแปลเพราะทำได้รวดเร็วกว่าเรื่องแต่งเอง และได้ผลตอบแทนเชิงการค้ามากกว่า

เรื่องสารคดีที่ทำเงินให้คุณอาษามากกว่าเรื่องใดๆ คือ "วิธีชนะมิตรและจูงใจคน" จากบทประพันธ์ของเดล คาร์เนกี ซึ่งฉบับภาษาอังกฤษพิมพ์จำหน่ายมาแล้วกว่าห้าสิบครั้ง จำนวนหนังสือกว่ายี่สิบล้านเล่ม เฉพาะภาษาไทยพิมพ์กว่าสิบเอ็ดครั้ง ประมาณสี่หมื่นห้าพันเล่ม เป็นอันว่าคุณอาษาจับทิศทางถูก เลยเป็นเจ้าจำนำผูกขาดแปลเรื่องของ เดล คาร์เนกี้ ทุกเรื่อง แม้หนังสือที่โดโรธี คาร์เนกี ผู้เป็นภรรยาของเดลแต่งไว้หลายเรื่อง คุณอาษาก็ตืดตามไปเอามาแปลจนได้

คุณอาษา และเดล คาร์เนกี ได้ติดต่อใกล้ชิดกันทางจดหมาย และเข้าใจกันดีเรื่องลิขสิทธิ์ แต่ยังไม่เคยพบกันเลย จนกระทั่งเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๖ เดล คาร์เนกี กับคณะเพื่อนชาวอเมริกันของเขาเดินทางเที่ยวรอบโลก และมีรายการแวะพักที่กรุงเทพฯด้วย ทั้งสองจึงมีแผนที่จะพบกัน โดยมอบให้เจ้าหน้าที่ผ่านการแปลของสำนักข่าวสารอเมริกันเป็นตัวกลางติดต่อ ให้บุคคลทั้งสองได้พบกันเมื่อ เดล คาร์เนกี มาถึง
คุณอาษาบันทึกว่า ".... ข้าพเจ้ารู้ดีว่าการพบปะกันของเราเป็นครั้งแรกนี้ อันเต็มไปด้วยความรู้สึกและถูกอัธยาศัยกัน จะเป็นการพบปะกันครั้งสุดท้ายด้วย เดล คาร์เนกี คงจะไม่ผ่านมาประเทศไทย เช่นเดียวกับข้าพเจ้ามีดอกาสอยู่เพียงริบหรี่เท่านั้น ที่จะผ่านไปยังสหรัฐอเมริกา...."

เดล คาร์เนกี ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๙ อาษา ขอจิตต์เมตต์ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๙ ไม่ทราบว่าบุคคลทั้งสองมีโอกาสได้พบและคุยกันเรื่องหนังสือหนังหาหรือไม่
คุณอาษาแปลชีวประวัติของประธานาธิบดีอเมริกันหลายคน เช่น ประธานาธิบดีลินคอล์น, โรสเวลท์และไอเซนเฮาเวอร์ เมื่อคราวนางโรสเวลท์เดินทางมาเยือนประเทศไทย คุณอาษาไปต้อนรับนางโรสเวลท์ที่ดอนเมือง นางโรสเวลท์แสดงความยินดีที่คุณอาษาแปลชีวประวัติสามีของเธอ และแปลเรื่อง "ข้าพเจ้าจำได้" ที่เธอเป็นผู้แต่งเองด้วย

เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒ คุณอาษา แปลนวนิยายเรื่อง "นายแพทย์ชิวาโก" (Doctor Zhivago) ผู้แต่งคือ บอริส ปาสเตอร์แน็ก เป็นทั้งกวีและนักเขียวนวนิยาย เขาแต่งหนังสือที่กล่าวนี้เสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ นับว่า แปลกมากที่คนแต่งเป็นชาวรัสเซีย แต่แทนที่จะพิมพ์หนังสือออกจำหน่ายครั้งแรกที่บ้านเมืองของเขา ผู้แต่งกลับส่งไปใหสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งที่อิตาลี จัดการแปลเป็นภาษาอิตาเลียนเพื่อพิมพ์จำหน่ายครั้งแรกที่นั่น ทางการรัสเซียทราบเรื่องเข้า ก็รีบขอร้องให้ส่งต้นฉบับกลับคืนมาก่อนเพื่อแก้ไขบางตอน ทางสำนักพิมพ์ที่อิตาลีก็รู้ดีว่า ขืนส่งกลับไปเรื่องนี้ต้องลงตะกร้าแน่ จึงเร่งพิมพ์ออกจำหน่ายให้รวดเร็วยิ่งขึ้น วรรณกรรมที่คนแต่งเป็นชาวรัสเซีย แต่คนอ่านครั้งแรกกลายเป็นคนรู้ภาษาอิตาเลียน ต่อมาจึงได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆอีกยี่สิบภาษา และได้รับรางวัลในฐานะนวนิยายยอดเยี่ยมประจำปี พ.ศ.๒๕๐๑ คุณอาษาแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งแม็กซ์ เฮเวิร์ด และมันยา ฮารารี แปลจากฉบับภาษารัสเซีย

เรื่อง "นายแพทย์ชิวาโก" ได้รับคำยกย่องจากวงการวรรณกรรมทั่วโลกว่าเป็นเอก เสมอด้วยเรื่อง "สงครามและสันติภาพ" ของ ตอลสตอย ปาสเตอร์แน็กแต่งหนังสือของเขา จากสิ่งที่เขาได้รู้ได้เห็นจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัสเซีย เขียนตามความรู้สึกจริงใจของเขา โดยมิได้มีเจตนาให้ร้ายป้ายสีแก่ผู้ใด แต่มันกลายเป็นวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ยับเยินไปเลย

เมื่อทางกรุงสต็อคโฮล์มเชิญปาสเตอร์แน็กไปรับรางวัล เขาได้รับการบีบบังคับจากบุคคลชั้นนำของรัสเซีย ซึ่งสมัยนั้นครุสช็อฟมีอำนาจสูงสุด ปาสเตอร์แน็กจำต้องปฏิเสธไม่ยอมไปรับรางวัลโนเบลอันมีเกียรติสูงยิ่งทางอักษรศาสตร์ของโลกพร้อมด้วยเงินรางวัลจำนวนมาก ซึ่งชาวโลกเสรีทั้งหลายไม่เห็นด้วย ในการกระทำเช่นนี้ของรัฐบาลรัสเซีย

ครั้นการแปลเรื่องของเดล คาร์เนกี งวดลงจนไม่มีให้แปลอีก คุณอาษาขุดค้นเอาเรื่องของ กีย์ เดอ โมปาซังต์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบรมครูของการเขียนเรื่องสั้น ซึ่งมีการขมวดตอนจบของเรื่องได้อย่างน่าสนใจ เป็นตัวอย่างอันดีสำหรับการเขียนเรื่องสั้น ความจริงมีผู้เคยนำเรื่องสั้นของโมปาซังต์มาแปลกันบ้างแล้วเป็นจำนวนมาก แต่เลือกเอามาเฉพาะบางเรื่อง ที่แปลซ้ำซ้อนกันก็มีไม่น้อย โดยนำลงพิมพ์ในหนังสือรายคาบต่างๆ คุณอาษา ขอจิตต์เมตต์ ค้นหามาแปลจนครบชุดจำนวน ๒๗๘ เรื่อง โดยแบ่งพิมพ์เป็นเล่มใหญ่รวม ๙ เล่ม นับเป็นงานอุสาหะแรงกล้ามิใช่เล่นที่คุณอาษาทำได้สำเร็จ

นักเขียนอเมริกันคนหนึ่ง ชื่อ วิลเลี่ยม ซิดนีย์ พอร์เตอร์ แต่ใช้นามปากกาสำหรับแต่งหนังสือว่า "โอ.เฮนรี่" เขียนเรื่องสั้นไว้มากมายเหมือนกัน มีผู้นิยมเอามาแปลลงพิมพ์หนังสือรายคาบต่างๆเช่นเดียวกัน คุณอาษาเสาะหามาแปลได้ ๒๕ เรื่อง ต่อจากนั้นก็รวบรวมเรื่องสั้นของเออร์เนสท์ เฮ็มมิงเวย์ได้ ๒๕ เรื่อง และเรื่องยาวของเฮ็มมิงเวย์อีก ๒ เรื่อง คือ "รักระหว่างรบ" (A Farewell to Armss) "และศึกเสปน" (For whom the Bell Tolls)
มีนักเขียนสตรีคนหนึ่งชื่อ เกรซ เมทาเลียส แต่งหนังสือเพียงสองเล่มก็มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก คือ เรื่อง "Peyton Place" (เริงรัก) และ "Return To Peyton Place" (ไฟสวาท) คุณอาษาฉกเอามาแปลเสียทั้งสองเรื่อง โดยตั้งชื่อภาคไทยเหมือนชื่อภาพยนตร์ที่นำมาฉายพอดี

แม้แต่เรื่องนิทานเก่าๆ ที่เคยอ่านกันมาแต่โบราณ เช่น นิทานของกริมม์ และนิทานของแอนเดอร์สัน ก็มิได้เว้นที่จะเอามาแปลใหม่ นิยายเก่าๆของฝรั่งที่เรารู้จักกันตั้งแต่รุ่นคุณปู่ เช่น "เกาะมหาสมบัติ" , "กัลลิเวอร์ ผจญภัย" , "รอบิน ฮู้ด" "รอบินสัน ครูโซ" , "ฮัคเกิลเบอร์รี่ ฟินน์" คุณอาษาไม่เหลือไว้เลย

ผลงานมีออกมามากมายเช่นนี้ ถ้าไม่เรียกว่านักแปลผู้ยิ่งใหญ่ จะเรียกเขาว่าอะไรล่ะ ??


ที่มา ต่วยตูน เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๐ ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น