++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553

แกะหนังสือ ทัศนะจากอินเดีย พระนิพนธ์ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (๑)




ผู้แกะ - หนูเอียด

เพื่อนที่รักทุกคน
            ก่อนเดินทางไปอินเดีย ฉันสัญญากับใครๆไว้ว่ากลับมาจะเล่าเรื่องการเดินทางอย่างเคย บางคนเขาก็ว่าจะไปเล่าอะไรมากมายเรื่องอินเดีย มีคนเขียนแทบจะทุกซอกทุกมุมแล้ว เขียนไปก็ซ้ำกับที่คนอื่นเขียน อย่างไรก็ตามฉันก็จะเขียน ตามธรรมเนียมของพวกเราที่ว่ารู้อะไรแล้วก็ต้องให้เพื่อนรู้ด้วย เหมือนที่เราทำกัน เวลาเรียนมหาวิทยาลัย บางทีเจอกันอยู่แล้วกลับบ้านยังต้องคุย หรือโต้กันเรื่องต่างๆทางโทรศัพท์อีก ยิ่งขณะนี้เราแยกย้ายกันไปทำงานต่างๆแตกต่างกันไป ประสบการณ์สิ่งแวดล้อมต่างกัน มีเพื่อนใหม่ๆ ทัศนะและปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์เดียวกันย่อมต่างกัน ฉะนั้นจึงเล่าประสบการณ์ของฉัน และอยากให้เพื่อนช่วยแสดงข้อคิดเห็น ---

           
ก่อนลงมือแกะหนังสือเล่มนี้ "หนูเอียด" ได้นึกหาคำมาออกตัวในทำนองว่าฉบับที่แล้วได้แกะ  "แหม่มในเมืองแขก" ของ อมราวดี ในหนนี้จะได้นำเอาเมืองแขกยุคปัจจุบันกับความเห็นอีกทัศนะหนึ่งมาเปรียบเทียบ ถึงแม้ว่า "มีคนเขียนแทบจะทุกซอกทุกมุมแล้ว" ก็เถอะ แต่เผอิญพบว่า ทูลกระหม่อมได้ทรงเขียนเอาไว้ให้ล่วงหน้าแล้ว จึงขอยกเอามาให้อ่านแทนเสียเลย แหม สบายดีจัง

            การเสด็จอินเดียครั้งนี้เพิ่งจะสดๆร้อนๆ คือ เริ่มเดินทางวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๓๐ นี่เอง รวมระยะเวลา ๑๘ วัน และการที่พระนิพนธ์เล่มนี้ตีพิมพ์สำเร็จในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐ ปีเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงพระวิริยะอุตสาหะอันสูงส่ง คิดดูซิครับ หนังสือหนาเกือบห้าร้อยหน้า ใช้เวลาเขียนเวลาพิมพ์แค่ครึ่งปี ทั้งๆที่ทรงมีภารกิจมากมายล้นพ้น ดังที่ทรงเกริ่นไว้ว่า

            กว่าหนังสือเล่มนี้จะออกมาพบกับผู้อ่านได้ ก็ต้องอ่านหลายขั้นตอน เขียนแล้วยังต้องหยุดพักเหนื่อย พักป่วยหยุดเพื่อทำราชการประจำ แล้วจึงมาเขียนต่อ อย่างไรก็ตามความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จก็ย่อมอยู่ที่นั่น
            "ทัศนะจากอินเดีย" ยืดยาวกว่าหนังสือเล่มใดๆที่ข้าพเจ้าเคยเขียน ต้องบันทึกลงในแผ่นดิสเก็ตถึง ๒ แผ่น เล่มอื่นใช้แผ่นเดียวก็พอ ---
            - - - ฉันเขียนเรื่องต่างๆที่ได้ไปประสบพบพาน มีเรื่องหลายรส ใครสนใจอ่านตรงไหนก็เลือกได้ที่สนใจ ไม่ต้องอ่านหมด

           
ทรงรู้ใจคนอ่านเสียด้วย จริงซีครับ พวกที่เป็นนักวิชาการนักโบราณคดีก็คงจะสนใจตอนที่ทูลกระหม่อมทรงเล่าเกี่ยวกับโบราณสถาน รูปแกะสลักนูนสูงนูนต่ำ อะไรทำนองนั้น ซึ่งนอกจากทูลกระหม่อม จะทรงเล่าจากที่ทอดพระเนตรเห็นแล้วก็ยังได้เชื่อมโยงถึงภูมิหลังของสิ่งนั้นๆ จากการค้นคว้าเพิ่มเติม และจากที่เคยศึกษาสมัยทรงเป็นนิสิตปริญญาโทอักษรศาสตร์จุฬาฯ ส่วนพวกที่รู้ประวัติศาสตร์แค่งูๆปลาๆ ซึ่งมี "หนูเอียด" รวมอยู่ด้วยก็มักจะสนใจในเรื่องของชีวิตชาวบ้าน กับเหตุการณ์แปลกๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างเสด็จประพาส แต่อย่างไรก็ตามขอรับรองว่า แม้จะทรงสอดแทรกวิชาการไว้ แต่ก็เป็นสาระที่ให้ความเพลิดเพลินเป็นอันมาก เรียกว่าอ่านได้ทุกบรรทักแหละครับ ไม่ว่าผู้อ่านจะเป็นนักวิชาการหรือนักด้วยวิชาการก็ตาม

            สิ่งที่ทำให้หนังสือนี้สนุกอย่างสมบูรณ์ก็คือ ภาพ มีภาพสีประกอบ ทุกหน้า ครับ ทำให้นอกจากจะเห็นภาพพจน์จากที่ทรงบรรยายเป็นตัวอักษร แล้วยังได้เห็นภาพจริงประกอบ แสดงให้เห็นถึงการเตรียมการสำหรับการทำหนังสือเล่มนี้อย่างเพรียบพร้อม

             ตอนที่เข้าไปดู ฉันรู้ดี และนึกอยู่เสมอว่าจะดูละเอียดทุกรูปไม่ได้ จะต้องเลือกดูคร่าวๆ บางทีก็ยุ่งยากเหมือนกันเพราะถึงแม้ว่ามีหนังสืออ่านอยู่แล้ว เรื่องศิลปะเหล่านี้ฉันก็เรียนมาแล้ว แต่ก็ยังอยากจะจดคำอธิบายของไกด์เอาไว้ เพื่อดูว่าเขาเน้นในเรื่องอะไร มีเทคนิคการบรรยายทำท่าทำทางอย่างไร ดูศิลปะเหล่านี้แล้ว ฉันเองคิดว่าอย่างไร หรือเตือนใจให้คิดอย่างไร ถ้าไม่จดเห็นจะลืมเนื่องจากไปหลายแห่ง (กลัวว่ากลับมาจะไม่มีอะไรเล่าให้เพื่อนๆฟัง) จะใช้อัดเทปเอาก็มักจะกดผิดปุ่ม ยิ่งยุ่งกันไปใหญ่ ถ้ามัวถ่ายรูปก็ไม่มีสมาธิจะฟังหรือสังเกตอะไร เลยมอบให้บางคนเป็นฝ่ายถ่ายรูปไปเสียเลย เช่น คุณเสริม คุณหมอเชิดชัย อึ่ง ฮาวายก็ถ่ายบ้าง ถ่ายไว้ ทั้งสไลด์และรูปธรรมดา สไลด์เอาไว้ประกอบหนังสือ ส่วนรูปธรรมดาเอาไว้ดูกันเอง และเตือนความจำเป็นที่ระลึก คุณหมอดนัย (เที่ยวนี้ไม่ได้มาด้วย) สอนไว้ว่าอยากถ่ายอะไรให้ถ่ายไปเลย ไม่ต้องเสียดายฟิล์มเพราะเราจะย้อนมาถ่ายอีกไม่ได้แล้ว
            ฉันบอกนักถ่ายภาพทั้งหลายไว้ว่า ไม่ให้จำเพาะเจาะจงถ่ายเฉพาะสิ่งของต่างๆ สิ่งเหล่านี้ในหนังสือมีสวยกว่า ฉันสนใจวิธีจัดแสดงและแนวคิดของเขา

           
ส่วนเวลาที่ทรงใช้ในการบันทึก คือ
            ...ต่างคนต่างแยกย้ายกันไป ฉันเขียนจดบันทึกตามเคยจนดึก สองยามหรือตีหนึ่งจึงนอน

        (อ่านต่อตอนที่ ๒)
ที่มา  ต่วยตูน เดือนมีนาคม ๒๕๓๑ ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น