Theขี้ฝุ่นริมทาง
วันอังคารที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2553
ซั้วงูสิง - กินพิสดาร
ชนินทร์ นนทะเสน
ถ้ามีผู้ตั้งคำถามว่า คนเรานั้น "กินเพื่ออยู่" หรือ "อยู่เพื่อกิน"
ผมเห็นจะเลือกเอาข้อแรกละครับเป็นคำตอบ
โดยเฉพาะประชากรในภาคอีสานส่วนใหญ่นั้น มีความเป็นอยู่ค่อนข้างจะขัดสน
อดมื้อกินมื้อเสียเป็นส่วนมาก
โอกาสที่จะเลือกอาหารการกินตามเหลาตามบาร์เหมือนพวก "อยู่เพื่อกิน" นั้น
ไม่มีใครทำได้ง่ายๆนักหรอก ดังนั้น
อาหารที่พวกผู้ดีตีนแดงในเมืองศิวิไลซ์ทั้งหลายขยะแขยง เช่น กิ้งก่า
อึ่งอ่าง ตะกวด งู ฯลฯ เหล่านี้คนภาคอีสานในชนบทต่างถือเป็นของโปรดปราน
ชนิดจะหากินกันได้ง่ายๆ ซะเมื่อไหร่
คำว่า "ซั้ว" เป็นภาษาถิ่นภาคอีสาน
พอจะเทียบกับภาษาไทยภาคกลางได้ คือ "ต้มยำ" นั่นเอง
ถ้าเป็นผู้ค่อนข้างมีฐานะอันจะกินหน่อย
เขาจะปรุงกันในหม้อไฟหรือหม้อไฟฟ้าไปโน่น
แต่ในชนบทหรือข้างกระต๊อบนาเขาจะปรุงในหม้อดินเผาราคาถูกๆ ใบละสามสี่บาท
พูดถึงรสชาติก็ไม่ผิดแผกกันเท่าใดนักหรอก แต่การกินอาหารให้อร่อยนั้น
บางคนบอกว่ามันอยู่ที่บรรยากาศรอบข้างด้วยเหมือนกัน
ก็เห็นจะจริงดังว่าล่ะครับ ข้อนี้ผมเองไม่อยากเถียงเท่าไรนัก
เพราะคำว่า "เหล้าบางๆ นางดีๆ ดนตรีเพราะๆ..."นั้น
ถึงจะเป็นคำพูดที่เชยไปหน่อย แต่ก็คงจะใช้ได้อยู่ในบางเวลา
มันย่อมแล้วแต่โอกาสและสถานที่ หรือใครว่าไม่จริง
อย่าง "ซั้วงูสิงห์"
ที่ผมนำเสนอในวันนี้ นักเลงกินไม่ว่าระดับคอทองแดงหรือชาวบ้านธรรมดา
ถ้าเผอิญจับงูสิงห์มาได้ซักตัว จะตัวเล็กหรือตัวใหญ่
ต่อให้เอาไก่พันธุ์ตัวโตๆ มาขอแลก จ้างก็ไม่มีใครเล่นด้วยหรอก
เพราะพูดถึงความเอร็ดอร่อยระหว่างงูสิงห์กับไก่แล้ว
รสชาติมันผิดกันลิบลับทีเดียว
งูสิงห์จัดอยู่ในประเภทงูไม่มีพิษ
(กัดคนไม่ตาย) ลักษณะลำตัวใหญ่ โตกว่ากระบอกไฟฉายนิดๆ
มีผิวสีทองค่อนข้างเหลือง ลำตัวยาวประมาณ วาเศษๆ
ส่วนมากที่ชาวบ้านจับได้จะมีน้ำหนักประมาณ ๑ กก.
การจะล่างูสิงห์หรือจับมาซักตัวไม่ใช่สิ่งที่ยากเย็นจนเกินไป
หากท่านอาศัยอยู่ในชนบทหรือคุ้นๆกับชาวบ้านที่มีฝีมือทางจับงูสิงห์แล้ว
ก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนไปจับให้เหนื่อยยาก
กระซิบบอกชาวบ้านหรือพรานป่าให้จับมาขายให้
โดยสนนราคาให้เป็นที่น่าพอใจก็คงจะพอซื้อหากันได้อยู่หรอก
ดีกว่าลงทุนลงแรงออกล่าด้วยตัวเอง
เคราะห์หามยามซวยผ่าไปเจองูจงอางเข้าก็ได้วิ่งกันป่าราบเท่านั้น
บางโอกาสผมเคยเห็นชาวบ้านนำงูสิงห์มาขายที่ตลาดก็มีเหมือนกัน
แต่ถ้าอยากจะออกไปจับกันจริงๆ
ถือเป็นการพักผ่อนวันสุดสัปดาห์ก็ไปอีกเรื่องหนึ่ง และคงจะหาได้ไม่ยาก
ธรรมชาติของงูสิงห์มักอาศัยอยู่สองแห่ง คือ ถ้าเป็นพื้นดินในป่าที่รกชัฎ
มันไม่ค่อยชอบเท่าใดนัก นอกจากตามโพรงที่มีจอมปลวกละก็ร้อยทั้งร้อย
เมื่อเจอรูมันเข้าก็ต้องลงทุนขุดกันจนเหงื่อโชกละครับ นอกจากนี้
งูสิงห์ยังชอบอาศัยอยู่ตามข้างลำธาร หรือ
ริมลำห้วยที่มีเถาไม้เลื้อยปกคลุม ย่างเข้าฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึง
กุมภาพันธ์
บางครั้งมันจะเลื้อยออกมานอนรับแสงแดดยามเช้าอยู่ตามกิ่งไม้ริมลำธาร
หลับคาพริ้ม แสงแดดยามเช้าเวลา ๙-๑๐ นาฬิกา
กระทบเกล็ดสีทองส่งประกายแวววาว
ขณะนั่งเรือพายออกทอดแหกับพรรคพวกในวันหยุดผมเคยเจอมามากต่อมาก
เอาเป็นว่า
ถ้าเราได้งูสิงห์มาซักตัวแล้ว จะทำอะไรกินมันจึงจะอร่อย
เนื้องูสิงห์นั้นสีสันลักษณะขาวคล้ายเนื้อไก่มากครับ
แต่รสชาติมันอร่อยกว่าเท่านั้นเอง
ผมจะยกตัวอย่างที่เคยปรุงรับประทานมาให้ฟังสัก ๓ ประเภทนะครับ คือ
๑.ต้มยำ (ซั้ว) ๒. ทอดกระเทียมพริกไทย
๓.ผัดพริกใบกระเพรา
ก่อนอื่น เราต้องฆ่างูให้ตายสนิท นำร่างงูไปเผาไฟ
อย่าให้ถึงกับไหม้ เอาแค่พอให้เกล็ดงูลอกออกได้ง่าย
โดยใช้ช้อนสังกะสีขูดตามลำตัวจนเกล็ดหลุดออกหมด เรียก "ขอดเกล็ด"
เสร็จแล้วล้างด้วยน้ำสะอาดให้หมดจดจึงนำไปชำแหละ
ก่อนชำแหละต้องตัดหัวงูออกก่อน
หัวงูนี้อย่าทิ้ง เก็บไว้ดองเหล้าผสมดีงู
โดยนำไปตากแดดให้แห้งกรอบแล้วดองกับสุราขาว
โบราณว่าดื่มวันละจอกสองจอกแก้โรคตาฝ้าฟางได้ชงัดนัก
จากนั้นให้ใช้มีดปลายแหลมกรีดจากหัวงูไปจนทั้งหาง (กรีดด้านพื้นท้องงู)
ดึงเอาเครื่องในออกมาทำความสะอาด ค่อยๆดึงเอาดีออกอย่าให้แตก
นำไปตากแดดไว้ ส่วนตับ ลำไส้ ฯลฯ เก็บใส่ชามไว้ก่อน นำตัวงูมาตัดเป็นท่อนๆ
ยาวประมาณท่อนละ ๒ นิ้ว
วิธีปรุง
1. ต้มยำหม้อไฟ หรือ "ซั้ว"
ตามที่ผมขึ้นหัวข้อไว้เป็นชื่อเรื่องนี้
ก่อนอื่นเอาหม้อตั้งไฟใส่น้ำให้พอดี
ใส่เกลือครึ่งช้อนหรือมากกว่านั้นก้ได้ เครื่องปรุงที่ขาดไม่ได้มี ข่า
ตะไคร่ ใบมะกรูด
เมื่อน้ำเดือดดีแล้วจึงเอาชิ้นส่วนของงูที่ตัดไว้เป้นท่อนๆลงไปต้ม
การต้มใช้เวลานานประมาณ ๑ ชั่วโมง เนื้องูจึงจะเปื่อยยุ่ย
เนื้อจะร่อนหลุดออกมาจากกระดูก เป็นอันว่า สุกแน่ จึงถ่ายหม้อไฟใส่หม้อไฟ
ตอนนี้ต้องเพิ่มเครื่องปรุง มีหอมแดงเผา, พริกสดเผา, ต้นหอมสด, ผักชี
ยี่หร่า ใบชะพลูสัก ๓-๔ ใบ ผักลางแพวหั่นเป็นชิ้นใหญ่ๆ
พอผักยุบเติมพงชูรสเล็กน้อย ชิมดูได้รสพอดีก็ยกมาทานได้
2. ทอดกระเทียมพริกไทย
เนื้องูที่ตัดเป็นท่อนๆ ในตอนแรก
เอามีดกรีดสันหลังทั้งสองข้างชำแหละเอาแต่เนื้อออกให้หมด
นำมาทอดกระเทียมพริกไทย การทอดต้องทอดให้กรอบจึงจะหมดกลิ่นคาว
เมื่อสุกดีแล้วนำมารับประทานเป็นกับแกล้มได้
3. ผัดพริกใบกระเพรา
นำพริกขี้หมูมาโขลกปนกระเทียม
แล้วนำมาผสมกับเนื้องูซึ่งต้องชำแหละออกมาตามข้อ 2
เนื้องูนั้นต้องสับให้ละเอียดก่อน
นำเครื่องในที่เก็บไว้ตอนแรกมาหั่นให้ละเอียดแล้วผัดรวมกัน ใช้รสจัดๆหน่อย
ก่อนจะยกลง จึงใส่ใบกระเพราเพื่อไม่ให้ใบกระเพราช้ำ กะจนเนื้องูสุกจึงยกลง
รายการนี้จะกินเป็นกับแกล้มหรือรับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ
อร่อยอย่าบอกใครเชียว
ที่มา ต่วยตูน เดือนมีนาคม ๒๕๓๑ ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๗
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น