++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธความสบาย

พระไพศาล วิสาโล - Phra Paisal Visalo
‎"พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธความสบาย แต่ปฏิเสธการยึดติดอยู่กับความสบายทางกาย จนไม่ไปถึงความสุขที่ประณีตกว่า"

ใครที่ไปเยือนวัดป่าซึ่งตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดานและได้เห็นวิถีชีวิตของพระที่นั่น รวมทั้งได้ฟังคำสอนของท่าน อาจมีความเข้าใจว่าพุทธศาสนานั้นปฏิเสธความสบาย เพราะแม้แต่อาหารก็ฉันเพียงมื้อเดียว ไฟฟ้าก็ไม่ต่อเข้ามา แถมยังสร้างกุฏิในป่าลึกดูน่าอันตราย

ความจริงพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธความสบาย กลับเห็นว่าความสบายเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ชีวิตเป็นสุข เมื่อพระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่อง “อายุวัฒนธรรม” หรือธรรมที่ส่งเสริมสุขภาพและช่วยให้อายุยืน ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงยกมาเป็นข้อแรก ก็ คือ สัปปายการี ได้แก่ การทำสิ่งที่สบาย หรือการทำตนให้สบาย

อย่างไรก็ตามการที่พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่ความสบาย ไม่ใช่เพราะว่ามันดีโดยตัวมันเอง หากแต่เป็นเพราะว่า ความสบายนั้นเป็นสิ่งเกื้อกูลต่อชีวิต ช่วยให้ชีวิตเจริญงอกงามและเข้าถึงความสุขที่ประณีตลึกซึ้ง ตรงนี้ต้องอธิบายก่อนว่า ความสุขของคนเรามีสี่ประเภท ได้แก่

1. ความสุขทางกาย หรือความสุขจากการเสพและการใช้ทรัพย์
2. ความสุขทางศีล หรือความสุขจากการมีพฤติกรรมดีงาม และมีสัมพันธภาพที่ราบรื่นกับผู้อื่น
3. ความสุขทางจิต เช่น เกิดปิติ มีสมาธิ ผ่อนคลาย ปลอดโปร่ง
4. ความสุขทางปัญญา หรือ ความสุขเนื่องจากความรู้แจ้งในสัจธรรม จนเป็นอิสระหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

พุทธศาสนาถือว่าความสบายหรือความสุขทางกายจะต้องเป็นไปเพื่อเกื้อกูลความสุขสามประเภทหลัง หรือทำให้พฤติกรรม (ศีล) จิต และปัญญาเจริญงอกงามขึ้น เช่น เมื่อมีความเป็นอยู่ผาสุกและสบายแล้วก็ควรช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยการให้ทานแก่ผู้ยากไร้ สละทรัพย์ให้แก่ส่วนรวม หรือสละเวลามาทำประโยชน์แก่สังคม พร้อมกันนั้นก็ใช้ความสะดวกสบายนั้นเพื่อบำเพ็ญภาวนาทางจิตปัญญา

พระไพศาล วิสาโล
Repost
ที่มา : tp://www.facebook.com/visalo

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น