ไฟโตนิวเทรียนท์ คือสารอาหารจากผักผลไม้ที่อุดมไปด้วย สารต่อต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยป้องกันการติดโรคต่าง ๆ ได้อย่างดี มีฤทธิ์ต่อต้านหรือป้องกันโรคสำคัญที่มักจะกล่าวถึงกันก็คือ โรคมะเร็ง จากการวิจัยของ USDA (United State Department of Agrculture) พบว่าการบริโภคผักผลไม้ที่มีสารไฟโตนิวเทรียนท์เป็นประจำสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ไขมันสะสมในหลอดเลือด
จากผลของการวิจัยและค้นคว้าของ สถาบันสุขภาพนิวทรีไลท์ (Nutrilite Health Institute) รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าในความเป็นจริงแล้วผักผลไม้แต่ละชนิดให้คุณประโยชน์จาก ไฟโตนิวเทรียนท์ที่ต่างกัน ดังนั้นการที่จะได้รับไฟโตนิวเทรียนท์อย่างเต็มที่ จึงต้องกินผักผลไม้ให้หลากสีด้วย โดยแบ่งสีของผักผลไม้ออกเป็น 5 กลุ่ม หรือ 5 สี คือ สี เขียว แดง เหลือง ม่วง ขาว เพราะแต่ละชนิดแต่ละสี ให้สารไฟโตนิวเทรียนท์ที่แตกต่างกันไป เช่น
ผักผลไม้สีเขียว เป็นผักผลไม้ที่มีมากที่สุดในโลก เช่น ผักบุ้ง ผักกาด ผักคะน้า บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี ผักโขม โหระพา กะเพรา สะระแหน่ วอเตอร์เครส บวบ ถั่วพู ถั่วฝักยาว คึ้นช่าย ฯลฯ ซึ่งผักสีเขียวส่วนมากเป็นผักกินใบเป็นอาหาร
มี สารโคลโรฟีล (Chlorophyll) ซึ่งสารทำให้ผักมีสีเขียว นอกจากนี้ยังมี สาร ลูทีน (Leutein) และ สาร ซีแซนทีน (Zeaxanthine) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคต้อกระจก และโรคศูนย์จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ ซึ่งมีมากใน ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักโขม ผักปวยเล้ง ผักกาดหอม แตงกวาทั้งเปลือก ถั่วแขก ถั่วลันเตา อะโวกาโด ฯลฯ
สาร อินโดล (Indole) ช่วยกระตุ้นการทำงานของตับให้สร้างเอนไซม์ออกมาใช้ในการต้านทานป้องกันมะเร็งที่มดลูกและมะเร็งเต้านม ป้องกันไม่ให้ DNA ถูกทำลายจนกลายเป็นเนื้อร้าย มีมากในผักตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อคโคลี คะน้า ฯลฯ
ผักผลไม้สีแดง ผักและผลไม้ที่มีสีแดงจะมีสารสำคัญที่เรียกว่า ไลโคปีน (Lycopene) ซึ่งให้สีแดง เป็นสารสำคัญที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ป้องกันโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ ป้องกันภาวะความจำเสื่อม ชะลอความเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายโดยเฉพาะเซลล์ผิวหนัง และยังอุดมไปด้วยเกลือแร่และวิตามินต่าง ๆ นอกจากนี้ สาร เบต้าไซซิน (Betacycin) ในผลทับทิม หัวบี๊ทรูท และผลแคนเบอร์รี่ ยังเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ดีอีกด้วย
ผักผลไม้สีแดง เช่น พริกแดง มะเขือเทศ แตงโม กระเจี๊ยบแดง มะละกอ สตรอเบอร์รี่ หัวบี๊ทรูท เชอร์รี่ ทับทิม ฯลฯ
ผักผลไม้ที่มี่สีเหลือง เป็นผักผลไม้อีกกลุ่มหนึ่งที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมด้วยสาร ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) แคโรทีนอยด์ (Carotenoid) สารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ได้แก่ เบต้า-แคโรทีน(Beta-carotene) แอลฟา-แคโรทีน (Alpha-carotene) ซึ่งเป็นสารที่ต่อต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ความสำคัญของผลไม้ในกลุ่มนี้คือ ช่วยรักษาสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด บำรุงสายตา ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อกระจก ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น
ผักผลไม้ที่มีสีเหลือง เหลืองอมส้ม เหลืองอ่อน เช่น แครอท มะละกอ ฟักทอง ข้าวโพด มะม่วง ขนุน แคนตาลูบ มันเทศ ลูกพลับ ทุเรียน เสาวรส มะเฟือง มะระ อโวกาโด กีวี มะนาว ขมิ้นชัน (ใช้รักษาโรคกระเพาะ) ซึ่งอุดมไปด้วยสาร เบต้า-แคโรทีน ที่จริงแล้วสารเบต้า-แคโรทีนมีอยู่ในผักผลไม้สีเข้มแทบทุกชนิด ซึ่งเราอาจจะกินทดแทนได้แต่อาจจะได้รับสารเบต้า-แคโรทีนไม่มากเท่ากับผักผลไม้สีเหลือง สีส้ม เท่านั้นเอง
ผักผลไม้สีม่วงหรือสีน้ำเงิน เป็นผักผลไม้ที่มีสารสำคัญชนิดหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบคือ แอนโธไซยานิน (Anthocyanin) สารกลุ่มนี้มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชลอความเสื่อมของเซลล์ ช่วยลดอัตราความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมอง ด้วยการยับยั้งไม่ให้เลือดจับกันเป็นก้อน และยังช่วยยับยั้งเชื้อ อีโคไล (E.coli) ในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคท้องร่วงได้อีกด้วย
ผักผลไม้ที่มีสีม่วงหรือสีน้ำเงิน เช่น กะหล่ำปลีสีม่วง มันสีม่วง ชมพู่มะเหมี่ยว ชมพู่แดง ลูกหว้า ข้าวแดง ข้าวนิล ข้าวเหนียวดำ ถั่วแดง ถั่วดำ มันเทศสีม่วง หอมแดง ดอกอัญชัน น้ำว่านกาบหอย เผือก หอมหัวใหญ่สีม่วง มะเขือม่วง องุ่นแดง แอปเปิลแดง ลูกไหน ลูกพรุน ลูกเกด ลูกหม่อน (มัลเบอร์รี่) บลูเบอร์รี่ แบลคเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ ฯลฯ
ผักผลไม้ที่มีสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน ผักและผลไม้ในกลุ่มนี้ เช่น เนื้อในสีขาวและเปลือกของมังคุด มีสาร แซนโทน (Xanthone) ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม ฟลาโวนอยด์ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดอาการปวดข้อเข่า ต้านเซลล์มะเร็ง ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม ลูกเดือย มีสารสำคัญคือ กรดไซแนปติก (Synaptic acid) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ขิง ข่า กระเทียม กุยช่าย ขึ้นช่าย เซเลอรี่ เห็ด ฯลฯ มีสารสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย คือ สาร อัลลิซิน (Allicin) มีฤทธิ์ต้านการเกิดเนื้องอก แอปเปิล ผลฝรั่ง ชาเขียว ชาขาว มีสาร ฟลาโวนอยด์ ที่มีฤทฺธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สารสำคัญในขิงคือ 6-จิงเจอรอล (6-gingerol) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดปริมาณไขมันในเลือด ลดการรวมตัวของเกล็ดเลือด การกินขิงจึงเหมาะสำหรับ การดูแลความดันเลือด ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนี้ยังมียังมีผลไม้ในกลุ่มนี้ที่ใช้ในการควบคุมน้ำหนักได้ เช่น กล้วย สาลี่ พุทรา ลางสาด ลองกอง ลิ้นจี่ ละมุด แห้ว ผักผลไม้ที่มสีขาวและสีน้ำตาลอื่น ๆ
ในการกินผักผลไม้สีต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้นอกจากเราจะได้รับสารไฟโตนิวเทรียนท์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว กากใยจากผักผลไม้ยังช่วยในเรื่องระบบขับถ่ายอีกด้วย และเพื่อช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีในวันข้างหน้าอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://edtech.ipst.ac.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น