++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

มะเร็ง....เพชรฆาตคร่าชีวิตมนุษย์ รู้ไหม...

มะเร็ง....เพชรฆาตคร่าชีวิตมนุษย์ รู้ไหม...
คนไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งเฉลียวันละ 156 คน (สถิติปี 2552)
ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตด้วยมะเร็งใน 6 วินาที 1 คน หรือ 14,400 คนต่อวัน
มะเร็งหลายชนิดสามารถป้องกันได้ด้วยการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีและหลีกเลี่ยง ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังต่อไปนี้
๑. รักษาน้ำหนักตัวอย่าให้เกินหรือเป็นโรคอ้วน ด้วยการออกกำลังกายและควบคุมอาหาร พบว่าคน อ้วนมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งมากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
๒. หมั่นออกกำลังกายและผ่อนคลายความ เครียด เช่น เดินเร็ว ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ โยคะ รำมวยจีน เป็นต้น วันละ ๓๐ นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๕ วัน
๓. ไม่สูบบุหรี่ บุหรี่มีสารก่อมะเร็ง ทำให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิด ที่สำคัญได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่
๔. ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์อาจ ทำให้เกิดมะเร็งช่องปาก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม
๕. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง ได้แก่ เนื้อสัตว์ปิ้ง ย่าง รมควัน หมักดอง เนื้อเค็ม อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อราอะฟลาท็อกซิน (เช่น ถั่วลิสงป่น พริกป่น เมล็ดธัญพืชที่ขึ้นรา)
๖. ลดอาหารจำพวกไขมัน ควรกินน้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของปริมาณแคลอรีทั้งหมดที่ร่างกายได้รับ
๗. กินผัก ผลไม้ วันละ ๔๐๐-๘๐๐ กรัม โดยกินให้หลากชนิดและหลากสี และกินเมล็ดธัญพืชให้มากๆ ซึ่งสามารถป้องกันมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูก-หมาก มะเร็งปอด เป็นต้น
๘. ลดหรืองดการกินเนื้อแดง หรือเนื้อสัตว์ใหญ่ (ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมู) ควรกินอาหารโปรตีนจากปลา ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง (เต้าหู้) แทน
๙. หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดด ถ้าจำเป็นต้องออก กลางแดด ควรทายากันแดด รังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดอาจทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง
๑๐. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย รวมทั้งรู้จักใช้ถุงยางอนามัยป้องกันในการมีเพศสัมพันธ์ กับกลุ่มเสี่ยง (เช่น กับบุคคลที่ไม่ใช่คู่สามีหรือภรรยา หญิงบริการ) เนื่องเพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก
๑๑. หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมาก พลู จุกยาฉุน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งช่องปาก
๑๒. หลีกเลี่ยงการกินปลาน้ำจืดแบบดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆ อาจทำให้เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเซลล์ท่อน้ำดี (มะเร็งตับ)
๑๓. ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งตับ (นิยมฉีด ๓ เข็ม ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ ๖ เดือน)
๑๔. ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก (นิยมฉีด ๓ เข็มในเด็กหญิงอายุ ๑๑-๑๒ ปี หรือในวัยก่อนมีเพศสัมพันธ์
๑๕. หากมีอาการปวดท้องโรคกระเพาะอาหารที่เกิดจากแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น จากการติดเชื้อเอชไพโลไร ควรให้แพทย์รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เพื่อกำจัดเชื้อชนิดนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งกระเพาะอาหาร
อย่างไรก็ตาม แม้จะปฏิบัติตัวดังกล่าวเป็นอย่างดีแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดจากมะเร็งได้เด็ดขาด เนื่องเพราะมะเร็งยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ยังไม่ทราบ หรือจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ถึงแม้การสูบบุหรี่จะสามารถป้องกันมะเร็งปอดได้เป็นส่วนใหญ่ แต่บางครั้งก็อาจพบว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่กลายเป็นมะเร็งปอดก็ได้ (ซึ่งมักเป็นชนิดที่ไม่มีความสัมพันธ์กับบุหรี่)
ดังนั้น จึงควรมีการตรวจคัดกรองมะเร็งระยะแรก เช่น การตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้ง และให้แพทย์ตรวจเต้านม (รวมทั้งการถ่ายภาพรังสีเต้านม) เมื่อมีอายุมากกว่า ๔๐ ปี การตรวจมะเร็งปากมดลูก (pap smear) การส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ การเจาะเลือดตรวจกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติโรคมะเร็งในครอบครัว ก็ควรจะหมั่นปรึกษาแพทย์ในการป้องกันมะเร็งและตรวจกรองโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะแรก
ขอขอบคุณ หมอชาวบ้าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น