ความหนักใจของเถ้าแก่ หรือเจ้าของธุรกิจนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ การขาย การทำยอด การบริการลูกค้า การผลิตสินค้า หรือบริการให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าแล้วปัญหาที่หนักอึ้งของเจ้าของธุรกิจ อีกอย่างที่ไม่อาจมองข้ามได้ นั่นคือ การบริหารการจัดการพนักงาน หรือลูกจ้างไม่ว่าธุรกิจจะเล็ก หรือใหญ่เพียงใด ปัญหานี้มันพร้อมที่จะเข้ามาอยู่กับพวกท่านตลอดเวลา หากจะมองให้เป็นทฤษฎีหลักการ “พนักงาน-ลูกจ้าง”นั่นแหละ จะเป็นตัวช่วยเสริมให้ธุรกิจทั้งหลายแหล่ อยู่รอด นอกเหนือจากความเก่งฉกาจของตัวเจ้าของธุรกิจเอง
พนักงานนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่เถ้าแก่ทั้งหลาย ไม่อาจมองข้ามได้ สินค้าจะมีคุณภาพดีอย่างไร!!! หากลูกจ้างมั่วแต่ผลิตของเสียออกมา ก็ไม่รอด อาหารจะอร่อยอย่างไร!!! แต่พนักงานบริการหน้าร้าน หน้าหงิกงอไม่มีจิตใจบริการ ลูกค้าก็จะค่อยๆ หนีหมด ของดีอย่างไร!!! ถ้าพนักงานขาย ไม่ขยันนำเสนอ ออกหาลูกค้า ยอดขายก็จะไม่ถึงไหน ไม่ว่าธุรกิจจะเล็กหรือใหญ่ สิ่งนี้คือสัจธรรมดังนั้น นักบริหารทรัพย์กรมนุษย์ ผู้บริหารและเจ้าของกิจการ จะต้องมีการคัดสรรคนก่อนเข้าทำงานให้ดี มีการพัฒนาพวกเขาอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง และที่สำคัญต้องมีการจ่ายผลตอบแทน หรือดูแลการเจริญเติบโตของพวกเขาเหล่านี้ให้โตไปพร้อมกับกิจการของเรา
ลูกจ้างมืออาชีพเหล่านี้ ไม่ว่าจะตำแหน่งเล็ก ตำแหน่งใหญ่ ผมขอเรียกว่ามืออาชีพ เพราะเขาจะต้องทำงานรับเงินเดือน เป็นอาชีพหลักไม่ใช่อาชีพรอง ดังนั้น คำนี้น่าจะเหมาะสม และฟังดูดีมืออาชีพเหล่านี้ เหล่าเถ้าแก่ทั้งหลายต้องหาให้เจอ ถึงแม้จะยากสักปานใด ก็ต้องพยายามหาให้เจอ ต้องหาให้เจอ!!! แล้วลักษณะที่ว่า มันเป็นอย่างไรหากจะใช้ศัพท์ให้ดูดีหน่อยก็ต้องบอกว่า คนเหล่านี้มีคุณลักษณะหรือ Competency อย่างไร และมีแนวทางในการ มองอย่างไร ถึงจะบอกว่าใช่ล่ะ ขอแจกแจ้งได้ดังนี้ครับ
1.ต้องเป็นคนมุ่งมั่น Result Oriented เน้นผลลัพธ์ของการทำงาน ประเภทไม่เสร็จไม่กลับบ้าน สู้จนถึงที่สุด เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คนเหล่านี้เมื่อได้รับมอบหมายงานมาแล้ว ไม่ต้องห่วง เขาจะขวนขวาย เรียนรู้ สอบถาม แก้ไขปัญหา ให้งานออกมาให้ดีที่สุด แล้วมองอย่างไรล่ะถึงจะรู้แรกๆอาจจะดูยาก แต่ทำงานไปปี สองปี ดูออกครับ ก็เป็นคนที่ทำงานให้เราได้ดีที่สุดไงครับ ทำงานเก่ง ทำงานจริง ไม่ใช่ประจบ สอพลอ ไปวันๆรู้ไม่จริง เก่งแต่ Present ไม่ใช่มืออาชีพแน่นอน
2.ต้องเป็นคนรักการเรียนรู้ พัฒนาตนเอง Continuous Learning คนพวกนี้ชอบการเรียนรู้ เห็นอะไรเป็นการเรียนไปหมด แต่ไม่ใช่เรียนอย่างเดียว ไม่ทำงานนะ ต้องดูให้ออก การเรียนรู้ไม่ใช่แค่ในห้องเรียน แต่เป็นการเรียนรู้ทุกอย่าง เช่นทำงานผิด เรียนรู้ และแก้ไข ทำงานสำเร็จ เรียนรู้และถ่ายทอดงานมีอุปสรรคเรียนรู้และปรับปรุง ซึ่งส่วนใหญ่ลักษณะแบบนี้ จะมาพร้อมกับข้อ1 คือมุ่งผลสำเร็จของงานด้วย ข้อสังเกตง่ายๆครับ คนพวกนี้ ชอบที่จะเสนอปรับปรุงงานของตนเองให้ดีขึ้นตลอดเวลา การรักการเรียนรู้นี้แหละครับ จะเป็นจุดเริ่มตนของการทำงานให้องค์กรพัฒนา!!!
3.ต้องเป็นคนมองโลกในแง่บวก Positive Thinking การมองโลกในแง่ดี จะทำให้ทุกอย่างสวยงาม ดีไปหมด คนกลุ่มนี้จะเป็นคนสนุกสนาน พร้อมเผชิญปัญหา ไม่ว่าอุปสรรคจะหนักขนาดไหน เขาจะเชื่อว่าทุกอย่างแก้ไขได้ ข้อจำกัดต่างๆ ที่มีอยู่ในบริษัทของเรา เขาก็จะรับได้ และก็จะช่วยส่งเสริมให้คนอื่นคิดบวกไปด้วย ลองคนหาดูครับมีคนแบบนี้มาก หรือน้อยในองค์กรของเรา
4.ต้องเป็นคนซื่อสัตย์ มีคุณธรรม Honesty สิ่งนี้เป็นสุดยอดคนครับหากเก่งทุกอย่าง แต่ไม่ซื่อสัตย์ ไม่มีคุณธรรม อย่าเลี้ยงไว้ครับ หนักองค์กรเปล่าๆความซื่อสัตย์และมีคุณธรรม ไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นการพูด การเขียน หรือดูผลงานอย่างเดียว ต้องสังเกตพฤติกรรม เช่นการตรงต่อเวลา ไม่มีนอก-มีใน ในการทำงาน ไม่ประพฤติผิดศีลธรรม ไม่โกง ไม่เอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน องค์กร ลูกค้า สังคม ประเทศชาติ ถือว่ามีคุณธรรมครับ
จากที่เล่ามาทั้งหมดพนักงานลูกจ้าง มืออาชีพ ที่เราต้องหาให้เจอ ต้องพยายามให้มีทั้งหมด 4 ด้านเลยนะครับ คือต้องเก่งงาน รักการเรียนรู้พร้อมพัฒนาตนเอง พัฒนางานและเป็นคนมองโลกในแง่ดี ซึ่งจะทำให้เขากลายเป็นผู้ให้ ในที่สุด ส่วนสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือความซื่อสัตย์ครับ แบบไม่ต้องมีคำบรรยายเพิ่มเติม เมื่อหาพวกเขาเจอแล้ว เราก็ต้องพร้อมดูแล และพัฒนาให้เขาเข้มแข็ง ให้เขามั่นใจในองค์กรและเขาจะการเป็นกำลังหลักของเราได้ในที่สุด ผลลัพธ์สุดท้าย ก็คือ เราจะได้ไม่ต้องเครียดมากกับการดูแลพนักงานลูกจ้างเพราะพวกเราเหล่าเถ้าแก่ มีเรื่องให้เครียดมากมายกว่านี้อีกเยอะแยะครับ… โอกาสต่อไป ผมจะนำเสนอว่า เมื่อเราค้นหาเขาเจอแล้ว เราจะมีวิธีการดูแล รักษา และพัฒนาเขาอย่างไร เพื่อให้เป็นกลจักรสำคัญ ในการดำเนินธุรกิจ ของเราต่อไป….สวัสดีครับ….
“การรักการเรียนรู้นี่แหละครับ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้องค์กรพัฒนา”
ที่มา http://www.facebook.com/people.khon?fref=ts
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น