ปุจฉา - กราบนมัสการพระอาจารย์ ขอได้โปรดเมตตาช่วยชี้ แนะวิธีไม่ให้โกรธลูกง่าย ตนเองเกิดอารมณ์โกรธง่าย เวลาที่ลูกๆทำสิ่งง่ายๆไม่ได้ หรือเวลาที่ลูกเอาแต่เล่นในเวลาที่ไม่ควรเล่น เข้าใจดีว่าเขายังเป็นเด็กจึงรู้สึกเสียใจทุกครั้งที่เผลอแสดงอารมณ์โกรธออกไปแล้ว และหลายครั้งก็มีการทำโทษลูกด้วย พยายามและตั้งใจที่จะไม่โกรธง่าย แต่ก็ไม่สามารถระงับได้ไม่ทราบจะทำเช่นไรดี ขอกราบพระอาจารย์ช่วย
เมตตาชี้แนะทางสว่างให้แม่ที่โง่เขลาคนนี้ด้วยค่ะ
พระไพศาล วิสาโล - คุณควรสำรวจตัวเองว่า อะไรทำให้คุณโกรธง่าย ความโกรธที่แสดงต่อลูกนั้นอาจเป็นปลายเหตุ คุณอาจหงุดหงิดฉุนเฉียวเพราะสิ่งอื่นมาก่อนแล้วก็ได้ เช่น คุณอาจเหนื่อยจากงานบ้านที่มากมาย เครียดจากที่ทำงาน หรือมีปัญหากับสามีเป็นต้น ในกรณีเช่นนั้นคุณควรจัดการแก้ที่ต้นเหตุเสียก่อน หากคุณแก้ไขบรรเทาได้ ความหงุดหงิดจะมีน้อยลง ช่วยให้มีความอดกลั้นต่อลูกได้มากขึ้น
แต่ไม่ว่าความหงุดหงิดจะเกิดจากอะไรก็ตาม ความยับยั้งชั่งใจเป็นสิ่งจำเป็นมากในการเลี้ยงดูลูก เพราะถ้าคุณระบายอารมณ์ใส่เขา นอกจากความทุกข์จะเกิดกับคุณและลูกแล้ว มันอาจส่งผลต่อนิสัยและพฤติกรรมของลูกคุณและก่อปัญหาในระยะยาว ดังนั้นจึงอยากแนะนำให้คุณตั้งสติให้ดี เวลา ลูกทำอะไรไม่ถูกใจหรือไม่ถูกต้อง หากรู้สึกโมโห ให้ลองหายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ สัก ๕-๑๐ ครั้ง ระหว่างนั้นก็น้อมจิตอยู่ที่ลมหายใจ อย่าเพิ่งนึกถึงอะไรทั้งสิ้น ลมหายใจที่มีสติกำกับจะช่วยดับความรุ่มร้อนในใจคุณ
จากนั้นก็ให้คุณคุยกับลูกดี ๆ ใช้เหตุผลกับเขา ชี้แจงว่าอะไรควรอะไรไม่ควร ขณะเดียวกันก็บอกให้เขารู้ว่าคุณรู้สึกอย่างไรที่เห็นเขาทำเช่นนั้น และอยากให้เขาทำอะไร การพูดคุยทำนองนี้น่าจะช่วยให้เขาได้คิดและมีสติหรือระมัด ระวังตัวมากขึ้น ไม่ทำตามใจตัวเอง
หากคุณอยากสอนให้ลูกไม่ทำตามอารมณ์ของตน คุณก็ต้องเริ่มต้นด้วยการไม่ทำตามอารมณ์ของตน เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก
-- คำถามคล้ายกัน (repost) --
ปุจฉา - ทำไมโยมถึงไม่สามารถเมตตากับลูกที่โยมรักได้คะ รู้สึกแย่มากที่แสดงอาการที่ไม่ดี ยิ่งได้เจริญสติก็ยิ่งเห็นความไม่ดี จะทำอย่างไรให้เมตตากับลูก ๆ ได้อย่างแท้จริงหรือข้อธรรมใดให้สติแก่โยมบางไหมค่ะ
พระไพศาล วิสาโล - ปัญหาของคุณคือมีเมตตาหรือรักลูกมากเกินไป หาใช่ขาดเมตตาต่อลูกไม่ เป็นเพราะคุณรักลูกมากจึงยึดมั่นถือมั่นอยากให้ลูกดีอย่างที่คุณต้องการ แต่เมื่อลูกไม่เป็นไปดังใจหวัง คุณจึงไม่พอใจ บ่อยเข้าก็กลายเป็นความโกรธ จะว่าไปแล้ว สิ่งที่คุณขาดไปก็คือ "อุเบกขา" ต่างหาก หากลูกไม่เป็นดั่งใจควรทำใจเสียบ้าง อย่าจ้ำจี้จ้ำไชหรือบังคับเขามากนัก ควรให้โอกาสเขาเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง หรือได้เป็นตัวเองบ้าง ขณะเดียวกันก็คอยระมัดระวังอย่าให้เมตตาของคุณ กลายเป็นสิเนหะ อย่างหลังนั้นเป็นความรักที่มุ่งตอบสนองกิเลสของตน ไม่ใช่เป็นความรักที่บริสุทธิ์ใจ
การพยายามทำให้ลูกเป็นไปดั่งใจตนนั้น จะว่าไปก็คือการทำด้วยความยึดมั่นในตัวกูของกูนั่นเอง คือ ยึดมั่นว่าเขาเป็น “ลูกของกู” และต้องเป็นตาม “ความคิดของกู” ดังนั้นเวลามีปฏิสัมพันธ์กับลูก จึงควรมีสติเท่าทัน “ตัวกูของกู”ที่คอยผุดขึ้นมา ขณะเดียวกันก็ให้นึกถึงความรู้สึกของลูกบ้าง อย่าเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางอย่างเดียว
ที่มา พระไพศาล วิสาโล - Phra Paisal Visalo
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น