++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อรรถกถา อุลูกชาดก ว่าด้วย หน้าตาไม่ดีไม่ควรให้เป็นใหญ่


อรรถกถา อุลูกชาดก
ว่าด้วย หน้าตาไม่ดีไม่ควรให้เป็นใหญ่
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการทะเลาะของกาและนกเค้า จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า สพฺเพหิ กิร ญาตีหิ ดังนี้.
               ได้ยินว่า ในกาลครั้งนั้น กาทั้งหลายพากันกินนกเค้าทั้งหลายในตอนกลางวัน ฝ่ายนกเค้าทั้งหลาย จำเดิมแต่พระอาทิตย์อัศดงคต ก็พากันเฉี่ยวศีรษะของพวกกาที่นอนอยู่ในที่นั้นๆ ทำให้พวกกาเหล่านั้นถึงความสิ้นชีวิตไป. ศีรษะกาแม้มากมายเปื้อนเลือดประมาณ ๗-๘ ทะนานหล่นจากต้นไม้ ภิกษุรูปหนึ่งผู้อยู่ในบริเวณแห่งหนึ่งท้ายพระวิหารเชตวัน ต้องเก็บทิ้งในเวลากวาด.
               ภิกษุนั้นจึงบอกเนื้อความนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย.
               ภิกษุเหล่านั้นนั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ได้ยินว่า ในเวลาที่ภิกษุรูปโน้นกวาดจะต้องทิ้งศีรษะกาทั้งหลายมีประมาณเท่านี้ทุกวันๆ
               พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไร? เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า มิใช่ในบัดนี้เท่านั้นน่ะ ภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน กากับนกเค้าก็ได้กระทำการทะเลาะกันมาแล้ว.
               ภิกษุทั้งหลายทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กากับนกเค้าก่อเวรแก่กันและกันขึ้นในคราวไร พระเจ้าข้า?
               พระศาสดาตรัสว่า จำเดิมแต่กาลอันเป็นปฐมกัปทีเดียว แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล ครั้งปฐมกัป มนุษย์ทั้งหลายประชุมกัน คัดเลือกบุรุษคนหนึ่งผู้มีรูปงาม ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยความงาม สมบูรณ์ด้วยมารยาท บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง แต่งตั้งให้เป็นพระราชา.
               ฝ่ายสัตว์ ๔ เท้าก็ประชุมกันตั้งราชสีห์ให้เป็นพระราชา.
               พวกปลาในมหาสมุทรก็ได้ตั้งปลาอานนท์ให้เป็นพระราชา.
               ลำดับนั้น หมู่นกพากันประชุมที่หินดาดแห่งหนึ่งในหิมวันตประเทศ ปรึกษากันว่า ในหมู่มนุษย์พระราชาก็ปรากฏ ในสัตว์ ๔ เท้าและปลาทั้งหลายก็ปรากฏเหมือนอย่างนั้น แต่ในระหว่างพวกเรา พระราชายังไม่มี ธรรมดาว่า การอยู่โดยไม่มีที่พึ่ง ย่อมไม่ควร แม้พวกเราก็ควรจะได้พระราชา พวกเราจงกำหนดนกตัวหนึ่งผู้สมควรตั้งไว้ในตำแหน่งพระราชา. นกทั้งหลายพิจารณาหานกเช่นนั้น เห็นนกเค้าตัวหนึ่งก็ชอบใจ จึงกล่าวว่า เราชอบใจนกตัวนี้.
               ลำดับนั้น นกตัวหนึ่งจึงประกาศขึ้น ๓ ครั้ง เพื่อต้องการหยั่งดูอัธยาศัยใจคอของนกทุกตัว. เมื่อนกตัวนั้นร้องประกาศอยู่ ๒ ครั้ง ก็ยังสงบเงียบอยู่.
               ในเวลาจะประกาศครั้งที่ ๓ กาตัวหนึ่งลุกขึ้นกล่าวว่า ก่อนอื่น ในเวลาอภิเษกเป็นพระราชาครั้งนี้ หน้าของนกเค้าผู้ยังไม่โกรธ ยังเห็นปานนี้ก่อน เมื่อเขาโกรธ หน้าจักเป็นเช่นไร ก็พวกเขาผู้ถูกนกเค้าตัวนี้โกรธ แลดูแล้วจักแตกตื่นกันในที่นั้นทันที เหมือนเกลือที่ใส่ในกระเบื้องร้อนฉะนั้น การตั้งนกเค้านี้ให้เป็นพระราชา ข้าพเจ้าหาพอใจไม่.
               เมื่อจะประกาศเนื้อความนี้ จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
               ได้ยินว่า พวกญาติทั้งปวงจะตั้งนกเค้าให้เป็นใหญ่ ถ้าพวกญาติอนุญาต ฉันจะขอพูดสักคำหนึ่ง.

               ความของคาถานั้นว่า ฉันได้ฟังการกล่าวประกาศ ซึ่งกำลังเป็นไปอยู่นั้น จึงขอกล่าว. ได้ยินว่า พวกญาติที่มาประชุมกันนี้ทั้งหมด จะตั้งนกเค้าตัวนี้ให้เป็นพระราชา ก็ถ้าพวกญาติจะอนุญาตฉันไซร้ ฉันขอกล่าวอะไรๆ สักคำหนึ่งที่จะพึงกล่าวในสมาคมนี้.

               ลำดับนั้น นกทั้งหลาย เมื่อจะอนุญาตกานั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               ดูก่อนสหาย เราทั้งหมดอนุญาตให้ ท่านพูด แต่จงพูดแต่ถ้อยคำที่เป็นอรรถและธรรมอย่างเดียว เพราะว่านกหนุ่มๆ ที่มีปัญญาและทรงญาณอันรุ่งเรือง ยังมีอยู่.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภณ สมฺม อนุญฺญาโต ความว่า ดูก่อนกาผู้สหาย พวกเราอนุญาต ท่านจงพูดสิ่งที่ควรพูดเถิด.
               บทว่า อตฺถํ ธมฺมญฺจ เกวลํ ความว่า ก็เมื่อท่านจะกล่าวจงกล่าวอย่าให้ละเลยเหตุ และคำอันมีมาตามประเพณีเสีย.
               บทว่า ปญฺญวนฺโต ชุตินฺธรา ความว่า พวกนกแม้หนุ่มๆ ที่สมบูรณ์ด้วยปัญญา และทรงแสงสว่างแห่งญาณความรู้ยังมีอยู่เหมือนกัน.

               กาตัวนั้นอันพวกนกอนุญาตอย่างนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :--
               ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย การแต่งตั้งนกเค้าให้เป็นใหญ่ ข้าพเจ้าไม่ชอบใจ ท่านจงมองดูหน้าของนกเค้าผู้ไม่โกรธเถิด นกเค้าโกรธแล้วจักทำหน้าตาอย่างไร.

               เนื้อความของคาถานั้นนั้นว่า
               ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย การที่ท่านทั้งหลายทำการอภิเษกนกเค้าด้วยการประกาศ ๓ ครั้งนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจ ก็ท่านทั้งหลายจงมองดูหน้าของนกเค้านี้ผู้ดีใจยังไม่โกรธขณะนี้ เราไม่รู้ว่า ก็นกเค้านี้โกรธแล้วจักกระทำหน้าอย่างไร การตั้งนกเค้าให้เป็นใหญ่นี้ ข้าพเจ้าจึงไม่ชอบโดยประการทั้งปวง.
               กานั้นครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วบินร้องไปในอากาศว่า ข้าพเจ้าไม่ชอบใจ ข้าพเจ้าไม่ชอบใจ. ฝ่ายนกเค้าก็บินขึ้นไล่ติดตามกานั้นไป ตั้งแต่นั้นมา กากับนกเค้าจึงได้ผูกเวรกันและกัน.
               นกทั้งหลายตั้งหงส์ทองให้เป็นพระราชา แล้วพากันหลีกไป.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจจะ แล้วทรงประชุมชาดก. ในเวลาจบสัจจะ คนเป็นอันมากได้เป็นพระโสดาบันเป็นต้น.
               หังสโปดกผู้ได้รับอภิเษกให้เป็นพระราชาในกาลนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถาอุลูกชาดกที่ ๑๐              

               รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑. ปทุมชาดก ว่าด้วย ไม่ควรพูดให้เกินความจริง
                         ๒. มุทุปาณิชาดก ว่าด้วย ความปรารถนาสมประสงค์ในกาลมีของ ๔ อย่าง
                         ๓. จุลลปโลภนชาดก ว่าด้วย หญิงทำบุรุษให้งงงวย
                         ๔. มหาปนาทชาดก ว่าด้วย ปราสาทของพระเจ้ามหาปนาท
                         ๕. ขุรัปปชาดก ว่าด้วย ถึงคราวกล้าควรกล้า
                         ๖. วาตัคคสินธวชาดก ว่าด้วย มิตรสันถวะเกิดแต่แรกพบ
                         ๗. สุวรรณกักกฏกชาดก ว่าด้วย ปูทอง
                         ๘. อารามทูสกชาดก ว่าด้วย เหตุที่นายอุยยานบาลจะถูก
                         ๙. สุชาตาชาดก ว่าด้วย ถ้อยคำไพเราะทำให้คนรัก
                         ๑๐. อุลูกชาดก ว่าด้วย หน้าตาไม่ดีไม่ควรให้เป็นใหญ่

               จบ ปทุมวรรคที่ ๒              
               -----------------------------------------------------        
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=409

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น