++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

หลักของสังฆทาน


หลักของสังฆทานมีอยู่ว่า ต้องตั้งเจตนาว่าจะถวายของสิ่งนั้นแก่สงฆ์ คือถวายเป็นของกลางหรือเป็นของส่วนรวม ไม่ใช่ถวายเป็นของส่วนตัวแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

คำว่า สังฆทาน ก็แปลตรงตัวว่า ถวายเป็นของสงฆ์

หลักของสังฆทานไม่ใช่อยู่ที่ถังเหลืองถังแดงอะไรนั่นเลย ถังหรือกล่องพวกนั้นน่ะร้านค้าเขาหลอกขายให้คนโง่เข้าแล้ว จะบอกให้ ว่ากันตรงๆ อย่างนี้แหละ

ของที่จะถวายสังฆทานนั้นมี ๒ ประเภท คือ ของฉัน (ของกิน) กับ ของใช้ ของทั้ง ๒ ประเภทนี้ต้องเป็นของที่พระท่านฉันได้และใช้ได้โดยไม่ผิดวินัยสงฆ์

ของฉัน ต้องถวายก่อนเที่ยง ถวายของกินหลังเที่ยงไปแล้ว ถ้าพระท่านรับ ก็ผิดวินัยสงฆ์ ส่วนของใช้นั้นถวายได้ตลอดวัน

ปัญหาที่พบก็คือ เจ้าถังเหลืองที่เรียกกันผิดๆว่า ถังสังฆทาน (ขอย้ำว่าเรียกกันผิดๆ ครับ) นั้นมีทั้งของกินและของใช้ใส่ปนกันไว้ พอเอาไปถวายหลังเที่ยง คนถวายก็ถวายหน้าตาเฉย พระสงฆ์ที่รับก็รับประเคนอย่างหน้าตาเฉยพอๆ กัน

ลองเบิกตาดูซิครับ ปลากระป๋องเอย ผักดองกระป๋องเอย ผลไม้กระป๋องเอย เอาไปประเคนพระหลังเที่ยงไปแล้ว นี่มันเป็นพุทธบัญญัติฉบับไหนกันขอรับ ?

ร้านค้าก็ทำท่าว่าจะหวังดีกับผู้มีศรัทธา อุตส่าห์จัดสินค้าใส่ถังใส่กล่องไว้ให้ ใส่ลงไปทั้งของกินของใช้ แล้วก็ตั้งชื่อเจ้าถังอุตรินี่ว่า ถังสังฆทาน ใครจะถวายสังฆทานถ้าไม่มีเจ้าถังเช่นว่านี้ก็กรอกหูกันเข้าไปว่าไม่เป็นสังฆทาน บางยี่ห้อพิมพ์คำถวายสังฆทานติดไว้ให้เป็นอย่างดี เป็นคำถวายสำเร็จรูปที่ขึ้นต้นว่า อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ … ซึ่งแปลว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายขอถวายภัตตาหาร … บ่ายจวนค่ำ หรือบางทีก็ค่ำมืดไปแล้ว ก็ยังกล่าวคำ ถวายภัตตาหาร หน้าตาเฉย โดยถูกทำให้เข้าใจผิดชนิดกู่ไม่กลับว่ากำลังถวายสังฆทาน

เป็นเล่ห์เหลี่ยมทางการค้าที่ประกอบไปด้วยความโง่เขลาโดยแท้

ผมขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า เมื่อจะถวายสังฆทาน อย่าไปคำนึงถึงถังเหลืองถังแดงเป็นอันขาด ขอให้คำนึงเฉพาะกระเป๋าของเราว่ามีกำลังทรัพย์อยู่เท่าไร แล้วไปเลือกซื้อของกินของใช้ตามกำลังทรัพย์ มีเท่าไรก็เท่านั้น

ข้าวผัดห่อเดียวก็ถวายสังฆทานได้ครับ ขอยืนยันพันเปอร์เซ็นต์

ของที่ใส่ไว้ในถังนั่นน่ะเรารู้ไม่ได้ว่าหมดอายุหรือยัง หรือใส่ไว้ตั้งแต่ชาติไหน แล้วก็เลือกไม่ได้ด้วย เท่ากับเป็นการบังคับขายนั่นเอง ยิ่งที่เอาไปตั้งหมุนเวียนถวายซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ตามวัดต่างๆ นั่นยิ่งเลอะเทอะเป็นที่สุด ควรจะเลิกทำกันเสียที

ถ้าอยากจะหาเงินเข้าวัดก็เอากันตรงๆ เลย คือเอาเงินนั่นแหละครับถวายเป็นสังฆทาน ขอยืนยันครับว่า ทานคือการบริจาคทรัพย์ เงินก็คือทรัพย์ที่สามารถบริจาคเป็นสังฆทานได้ หาซื้ออะไรไม่ทันหรือไม่สะดวก ก็เอาเงินนั่นแหละถวายเป็นสังฆทาน ข้อสำคัญต้องตั้งเจตนาให้ถูกต้องว่าจะถวายเงินนั้นเป็นของสงฆ์คือเป็นของกลาง หรือถวายเข้าวัด ไม่ใช่ถวายเข้าย่ามพระที่มารับหรือเข้ากระเป๋ากรรมการวัด

และข้อสำคัญที่สุดก็คือ พระสงฆ์ที่รับสังฆทานต้องมีความรู้ที่ถูกต้องว่าของฉันของใช้หรือปัจจัยที่เขาถวายเป็นสังฆทานนั้นจะหิ้วเข้ากุฏิเป็นของส่วนตัวไม่ได้ แต่จะต้องเอาไปเข้ากองกลางของสงฆ์หรือต้องให้สงฆ์ลงมติว่าจะแบ่งสรรปันส่วนกันอย่างไรหรือจะนำไปทำอะไรอย่างไร

ถ้าจะถามว่า พระภิกษุผู้รับสังฆทานก็ดี วัดต่างๆก็ดี ได้ทำตามหลักการที่ว่านี้กันหรือเปล่า ตรงนี้แหละครับที่น่ากลัวมาก ไม่รู้ว่าพากันตกนรกไปแล้วบ้างหรือเปล่าโทษฐานเอาของสงฆ์ไปเป็นของส่วนตัว



ผมบอกไปแล้วว่า เมื่อจะถวายสังฆทานขออย่าได้คิดถึงถังเหลืองถังแดงที่เรียกกันผิดๆว่า ถังสังฆทาน หรือชุดสังฆทาน ที่ร้านค้าจัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีศรัทธา

ตอนนี้จะขออธิบายว่า ทำไมจึงว่าถังสังฆทานนั้นเรียกกันผิดๆ

คำตอบก็คือ ไม่มีถังหรือไม่มีของอะไรทั้งนั้นที่จะเรียกได้ว่า สังฆทาน ทั้งนี้เพราะคำว่า สังฆทาน นั้นไม่ใช่ชื่อสิ่งของอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นชื่อ “เจตนาที่จะถวาย” ซึ่งมีอยู่เพียง ๒ ลักษณะ คือ เจตนาที่จะถวายเป็นของส่วนตัว เรียกว่า ปาฏิบุคลิกทาน และ เจตนาที่จะถวายเป็นของส่วนรวม เรียกว่า สังฆทาน

สังฆะ แปลว่า หมู่ กลุ่ม ก็หมายถึงส่วนรวม นั่นเอง

ทาน แปลว่า ให้

สังฆทาน จึงแปลว่า ให้แก่ส่วนรวม ตรงตัว ไม่มีอะไรซับซ้อน

ให้อะไรแก่ส่วนรวม สิ่งที่ให้นั้นก็เป็นสังฆทาน ให้อาหารแก่ส่วนรวม อาหารก็เป็นสังฆทาน ให้เครื่องนุ่งห่มแก่ส่วนรวม เครื่องนุ่งห่มก็เป็นสังฆทาน ให้ยารักษาโรคแก่ส่วนรวม ยารักษาโรคก็เป็นสังฆทาน ให้ที่อยู่อาศัยแก่ส่วนรวม ที่อยู่อาศัยก็เป็นสังฆทาน

จึงไม่มีของสิ่งใดโดยเฉพาะที่จะเรียกชื่อว่าสังฆทาน ไม่ว่าจะเป็นถังเหลืองถังแดงอะไรทั้งสิ้น ขอให้เลิกโง่กันเสียทีเถอะขอรับ

เพราะฉะนั้น เมื่อใดก็ตามที่คิดจะถวายสังฆทาน สิ่งแรกที่ท่านจะต้องคิดให้ถูกต้องก็คือ ท่านต้องการจะให้อะไรสักอย่างหนึ่งแก่ส่วนรวม คือตั้งเจตนาว่าท่านจะให้ของสิ่งนั้นแก่ส่วนรวม ให้เป็นของส่วนกลาง ให้เพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ ให้โดยตั้งเจตนาให้เป็นของสงฆ์ และให้โดยมุ่งจะบูชาพระอริยสงฆ์ คือพระสังฆรัตนะ ต้องตั้งเจตนาอย่างนี้เป็นเบื้องต้น จึงจะเป็นสังฆทาน

ต่อจากนั้น จึงค่อยประมาณกำลังของตัวเองว่ามีของอยู่เท่าไร มีกำลังทรัพย์อยู่เท่าไร แล้วทำไปตามกำลังทรัพย์ที่มี ข้าวผัดห่อเดียวก็เป็นสังฆทานได้ถ้าท่านตั้งเจตนาที่จะถวายข้าวผัดห่อนั้นให้เป็นของสงฆ์

แต่โดยนัยตรงกันข้าม แม้ท่านจะจะซื้อถังเหลืองเป็นร้อยเป็นพันชุด แต่ตั้งเจตนาถวายหลวงพ่อองค์นั้น หลวงปู่องค์โน้น ท่านเจ้าคุณองค์นี้ ท่านมหาองค์โน้น อย่างนี้ก็เป็นสังฆทานไปไม่ได้เลย ความจริงแล้วท่านถูกร้านค้าหลอกขายของให้ท่านนั่นเอง แล้วอาจจะถูกหลวงพ่อหลวงปู่ท่านเจ้าคุณท่านมหาหลอกเข้าให้อีกว่า ท่านถวายสังฆทาน ทั้งๆ ที่ของที่ท่านถวายนั้นเป็นปาฏิบุคลิกทานไปแล้วตั้งแต่เริ่มตั้งเจตนา

สังฆทานต้องไม่เจาะจงพระสงฆ์รูปไหนๆ ทั้งสิ้น และถ้าจะให้หนักแน่นยิ่งขึ้นก็ไม่ควรเจาะจงวัดไหนๆ ทั้งสิ้นด้วย ตั้งเจตนาให้เป็นกลางจริงๆ คือมุ่งถวายให้เป็นของสงฆ์ มุ่งให้เป็นประโยชน์แก่สงฆ์ หรือคิดแบบคนโบราณก็ได้ คือตั้งเจตนามุ่งไปถึงพระอริยสงฆ์ สาระของสังฆทานอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่อยู่ที่ถังเหลืองถังแดง

ที่ผมว่าข้าวผัดห่อเดียวก็เป็นสังฆทานได้นั้นไม่ใช่พูดตลกเล่น แต่พูดตามความจริง สมมุติว่าท่านมีศรัทธาจะถวายสังฆทาน แต่มีเงินอยู่เพียงแค่พอซื้อข้าวผัดได้ห่อเดียว ท่านก็สามารถถวายสังฆทานได้อย่างสบายๆ

วิธีทำก็คือ ซื้อข้าวผัดห่อเดียว (เพราะมีตังค์อยู่แค่นั้น) แล้วเข้าไปในวัดใดวัดหนึ่ง แจ้งความประสงค์แก่พระท่านว่าจะถวายสังฆทาน ขอให้พระท่านจัดพระมารับ เมื่อพระมาแล้วท่านก็ทำพิธีถวายโดยตั้งเจตนาถวายข้าวผัดห่อนั้นแก่สงฆ์

เพียงเท่านี้ ข้าวผัดห่อเดียวก็สำเร็จเป็นสังฆทานโดยสมบูรณ์แบบ

ถามว่า ข้าวผัดห่อเดียวนั้นจะไปไหนต่อ ?

ตอบว่า ก็ต้องตกเป็นของสงฆ์ คือเป็นของกลาง พระภิกษุรูปไหนจะถือเอาไปเป็นของส่วนตัวหาได้ไม่

ข้าวผัดห่อเดียวจะเป็นประโยชน์แก่สงฆ์ได้ยังไง ฉันองค์เดียวก็แทบไม่อิ่มอยู่แล้ว ?

คำตอบประเด็นนี้ก็คือ พระที่เป็นผู้รับข้าวผัดห่อเดียวนั้นรับในฐานะเป็นผู้แทนสงฆ์ เมื่อรับแล้วจะต้องนำข้าวผัดห่อนั้นไปเข้าที่ประชุมสงฆ์เพื่อให้สงฆ์พิจารณาว่าจะทำอย่างไรต่อไป สงฆ์มีมติว่าอย่างไร ก็ปฏิบัติไปตามนั้น เช่นสงฆ์อาจลงมติให้ยกข้าวผัดห่อนั้นให้แก่ภิกษุรูปที่เป็นผู้ไปรับมา หรือลงมติให้ถวายแก่เจ้าอาวาส หรือให้ถวายสามเณรน้อยหรือให้แบ่งกันฉันองค์ละคำ ก็แล้วแต่สงฆ์จะตกลงกัน การปฏิบัติตามมติของสงฆ์ถือเป็นเด็ดขาดและเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการถวายสังฆทาน

ผมค่อนข้างแน่ใจว่าการนำของที่มีผู้ถวายเป็นสังฆทานไปเข้าที่ประชุมสงฆ์นี้เกือบจะไม่มีวัดไหนทำกันแล้ว ส่วนมากรับแล้วก็หิ้วเข้ากุฏิ เอาไปเป็นของส่วนตัวฉิบ

ขอกราบเรียนว่าเป็นการผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างร้ายแรงมาก มีโทษเท่ากับกินของสงฆ์ ใช้ของสงฆ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสงฆ์นั่นเอง และผิดเจตนาของผู้ถวายสังฆทานเป็นอย่างยิ่ง

ขอกราบวิงวอนไว้ ณ ที่นี้ว่า วัดต่างๆ จะต้องชี้แจงพระในวัดให้เข้าใจหลักการที่ถูกต้องของการรับสังฆทาน ว่า เมื่อรับแล้วจะเอาไปเป็นของส่วนตัวไม่ได้เด็ดขาด ต้องนำไปเข้าที่ประชุมสงฆ์สถานเดียวเท่านั้น

วิธีปฏิบัติในเรื่องนี้อาจทำได้โดยพระสงฆ์ในวัดนั้นๆ ตกลงกันว่า ให้มี “กองกลาง” ของวัด เมื่อได้ของสังฆทานมาให้นำไปเข้ากองกลางทันทีโดยตั้งเจ้าหน้าที่ไว้รับผิดชอบ ต่อจากนั้นพระเณรรูปไหนต้องการใช้สิ่งของอะไรก็ให้ไปเบิกที่กองกลาง โดยวิธีนี้ของที่รับสังฆทานมาก็จะอำนวยประโยชน์ให้แก่ภิกษุสามเณรทั่วหน้ากัน อันเป็นความมุ่งหมายที่แท้จริงของการถวายสังฆทาน

ส่วนสิ่งของที่เป็นของกิน เช่นกรณีข้าวผัดห่อเดียวที่ว่านั้น ก็ต้องให้สงฆ์ลงมติเป็นรายๆ ไปว่าจะยกให้ใคร หรือจะแบ่งกันอย่างไร หรือจะลงมติยืนไว้เลยก็ได้ว่า อาหารพร้อมกินคือที่ฉันได้เช้าชั่วเที่ยงของวันนั้นให้ตกเป็นของภิกษุรูปที่เป็นผู้รับ ส่วนเครื่องกระป๋องของแห้งทั้งหลายให้เก็บเข้าโรงครัวของวัด จะเอาไปเก็บไว้ในห้องเป็นของส่วนตัวไม่ได้ นอกจากผิดวินัยแล้วยังผิดเจตนาของสังฆทานอีกด้วย

เครื่องกระป๋องของแห้งในโรงครัวนั้น คนครัวจะเป็นผู้ปรุงหุงหาถวายพระเป็นวันๆ ไป ทำได้อย่างนี้ก็จะทั่วถึงกันหมดทั้งวัดสมตามเจตนาของสังฆทาน

ถ้าทุกวัดทำได้อย่างนี้ การถวายสังฆทานก็จะเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักการ ผู้ถวายก็ได้ถวายสังฆทานที่ถูกต้อง ผู้รับก็รับอย่างถูกต้อง ไม่ใช่ทำกันผิดๆ อย่างที่กำลังเป็นไปอยู่ทุกวันนี้



เรื่องถวายสังฆทาน ยังมีประเด็นที่ควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องกันอีกบางประเด็น เช่น

สังฆทานควรถวายเวลาไหน หมายถึงเวลาเช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ เพราะเท่าที่ทำๆ กันนั้น อยากถวายเวลาไหน หรือว่างเวลาไหน ก็ถวายกันเวลานั้น เรียกว่าไม่เลือกเวลา ว่างั้นเถอะ

คำตอบก็คือ ถ้าของที่จะถวายนั้นเป็นของกิน หรือมีของกินรวมอยู่ด้วย เช่นมีข้าว มีแกง มีขนม หรือของกินจำพวกเครื่องกระป๋องของแห้ง อย่างนี้ต้องถวายก่อนเที่ยงเท่านั้น หลังเที่ยงไปแล้วห้ามถวาย เพราะตามวินัยสงฆ์นั้น พระสงฆ์จะรับประเคนของกินหลังเที่ยงวันไปแล้วไม่ได้

แต่ถ้าเป็นของใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก ผ้าสบงจีวร ยาสามัญประจำวัด ร่ม รองเท้า ฯลฯ เหล่านี้ สามารถถวายได้ตลอดเวลา ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นก่อนเที่ยงหรือหลังเที่ยง สะดวกตอนไหนถวายตอนนั้น

ปัญหาที่พบก็คือ ผู้ถวายสังฆทานหิ้วเอาถังเหลืองถังแดงที่พ่อค้าจัดไว้ขาย หรือบางทีก็ทางวัดนั่นเองตั้งเอาไว้ให้คน "เปลี่ยน" (ก็คือซื้อขายนั่นแหละครับ) แล้วก็ในถังนั้นก็มีทั้งของกินของใช้ใส่ปนกันไว้ (ตั้งแต่ชาติไหนก็ไม่มีทางทราบได้ บางทีแกะออกมาแล้วกินไม่ได้ใช้ไม่ได้เพราะหมดอายุไปตั้งแต่ชาติไหนก็ไม่รู้) ของถวายที่มีทั้งของกินของใช้ปนกันอยู่เช่นนี้จะทำยังไง คือจะถวายหลังเที่ยงวันไปแล้วได้หรือไม่ ?

คำตอบที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ของกินของใช้ปนกัน เอาไปถวายสังฆทานหลังเที่ยงวันไปแล้วไม่ได้เด็ดขาด

โปรดอ่านซ้ำอีกหลายๆเที่ยวครับ จะได้หายงง และเลิกประพฤติผิดๆ กันเสียที

ขอย้ำด้วยว่า ของกินไม่ว่าจะเป็นอาหารสำเร็จรูปพร้อมกิน หรือเครื่องกระป๋องของแห้ง จะเอาไปถวายพระหลังเที่ยงวันไปแล้วไม่ได้เด็ดขาด

ถ้าอยากจะถวายใจจะขาด ก็มีวิธีครับ คือแยกของกินออกไปไว้ต่างหาก ไม่ต้องเอามาถวาย เวลาประเคนก็ประเคนเฉพาะของใช้ แต่จำไว้ให้ขึ้นใจเป็นดีที่สุด คือ ถวายสังฆทานหลังเที่ยงวันไปแล้วห้ามถวายของกิน

ปัญหาเรื่องมีของกินปนกับของใช้ แล้วเอาไปถวายหลังเที่ยงนี้จะหมดไปถ้าเราพร้อมใจกันเลิกซื้อถังเหลืองถังแดงที่จัดสำเร็จรูปไว้ แต่ใช้วิธีเลือกซื้อของเป็นชิ้นๆ เป็นอย่างๆ วิธีนี้นอกจากจะได้ของที่ถูกใจ เหมาะแก่กำลังทรัพย์ของเราแล้ว ยังถูกต้องตามหลักพระวินัยอีกด้วย คือไม่ต้องเอาของกินไปถวายพระหลังเที่ยงวัน

ทางร้านค้า ถ้าอยากจะ ขายของด้วยหัวใจของคนรักพระศาสนา ไม่ใช่รักแต่เงินในกระเป๋าลูกค้าอย่างเดียว ผมขอเสนอแนะให้จัดของถวายสังฆทานเป็น ๒ ชนิด คือ ชนิดถวายก่อนเที่ยง มีทั้งของกินของใช้ และชนิดถวายหลังเที่ยง มีเฉพาะของใช้

แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่สนับสนุนให้ใครซื้อของที่จัดไว้สำเร็จรูป ด้วยเหตุผลคือผู้ซื้อไม่มีสิทธิ์เลือกของตามที่ต้องการ และไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าของที่ใส่ถังไว้นั้นจะไม่หมดอายุไปเสียก่อนที่จะขายได้ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเวลานี้ก็คือ ของที่ใส่ถังไว้นั้นแกะออกมาแล้วกินไม่ได้ใช้ไม่ได้เสียเป็นส่วนมาก

ท่านที่ชอบซื้อถังเหลืองถังแดงไปถวายสังฆทานโปรดรับทราบไว้ด้วย



คราวนี้มาถึงประเด็นเรื่องคำถวายสังฆทาน ซึ่งมักจะกล่าวกันแบบผิดๆ ก่อนอื่นโปรดดูคำถวายสังฆทานที่เป็นแบบมาตรฐาน คือที่ใช้กล่าวกันทั่วไป



อิมานิ มะยัง ภันเต / ภัตตานิ / สะปะริวารานิ / ภิกขุสังฆัสสะ / โอโณชะยามะ / สาธุ โ น ภันเต / ภิกขุสังโฆ / อิมานิ / ภัตตานิ / สะปะริวารานิ / ปะฏิคคัณหาตุ / อัมหากัง / ทีฆะรัตตัง / หิตายะ / สุขายะ

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ / ข้าพเจ้าทั้งหลาย / ขอน้อมถวาย / ซึ่งภัตตาหาร / พร้อมทั้งของบริวารทั้งหลายเหล่านี้ / แด่พระภิกษุสงฆ์ / ขอพระภิกษุสงฆ์ / จงรับ / ซึ่งภัตตาหาร / พร้อมทั้งของบริวารทั้งหลายเหล่านี้ /ของข้าพเจ้าทั้งหลาย / เพื่อประโยชน์ / เพื่อความสุข / แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย / ตลอดกาลนานเทอญ



ขอให้สังเกตว่า คำถวายนี้ก็คือ คำถวายภัตตาหาร คือถวายของกินให้แก่พระสงฆ์ คำว่า ภัตตานิ นั้นแปลว่า ภัตตาหาร ภาษาชาวบ้านเรียกว่าของกินครับ

เมื่อเป็นของกิน ก็ต้องถวายก่อนเที่ยง เพราะพระสงฆ์รับถวายของกินได้เฉพาะเช้าถึงเที่ยงเท่านั้น หลังเที่ยงวันไปแล้ว รับถวายของกินไม่ได้ ผิดวินัย

นั่นก็แปลว่า คำถวายสังฆทานข้างต้นนั้นใช้กล่าวเมื่อถวายก่อนเที่ยงเท่านั้น และของที่ถวายนั้นต้องมีภัตตาหาร หรือของกินเป็นหลัก ของอื่นๆ เป็นบริวาร

แต่ท่านเชื่อหรือไม่ว่า แม้จะถวายสังฆทานหลังเที่ยงวันไปแล้ว คนกล่าวคำถวายก็ยังกล่าวคำว่า อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ …. อย่างหน้าตาเฉย

ของถวายก็มีของกินด้วย คำถวายก็กล่าวถวายภัตตาหารด้วย พระสงฆ์ท่านก็รับอย่างหน้าตาเฉยด้วย แต่ขณะนั้นเป็นเวลาหลังเที่ยงวันไปแล้วด้วย

พากันเหยียบย่ำพุทธบัญญัติอย่างไม่รู้ตัว เข้ารกเข้าพงกันไปใหญ่ชนิดกู่แทบจะไม่กลับกันแล้ว



ขอเรียนว่า ถวายสังฆทานหลังเที่ยงวัน นอกจากต้องไม่มีของกินแล้ว คำถวายก็ต้องว่าให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและตามหลักภาษาบาลีอีกด้วย

คำที่ต้องแก้ให้ถูกก็คือคำว่า ภัตตานิ สะปริวารานิ ที่แปลว่า ภัตตาหาร พร้อมทั้งของบริวารทั้งหลาย ต้องแก้เป็น กัปปิยะภัณฑานิ แปลว่า ซึ่งกัปปิยภัณฑ์ทั้งหลาย และไม่ต้องมีคำว่า สะปะริวารานิ เพราะกัปปิยภัณฑ์นั้นไม่ต้องมีอะไรมาเป็นบริวารอีกแล้ว



คำถวายของใช้ให้เป็นสังฆทาน ว่าดังนี้ครับ



อิมานิ มะยัง ภันเต / กัปปิยะภัณฑานิ / ภิกขุสังฆัสสะ / โอโณชะยามะ / สาธุ โ น ภันเต / ภิกขุสังโฆ / อิมานิ / กัปปิยะภัณฑานิ / ปะฏิคคัณหาตุ / อัมหากัง / ทีฆะรัตตัง / หิตายะ / สุขายะ

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ / ข้าพเจ้าทั้งหลาย / ขอน้อมถวาย / ซึ่งกัปปิยภัณฑ์ทั้งหลาย เหล่านี้ / แด่พระภิกษุสงฆ์ / ขอพระภิกษุสงฆ์ / จงรับ / ซึ่งกัปปิยภัณฑ์ทั้งหลาย เหล่านี้ / ของข้าพเจ้าทั้งหลาย / เพื่อประโยชน์ / เพื่อความสุข / แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย / ตลอดกาลนานเทอญ



กัปปิยภัณฑ์ แปลว่า สิ่งของอันสมควรแก่สมณบริโภค คือสิ่งของที่พระสงฆ์สามเณรท่านใช้สอยได้ ไม่ผิดวินัย อันที่จริงคำว่า กัปปิยภัณฑ์ นั้นท่านหมายความรวมไปถึงอาหารด้วย แต่เมื่อเอ่ยคำว่า กัปปิยภัณฑ์ แม้ไม่มีของกินรวมอยู่ด้วย มีแต่ของใช้ ก็ถือว่าถูกต้อง

มีผู้ทำท่าจะรู้ ผูกศัพท์ขึ้นมาใหม่ว่า สังฆะทานิ แทนคำว่า ภัตตานิ และมีผู้ไม่รู้พากันใช้ตามกันไปมาก

คำว่า สังฆะทานิ ไม่มีในภาษาบาลีครับ

มีแต่ สังฆะทานัง แปลว่า ถวายแก่สงฆ์ ถ้าเป็นพหูพจน์ก็เป็น สังฆะทานานิ ไม่ใช่ สังฆะทานิ

แต่แม้จะใช้ว่า สังฆะทานานิ ก็ยังไม่ถูกความหมายอยู่นั่นเอง ดังที่ได้อธิบายมาแล้วว่าไม่มีของอะไรที่จะเรียกชื่อโดยเฉพาะว่า สังฆทาน

คำว่าสังฆทานเป็นชื่อของเจตนาที่จะถวาย หรือให้สิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งแก่สงฆ์ ถวายภัตตาหาร ภัตตาหารก็เป็นสังฆทาน ถวายจีวร จีวรก็เป็นสังฆทาน

พูดให้ชัดๆ ก็คือ ต้องบอกว่าถวายอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นสังฆทาน ไม่ใช่อยู่ๆ ก็บอกว่าถวายสังฆทาน

ใครที่นำถวายสังฆทานโดยใช้คำว่า สังฆะทานานิ นั้นโปรดทราบว่าท่านพูดไม่เป็นภาษา ยิ่ง สังฆะทานิ ด้วยแล้ว ยิ่งผิดซ้ำสอง

โปรดเลิกทำอะไรตามๆ กันไปด้วยความไม่รู้ เสียทีเถอะครับ
credit ของ คนข้างวัด
http://us.mg5.mail.yahoo.com/l.php?u=http%3A%2F%2Fwww.oknation.net%2Fblog%2Fkonkangwat%2F2012%2F07%2F20%2Fentry-1&h=0AQEYCvq3AQFm57TFgoATmRl1svQl2fO-Q-RRGhVyzDapgA&s=1
ถวายสังฆทานให้ถูกวิธี
www.oknation.net
วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตไทย
--

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น