++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อภิธรรม เรื่อง อาจารย์เซนไม่สอนอะไรเลย วันๆ ทำอะไร





นอกจากกิจวัตรตามปกติของมนุษย์แล้ว อาจารย์เซนไม่ได้สอนอะไรเลย แล้วอาจารย์ทำอะไร อย่างนี้ ศิษย์โง่กับอาจารย์เซนก็ไม่ต้องมาเจอกันก็ได้ไม่ใช่หรือ แล้วทำไมศิษย์โง่ยังต้องไปเรียนเซนอีกละ ทำไมต้องไปหาอาจารย์เซนอีกละ ลองอ่านตัวอย่างข้างล่างนี้



เวลา คุณจะก่อไฟ คุณคงไม่สอนไฟใช่ไหมว่าไฟจะต้องไหม้นะ และคุณคงไม่สอนฟืนใช่ไหมว่าฟืนจะต้องถูกไหม้นะ มันไม่จำเป็นต้องสอนธรรมชาติให้ทำหน้าที่ของธรรมชาติใช่ไหม คนเราก็เหมือนกัน มันทุกข์ มันรู้เองแหละว่ามันทุกข์ มันทุกข์มากๆ เข้าถึงจุดหนึ่งก็รู้เองและว่าอยากหลุดพ้นทุกข์ จิตเป็นตัวรู้อยู่แล้ว ทุกคนก็มีจิตรู้อยู่ รู้เองแล้วอยู่ดี ดังนี้จึงไม่มีการต้องสอนให้รู้กันอีก เวลาคุณจะก่อไฟ คุณไม่ได้สอนไฟและฟืนหรอก แต่คุณเอาไฟและฟืนเข้าหากัน จากนั้นมันก็ทำหน้าที่ของมันเองไปตามธรรมชาติไฟก็ทำหน้าที่ไหม้ฟืน ฟืนก็ทำหน้าที่เป็นเชื้อไฟ เหมือนกัน คนเรากิเลสก็ทำหน้าที่เป็นเชื้อฟืน มีทุกข์ทำหน้าที่เป็นไฟเผาผลาญ คนก่อไฟก็เพียงแค่เอากิเลสกับทุกข์มาชนกันให้มันทำหน้าที่ของมันเองอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องมีการสอนกันอีกเลย เพราะธรรมชาติ มันดำเนินของมันเองอยู่แล้ว เป็นไปเองอยู่แล้ว การสอนจะมีไปเพื่ออะไร เพราะธรรมชาติมีเองอยู่เป็นธรรมชาติ มีก็แต่กองฟืนและไฟ ที่ไม่ยอมไหม้มอดกันจนหมด จึงอำพรางธรรมชาตินี้ไว้ ดังนี้ จะว่าคนก่อไฟไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ใช่ แต่คนก่อไฟไม่ได้ทำหน้าที่สอนฟืนและไฟก็เท่านั้น อาจารย์เซนทำอะไร ในเมื่อไม่สอนอะไรเลย อาจารย์เซนก็เหมือนคนก่อไฟนั้น



อาจารย์ เซนเป็นผู้เข้าใจธรรมชาติการดำเนินไปของจิตอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะในผู้ที่จะเข้าสู่การบรรลุธรรม รู้จังหวะที่จะได้, รู้เหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ดังนั้น อาจารย์เซนจึงได้หาวิธีที่เป็นธรรมชาติอย่างที่สุด ที่จะให้ศิษย์โง่ได้เรียนรู้ธรรมชาติ อย่างเป็นธรรมชาติที่ สุดเช่น เมื่อให้ศิษย์ไปผ่าฟืนแล้วเห็นศิษย์เผลอนั่งจะหลับ ก็หาวิธีกระตุ้นให้สติตื่นตัวขึ้น สติของศิษย์ก็กล้าแข็งขึ้น ด้วยการเคาะไม้เท้าให้ศิษย์ตกใจกลัว เป็นต้น ทำให้ศิษย์ต่อสู้กับความง่วงได้มากขึ้น รายละเอียดในการฝึกจิตนี้ เป็นของที่หาไม่ได้ในอาจารย์ท่านอื่น มีเฉพาะในอาจารย์เซนเท่านั้น ที่จะเก็บรายละเอียดในเรื่องจิตและการดำเนินไปของจิตของศิษย์ได้ และหาวิธีเจียระไนจิตของศิษย์ได้อย่างแยบคายโดยไม่ต้องมีการสอนเลย เนื่องจากบางครั้ง จิตของคนแต่ละคน ไม่อาจก้าวหน้าทางธรรมได้ดีด้วยวิธีการเดียวกัน การให้ทำสมาธิแบบเดียวกันทั้งหมด ในห้องทำสมาธิ ก็อาจไม่ได้ผลดีที่สุดเสมอไป แต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันโดยธรรมชาติ และควรได้รับการกระตุ้นด้วยธรรมชาติที่ต่างชนิดกันไปตามวาระที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงเซนไร้รูปแบบ แต่เป็นไปได้ในทุกรูปแบบ      



ดังนั้น ไม่ใช่ว่าอาจารย์เซนจะไม่ช่วยให้จิตวิญญาณของศิษย์พัฒนาขึ้น ก็หาไม่ แต่ท่านช่วยในแบบที่ “ไม่ใช่การสอน” เช่น ใช้การสั่งแทน สั่งให้ไปทำกิจต่างๆ, ทำงานต่างๆ ก็จะมีอินทรีย์แก่กล้าขึ้นเอง การเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้นเอง โดยไม่ต้องบอกอะไรมาก ซึ่งการสั่งแทนการสอนนี้ เป็นพุทธวิสัยอย่างหนึ่งของพระยูไล ซึ่งท่านนิยมสั่งพระโพธิสัตว์อยู่แล้ว แต่ท่านเห็นพระโพธิสัตว์มีกำลังบารมีเก่ามาก จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสอนเลย ต่างจากกุมารทั้งหลาย ที่ยังต้องการให้สอน ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานสมาธิแบบมหายาน หรือจะเป็นญาณหยั่งรู้ที่สูงขึ้นแบบตันตระยานก็ตาม ศิลปะในการสั่งงานเพื่อพัฒนาจิตวิญญาณของศิษย์อย่างแยบคายนี้ ไม่อาจมีได้ในพระโพธิสัตว์ทั่วไป นั่นหมายความว่าผู้ที่จะถ่าย ทอดเซนได้ต้องบรรลุ “ยูไล” นั่นเอง ศิษย์โง่ไปเรียนเซน มักไม่ได้รับการสอนอะไรเลย แต่จะถูกใช้งานมากมาย ให้ทำสิ่งต่างๆ แม้แต่สิ่งที่ไม่น่าจะมีเหตุผลให้ทำ หรือไม่ใช่สิ่งที่น่าทำเลยก็มี และอาจารย์เซนจะเข้าใจกระบวนการเรียนรู้นี้ทั้งหมด อาจารย์เซนจะรู้อยู่ก่อนแล้วด้วยซ้ำว่าถ้าศิษย์ทำอะไร แล้วจะได้ผลเป็นอย่างไร โดยที่ไม่บอกล่วงหน้า แต่จะปล่อยให้ศิษย์รู้เอง เห็นเอง เป็นวิถีแบบพุทธะ แต่ถ้าศิษย์ไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยตนเองจริงๆ ก็จะช่วยเหลือศิษย์ให้สามารถบรรลุธรรมหรือเข้าใจความนัยต่างๆ ได้ แบบนี้จะทำให้ศิษย์ได้ธรรมต่ำลงมาเหลือเพียง “อรหันตโพธิสัตว์” ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่เป้าหมายแรก

-จบ-

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น