++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ภาษา บัญญัติ นิมิตอนุพยัญชนะ และปัจจุบันธรรม

ภาษา
.....โดยส่วนใหญ่แล้วคำ บางคำของภาษาไทย มักจะมีภาษาบาลี และสันสกฤต ผสมปนกัน เพราะรากศัพท์ของภาษาไทย มาจากภาษาบาลี และสันสกฤต บางคำเราก็ใช้ทับศัพท์ภาษาบาลี

.....ในที่นี้ก็จะพูดถึงบางคำที่เป็นคำไทยใช้กันที่ความหมายไม่ตรงกันกับภาษาบาลีพระไตรปิฏก และภาษาบาลี เป็นภาษาที่เมืองไทยเราใช้ศึกษากันอยู่ในพระไตรปิฏกของหินยาน หรือ นิกายเถรวาทเป็นนิกายหลักของพุทธศาสนาที่คนส่วนใหญ่นับถืออยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน

มีบางคำที่ใคร่ขอนำมากล่าว คือ

-คำว่า "เวทนา" ภาษาไทย ให้ความหมายไปในทางลบ คือ ระทมทุกข์
แต่ภาษาบาลี เวทนา หมายถึง "ความรู้สึก"
ซึ่งหากเป็นไปทางความรู้สึกที่เป็นสุข คือ สุขเวทนา
ซึ่งหากเป็นไปทางความรู้สึกที่เป็นทุกข์ คือ ทุกขเวทนา
ซึ่งหากเป็นไปทางความรู้สึกที่เป็นเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ คือ อทุกขมสุขเวทนา
และคำว่า เวทนา เน้นไปในทางความรู้สึกที่เกิด และดับลงไป ทางร่างกายเป็นสำคัญ

ส่วนความรู้สึกที่เกิดขึ้นทางใจนั้น มักใช้คำบาลีว่า โสมนัส หรือ โทมนัส เป็นสำคัญ
มโน หรือ มนัส ความหมายในภาษาไทย หมายถึง ใจ
;ใจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในอายตนะ ๖ ,อายตนะ ๖ ได้แก่ ตา(จักขุ) หู(โสตะ) จมูก(ฆานะ) ลิ้น(ชิวหา) กาย(กายยะ) ใจ(มโน)

-คำว่า "ทิฏฐิ "ภาษาไทยให้ความหมายไปในทาง ยึดถือข้างความเห็นตนเป็นใหญ่ หรือหัวรั้นไม่ลงให้ใคร เป็นต้น
แต่ภาษาบาลี ทิฏฐิ หมายถึง "ความเห็น" เป็นความหมายที่เป็นกลางๆ
เช่น สัมมาทิฏฐิ มีความหมายว่า ความเห็นที่ถูกต้องตรงต่อสิ่งที่เป็นจริง คือ อริยสัจ๔
;สัมมาทิฏฐิ หนึ่งในองค์มรรค๘ ;มรรค(บาลี) เป็นภาษาไทยคือ ทาง หนทางที่ดำเนินไป
สัมมาทิฏฐิ ในองค์มรรค๘ คือ หนทางที่ดำเนินไปด้วยความเห็นที่ถูกต้องตรงต่อสิ่งที่เป็นจริง คือ อริยสัจ๔ ..เป็นต้น
มิจฉาทิฏฐิ มีความหมายว่า ความเห็นผิดไปจากความเป็นจริง

มานะทิฏฐิ มีความหมายว่า ความเห็นเปรียบเทียบว่าเราดีกว่าเขา, เราเสมอกันกับเขา, เรามีส่วนด้อยกว่าเขา
ซึ่งเป็นกิเลสทุกข์ชนิดนึงที่ละเอียด

-คำว่า "มานะ" ภาษาไทยให้ความหมายไปในทางบวก คือ อุตสาหะ วิริยะ บากบั่น พากเพียร
.....แต่ภาษาธรรมในบาลี มานะ มีความหมายว่า การถือเขาถือเรา มานะทำให้เกิดอัตตา จากที่ไปเปรียบเทียบว่าเราดีกว่าเขา, เราเสมอกันกับเขา, เรามีส่วนด้อยกว่าเขา เป็นกิเลสทุกข์ชนิดนึงที่ละเอียด

-คำว่า "วิญญาณ" ภาษาไทยให้ความหมายไปทาง ภูตผี เทวดา สิ่งมีชีวิตที่ไร้ร่างกาย
แต่ภาษาบาลี วิญญาณ ก็คือ ความรับรู้, ธาตุรู้-วิญญาณธาตุ ซึ่งการรับรู้นี้เกิดขึ้นได้จากช่อง*อายตนะ ๖
.....ทางตา(จักขุวิญญาณ), หู(โสตวิญญาณ), จมูก(ฆานวิญญาณ), ลิ้น(ชิวหาวิญญาณ), กาย(กายะวิญญาณ) และทางใจ(มโนวิญญาณ) เป็นต้น
..... *อายตนะ คือ ตำแหน่งของพื้นที่ในการรับรู้ ของการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การสัมผัสรส การสัมผัสทางร่างกาย การสัมผัสทางใจคืออารมณ์ของสภาวธรรมต่างๆ

..... คำบาลี มีใช้ในชีวิตประจำวันคนไทยและภูมิภาคนี้มานานแล้ว ความหมายจึงอาจกลายจากดั้งเดิมไปบ้าง ซึ่งปัจจุบันทั้งนี้ ไม่ว่าจะใช้บัญญัติสื่อสารระหว่างคนสองคนขึ้นไป จะผิดหรือถูกก็ตาม เพียงขอให้เข้าใจตรงกันถูกคนและถูกที่เป็นใช้ได้

.....ช่วงเวลาอยู่ภายนอกชีวิตประจำวัน เรามีสมมุติบัญญัติที่ใช้ร่วมกันเพื่อการสื่อสารระหว่างกันทั้งเรื่องทั่วไปและเรื่องธรรมะ
เราเรียนรู้สมมุติบัญญัติ และเรียนรู้เพื่อที่จะปล่อยวางสมมุติบัญญัติได้บ้างในบางเวลา
.....เช่น เวลาปฏิบัติเข้าสู่ภายในด้วยสมาธิภาวนานั้น พึงจำเป็นปล่อยวาง และไม่ยึดถือสมมุติบัญญัติและไม่ถืออนุพยัญชนะ ไม่ยึดถือมาเป็นนิมิตเครื่องหมายของสภาวธรรม


บัญญัติ นิมิตอนุพยัญชนะ
..... เมื่อปฏิบัติสมาธิภาวนาช่วงแรกผู้ที่เป็นคนไทยบางท่านบางคน มักสับสน และมักนำบัญญัติภาษาไทยบ้างบาลีบ้าง นำเข้ามาติดกำกับเครื่องหมายป้ายชื่อของสภาวธรรมอยู่เสมอ อาจด้วยความเคยชินจากภายนอกของชีวิตประจำวัน

.....บางทีใช้บัญญัติซ้อนบัญญัติทั้งไทยและทั้งบาลี เพียงเพื่อกำหนดเองรับรองกับตัวเขาเองว่า นี้คืออะไรนั่นใช่ไหม นี่เป็นอะไร กำหนดรับรองความรับรู้ของเขาจากสมมุติบัญญัติที่ได้รับตกแต่งมาจากปัญญาภายนอก

สมมุติว่า "เวลาเราเดินเข้าตู้ ATM เพื่อเบิกถอนเงินสด เราคงไม่ใช้เวลามากกับการอ่านภาษาต่างประเทศ
ที่มีกำกับทั้งอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น หรือพื้นที่บางแห่งมีภาษาพม่าด้วย
บางคนช่างสังเกตศึกษาแรกๆเขาอาจดูเพื่อว่าคำนี้ ภาษาอังกฤษ มีว่าอะไร
แต่นานไปเขาจะช่ำชองไม่ไปเสียเวลากับภาษาอื่นๆ
ซึ่งภาษาเปรียบได้กับการใช้เป็นสัญลักษณ์หนึ่งๆ เพื่อการสื่อสารให้เข้าใจร่วมกัน"


ป้ายที่ติดกำกับทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ปักที่สะพานริมแม่น้ำว่า แม่น้ำปิง(PING RIVER)
แท้จริงแล้วหากไม่ไปปักป้ายชื่อกำกับ แม่น้ำ ก็เป็นเพียงแม่น้ำ , คลอง เป็นเพียงคลอง

ทุกสิ่งในธรรมชาติ ล้วนแล้วแต่เป็นสามัญลักษณะ ..
ร่างกาย และจิตใจทุกคนด้วยเช่นเดียวกัน

..... รวมทั้งสภาวธรรม คือ ความรับรู้ อารมณ์ ความนึกคิด ตลอดจนความรู้สึกชนิดต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเพียงภาวะสั่นสะเทือนของคลื่นชนิดหนึ่งๆ อาการหนึ่งๆ ที่ปัจจุบันเกิดขึ้นนี้ และเป็นปฏิกิริยาตรงอย่างใดอย่างนึงต่อกายและใจเรา ที่มันมีผลไปด้านใดด้านหนึ่ง จะอยู่ได้เพียงช่วงเวลาหนึ่ง แล้วดับสลายไป ...

.....วิธีดำรงจิต เพียงระลึกรู้อยู่กับสภาวธรรมเป็นปัจจุบันขณะของท่านอยู่เสมอ ไม่คาดหวังใดๆ และไม่คลาดเคลื่อนออกจากปัจจุบั
..... สมมุติบัญญัติและอนุพยัญชนะ รู้แล้วปล่อยวางสมมุติบัญญัติ สักแต่รู้ ไม่ยึดถือมาเป็นนิมิตหมายแห่งสภาวธรรม บัญญัติภาษาถูกเพิกถอนสลายตัวมันไปเอง โดยธรรมชาติของปัจจุบันขณะ(ปัจจุบันธรรม)

ปัจจุบันธรรม
การแนบชิดกับธรรมชาติของจิตใจภายในท่านเองเป็นปัจจุบัน(ปัจจุบันธรรม)ทำให้เข้าถึงปรมัตถ์ธรรมได้
สภาวธรรมปรมัตถ์นั้น ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ไม่มีหญิงไม่มีชาย ไม่มีใกล้ไม่มีไกล ไม่มาไม่ไป
ไม่มีสูงไม่มีต่ำ ไม่มีเราไม่มีเขา ไม่มีบัญญัติสมมุติ

สภาวธรรมใดๆที่เกิดขึ้นนั้น ที่เป็นปัจจุบันอยู่ นั้นเป็นสภาวปรมัตถ์ผัสสะ
สติระลึกรู้ เฝ้าสังเกต เพียงปฏิกิริยาอาการเกิดและดับสลายไปเพียงเท่านั้นโดยปราศจากแรงคาดหวังใดๆ
การสร้างเป้าหมายจิตย่อมมีการไป-การมา การสร้างสิ่งใดๆให้ในจิตเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของอัตตา
และอัตตาเหล่านั้น มิสามารถนำไปรู้แจ้งเข้าถึงซึ่งไตรลักษณ์ สุญญตา ตถตา มหาสุญญตาได้

ระลึกรู้ พิจารณาอยู่ในจิตภายใน ปัญญาภายในก็จะเปิดกว้างขยายออกโดยธรรมชาติ

ปรมัตถ์ธรรม การเข้าใจผัสสะ มีอยู่ในปัจจุบันขณะ
สภาวธรรมไม่มีที่ในอดีตหรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง
ดำเนินอยู่กับปัจจุบันขณะ เป็นหนทางเดินไปสู่ความดับทุกข์ รู้แจ้งจากภายใน


ที่มา  http://www.dhammachak.net/board/viewtopic.php?t=832

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น