++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

“ปรัชญาข้าวตก” ไม่จำเป็นต้องเอาทั้งหมด



 



หลายคนอาจจะเคยได้ยินแต่ “ปรัชญารวงข้าว” แต่กับ “ปรัชญาข้าวตก” หลายคนอาจจะเคยได้ยินเป็นครั้งแรกและฟังดูแปลก ๆ ก็แน่นอนครับ เพราะมันเป็นคำที่เพิ่งคิดค้นขึ้นโดยผมเอง ^^!

…ด้วยความที่มาจากครอบครัวที่มีอาชีพชาวนามาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ชีวิตผมจึงผูกพันกับท้องนามาตั้งแต่เด็ก ได้เห็นวิถีของการทำนาแบบเดิม ๆ ทุกปี ทุกปี เริ่มจากช่วงของการเพาะต้นกล้า ไถคราดเพื่อเตรียมดิน ปลูก ดูแลรักษา จนกระทั่งข้าวเหลืองสุกเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งตอนเก็บเกี่ยวนี่ชาวนาตอนสมัยที่ผมเป็นเด็กเล็กเขาจะใช้เคียวเกี่ยวเป็นหลัก เกี่ยวทีละกำ ๆ มีข้าวหล่นบ้าง หลุดมือเกี่ยวไม่หมดบ้าง เมื่อเกี่ยวเสร็จแล้วเขาก็จะปล่อยข้าวทิ้งไว้กับตอฟางข้าวในนาเพื่อปล่อยให้รวงข้าวแห้งสักระยะ จากนั้นจึงนำข้าวที่เกี่ยวแล้วมากองรวมกันไว้เป็นกอง ๆ เพื่อรอการฟาดหรือสีเป็นข้าวเปลือก ซึ่งแต่ละขั้นละตอนก็จะมีเมล็ดข้าวที่ตกหล่นมากบ้างน้อยบ้าง เช่นตอนที่นำข้าวมากองรวมกันก็จะมีเมล็ดข้าวตกหล่นเนื่องจากแรงสั่นสะเทือนตอนแบกหาม ตอนสีบางครั้งก็มีข้าวกระฉอกออกจากกระสอบบ้าง ไม่มีชาวนาคนไหนที่สามารถเก็บเกี่ยวข้าวแล้วนำข้าวออกจากท้องนาของตัวเองได้หมดทุกรวงทุกเมล็ด ตอนเป็นเด็กผมได้เห็น “ข้าวตก” เหล่านี้ก็ตั้งถามสงสัยว่ามันสูญเปล่าไหม แล้วผมก็ได้คำตอบเมือโตขึ้นมาในอีกไม่นานคือไม่เลย ข้าวที่หลุดจากการเก็บเกี่ยวหรือเกี่ยวไม่หมด ก็จะมีชาวนาอีกกลุ่มที่ยากไร้ไม่มีนาเป็นของตัวเองมาเกี่ยวเอาไปเรียกว่าการ “เก็บข้าวตก” ส่วนเมล็ดข่าวที่หล่นบนพื้นนาก็กลายเป็นอาหารของไก่ นก หนูและสัตว์เล็กสัตว์น้อยอื่น ๆ ทุกอย่างมันเกื้อกูลกันหมด

…วิถีชาวนาสอนผมว่า “ของบางอย่างเราอาจไม่ได้มันมาเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์อาจขาดตกไปบ้างระหว่างการเดินทาง ระหว่างกรรมวิธีเพื่อที่จะทำให้ได้มันมา แต่ส่วนที่ตกหล่นไปมันไม่ได้กลายเป็นไร้ค่าเสมอไป มันยังทำประโยชน์ให้คนอื่นหรือสิ่งอื่นได้เสมอ ทุกสิ่ง ทุกอย่างล้วนเกื้อกูลกัน” ซึ่งผมเรียกมันว่า “ปรัชญาข้าวตก” นั่นเอง

…ทุกวันนี้ถึงแม้ผมจะไม่ได้เป็น “ชาวนา” ตามรอยบรรพบุรุษ แต่สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ในวัยเด็กตอนนั้นยังสอนผมได้ดีอยู่เสมอ

…ทุก ๆ ครั้งที่ผมนึกเสียดายสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เงินหล่นหาย แม่ค้าทอนเงินผิด แท็กซี่ไม่มีเศษทอนให้ ของหาย ฯลฯ ผมจะนึกถึง “ปรัชญาข้าวตก” คือ บางสิ่งบางอย่างเราไม่จำเป็นต้องเอาทั้งหมด สละบ้างก็ได้ หยวน ๆ กันไปไม่ถือสา แล้วมันก็ไม่ได้ทำให้เราเดือนร้อนมากมายอะไร เงินที่หล่นหายไปมันอาจช่วยให้ขอทานคนหนึ่งได้มีเงินซื้อข้าวกิน เงินทอนที่ยกให้แท็กซี่ไปมันอาจช่วยให้เขาได้มีเงินไปเลี้ยงดูปากท้องครอบครัว ซึ่งวันนั้นเขาอาจจะไม่ได้ผู้โดยสารเลยก็ได้ ของที่หายไปเราก็ยังหาซื้อใหม่ได้

…นอกสิ่งที่มันขาดไปแล้ว ผมยังใช้ “ปรัชญาข้าวตก” กับสิ่งที่มันเกินมาด้วย ของที่เราได้มาแล้วมันเกินความจำเป็นต่อชีวิตเรา เราก็สละให้คนอื่นหรือบริจาคให้คนอื่นบ้างก็ได้ เช่น ตอนกิจกรรมแลกของขวัญปีใหม่ของแผนกในบริษัทที่ผมทำงานอยู่เมื่อครั้งที่ผ่านมา ผมแลกได้ของขวัญชิ้นหนึ่งเป็นชั้นวางของมันชิ้นใหญ่เกินไปทำให้ผมเอากลับไม่สะดวกเพราะไม่มีรถยนต์ส่วนตัว และคิดแล้วว่าของชิ้นนี้ยังไม่จำเป็นสำหรับเรา ถ้าเอาไปคงรกห้องเปล่า จึงบอกพี่แอดมินที่ออฟฟิศว่าขอบริจาคให้ออฟฟิศ และในวันต่อมาที่ออฟฟิศก็เอาไปทำชั้นวางหนังสือ ของชิ้นนั้นแทนที่จะกลายเป็นของที่เกินความจำเป็นสำหรับเราก็กลับกลายเป็นของที่มีประโยชน์ต่อคนหมู่มากซะอย่างนั้น แล้วเราก็ได้รับคำขอบคุณ ถือเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด แต่ก็รู้สึกภูมิใจอยู่ลึก ๆ

…อาหารที่กินไม่หมดก็ไม่จำเป็นต้องเสียดายพยายามกินให้หมด จะเสียสุขภาพเสียเปล่า ๆ ลองมองออกไปให้กว้างกว่าจานข้าวที่เราทาน …เราจะพบว่าตามข้างทางยังมีสุนัขเร่ร่อนหิวโซตั้งเยอะแยะ ลองเอาไปให้สุนัขเหล่านั้นกินก็ได้ ได้ทำทานด้วย

…เสื้อผ้าที่คับใส่ไม่ได้ก็ไม่ควรจะเสียดายแล้วแขวนไว้ในตู้เสื้อผ้าให้เกะกะเปล่า ๆ แล้วฝันลม ๆ แล้ง ๆ ว่าสักวันจะผอมแล้วกลับมาใส่ได้อีกครั้ง โอกาสความเป็นไปได้คงแค่หนึ่งในร้อย …ตามชนบทยังมีผู้ยากไร้ไม่มีเสื้อผ้าใส่ตั้งเยอะแยะ แล้วก็มีมูลนิธิที่รับบริจาคของไปให้คนเหล่านี้ เช่น มูลนิธิกระจกเงาเป็นต้น ผมว่าลองบริจาคไปบ้างก็ได้นะ เผื่อตู้เสี้อผ้าจะได้มีที่ว่างสำหรับเสื้อผ้าตัวใหม่ ^^

…หนังสือที่กองเป็นตั้ง ๆ แล้วไม่ได้อ่าน ผมว่าลองคัดแล้วส่งไปบริจาคบ้างก็ได้นะ ยังมีเด็กนักเรียนในโรงเรียนยากจนจำนวนมากที่ไม่มีแม้แต่หนังสือจะอ่าน ได้บุญแถมบ้านสะอาดขึ้นอีกต่างหาก …นักอ่านส่วนมากจะหวงหนังสือ ผมเองก็เคยเป็น แต่เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว เพราะผมซื้อหนังสือใหม่เกือบทุกเดือน จนอ่านไม่ทัน แล้วก็โอกาสที่ผมจะมีเวลามาอ่านเล่มเดิมรอบสองนั้นแทบจะไม่มี ดังนั้นผมจะคัดไว้เฉพาะเล่มที่รักมากจริง ๆ เท่านั้น นอกนั้นส่งบริจาคหมด ให้มันไปเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นดีกว่าที่จะกองไว้เฉย ๆ

…และนอกจากนี้ผมยังใช้ “ปรัชญาข้าวตก” กับเงินเงินเดือนที่ผมได้ทุก ๆ เดือน จำได้ไหมครับในบทความ “บริหารเงินน้อยสไตล์อ้ายคำปัน” ผมบอกว่าผมมีบัญชีอยู่บัญชีหนึ่งชื่อว่า “บัญชีการให้” ถ้าใครจำไม่ได้หรือเพิ่งเข้ามาอ่าน “ยิ้มแต้มฝัน” ครั้งแรกลองเข้าไปอ่านที่นี่นะครับ http://www.yimtamphan.com/?p=903 คือ ทุก ๆ เดือนผมจะแบ่งเงินเดือน 5-10 % เข้าบัญชีนี้เพื่อทำบุญ บริจาคทาน หรือบริจาคให้มูลนิธิที่ทำงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือสังคมต่าง ๆ ผมถือว่าเงินที่ได้มาต้องคืนให้กับสังคมส่วนหนึ่ง ไม่จำเป็นที่เราต้องรับไว้เองทั้งหมดครับ เพราะเราใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคมก็ควรคืนให้กับสังคมบ้าง …ถ้าเปรียบ “การให้” เหมือนการลงทุนก็คงเป็นการลงทุนที่เหนือกว่าการลงทุนทั้งหมดครับ เพราะมันคือการลงทุนข้ามชาติ (ข้ามภพ ข้ามชาติ ^^!) …เพื่อน ๆ เชื่อไหมครับแทนที่ผมจะมีเงินเก็บน้อยลงแต่เปล่าเลยครับ มันกลับยิ่งเพิ่มขึ้น พอร์ตหุ้นของผมตอนที่เขียนบทความเมื่อประมาณกลางปีที่แล้วกับตอนนี้โตขึ้นหลายเท่าครั

…มีคนกล่าวไว้ว่า “ยิ่งให้ ยิ่งได้รับ” ครับผมก็เป็นคนหนึ่งที่เชื่ออย่างนั้น

…ทุก ๆ ครั้งที่ผมได้รับใบอนุโมทนาบุญหรือหนังสือขอบคุณจากมูลนิธิ สถาบัน หรือองค์กรที่ผมการบริจาคเงินให้ ผมว่ามันปีตินะ เงินแค่หลักร้อย หลักพันยังสามารถเป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มากได้ …เขาได้รับ เราก็ได้รับ …สุขใจครับ

“บางอย่างไม่จำเป็นต้องเอาทั้งหมด ปล่อยให้มันขาดตกบ้าง ยอมสละบ้างก็ได้
ดุจ “ข้าวตก” บนพื้นนายังประโยชน์ให้สัตว์เล็กสัตว์น้อยได้อิ่มท้องฉันใด 
สิ่งที่มันขาดตกไปก็ยังเป็นประโชน์ให้กับคนอื่นสิ่งอื่นได้ฉันนั้น”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น