++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554

โหวตโนกับกระแสต้านที่รุนแรง โดย อุษณีย์ เอกอุษณีษ์

เหลือเวลาประมาณ 1 เดือน จะถึงการเลือกตั้งทั่วไป 3 กรกฎาคม 2554 ชี้ชะตาประเทศกันอีกครั้งว่าจะเลือกเดินกันไปในหนทางใด ยิ่งใกล้เลือกตั้ง กระแส “โหวตโน” และ “ต้านโหวตโน” ก็ดังกระหึ่มไปพร้อมๆ กันมีสีสันเสียยิ่งกว่าการขับเคี่ยวกันระหว่างพรรคการเมืองกับพรรคการเมืองเสียอีก

มีทั้งที่มาในรูปแบบการข่มขู่ด้วยระเบิด ขโมยป้ายรณรงค์ ใส่ร้ายบิดเบือนหลักการของโหวตโนให้บังเกิดเป็นความเข้าใจผิดในวงกว้าง นักวิชาการ สื่อสารมวลชน บางเจ้ายอมเปลืองเนื้อเปลืองตัวเสียผู้เสียคนออกมาร่วมใส่ร้ายการรณรงค์โหวตโนว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายบ้าง ไม่มีสิทธิที่จะกระทำได้บ้าง ทำแล้วไม่เกิดประโยชน์บ้าง สู้เลือกพรรคที่เลวน้อยในระบบการเมืองยุคปัจจุบันไม่ได้ ทั้งที่ครั้งหนึ่งคนเหล่านี้ก็เป็นหัวขบวน “โหวตโนล้มทักษิณ” แล้วทั้งสิ้น

ทั้งที่ ถ้าจะพิจารณาในแง่รัฐศาสตร์ “การขอให้ประชาชนเลือกพรรคการเมืองที่เลว ซึ่งแม้จะน้อยกว่าพรรคอื่นๆ (จริงหรือไม่ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้)” ก็ล้วนเป็นคำขอที่ขัดต่อหลักการ “สรรหาคนดีมาปกครองบ้านเมือง” และขัดต่อพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง “...การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...” ในทางตรงกันข้าม การยอมจำนนเลือกคนเลวหรือพรรคที่เลวเข้าสภา แม้จะอ้างว่าเลวน้อยกว่า แต่สุดท้ายคนเลวเหล่านี้ก็จะปกป้อง ส่งเสริมสนับสนุน คนเลวด้วยกันให้กระทำย่ำยีบ้านเมือง เพราะล้วนเป็นกลุ่มคนที่คุ้นชินกับการกระทำเลว คอร์รัปชัน ขายชาติขายแผ่นดินทั้งสิ้น

ขณะที่โดยนัยทางกฎหมาย ต้องไม่ลืมว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญบ้านเรา เรียกร้องให้ประชาชนมีหน้าที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เลือกคนดีเป็นตัวแทนของเราเข้าไปปกครองบ้านเมือง หากไม่ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง จะเสียสิทธิทางการเมืองอย่างหนึ่งอย่างใด

เมื่อเป็นการบังคับให้ทำหน้าที่ กฎหมายจึงต้องเปิดช่องให้ประชาชนได้แสดงออกด้วยหากพวกเขาเหล่านั้นได้ออกไปทำหน้าที่ของตนแล้ว แต่ไม่พบตัวเลือกที่ดีให้กับบ้านเมือง กฎหมายจึงกำหนดให้มีช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนในบัตรเลือกตั้ง มิหนำซ้ำ ยังให้ความสำคัญกับคะแนนทุกคะแนนที่กาลงช่องดังกล่าว (ช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน) คือ ให้มีการนับคะแนนโหวตโน และให้ กกต.ต้องมีการประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการด้วยว่า มีผู้ออกมาร่วมกาโหวตโนกันมากแค่ไหน เพราะเท่ากับเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

จริงอยู่ ยุทธการ “โหวตโน” ของประชาชนวันนี้ อาจจะส่งผลกระทบกระเทือนกับพรรคการเมืองอย่างพรรคประชาธิปัตย์มากเป็นพิเศษ จนสร้างความหงุดหงิดให้กับ บรรดาพลพรรคพระแม่ธรณี ไล่ไปถึงทนายความ นักจัดรายการทางโทรทัศน์ ผู้มีความสัมพันธ์แนบแน่นอยู่กับพรรคดังกล่าว เนื่องด้วยกลุ่มคนโหวตโนเหล่านี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ที่ให้โอกาสพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งเมื่อครั้งหลังสุดนี้ก็ตาม

แต่พรรคประชาธิปัตย์เองก็ต้องพึงตระหนักและเข้าใจว่า เมื่อปี 2549 คนกลุ่มนี้เคยผิดหวังกับระบบการเมืองเก่า และระบอบทักษิณจนต้องใช้สิบล้านเสียงโหวตโนเพื่อขับไล่อย่างไร วันนี้เมื่อเขาผิดหวังกับพรรคประชาธิปัตย์ในสภาพเดียวกัน พวกเขาย่อมมีสิทธิที่จะใช้ยุทธวิธีโหวตโนเพื่อแสดงเจตจำนงเดียวกัน โดยปราศจากสองมาตรฐาน

ขณะผลลัพธ์ที่จะเกิดจากการโหวตโน นาทีนี้ผู้เขียนก็ยังไม่เห็นความเสียหายแก่ชาติบ้านเมืองใดๆ ในสถานการณ์ดีที่สุด อาจผลักดันให้เกิดการปฏิรูปได้จริง หากเสียงประชาชนดังกังวานจนนักการเมืองพ่ายแพ้ (แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย สมัยทักษิณยังเคยอ้างว่า ได้เสียง 16 ล้านมากกว่าโหวตโนที่มีแค่ 10 ล้าน ซึ่งนักการเมืองชั่วคนอื่นๆ ก็คงไม่ต่างกัน ไม่สะเทิ้นอายกับเสียงต่อต้านประชาชนง่ายๆ)

สถานการณ์ที่เลวรองลงมาหน่อย คือได้ “ปูก้ามแดง” มาเป็นผู้นำ ผลลัพธ์คือเมืองไทยก็อาจจะมีรัฐบาลสภาพเดิม คอร์รัปชันอัตราเดิมหรือมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ไม่รักชาติเหมือนเดิม แกนนำแดงเริงร่าเหมือนเดิม แต่ที่จะดีหน่อย คือ อาจจะได้ “ฝ่ายค้าน” ที่กลับมาเข้มแข็งขึ้น เพราะคนบางพวกทำงานดีเฉพาะตอนเป็นฝ่ายค้านเท่านั้น

ฉะนั้น นาทีนี้ถ้าจะไปถึงฝันให้ได้ก่อน คือ Scenario แรก ต้องโหวตโนเยอะๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลง ที่เหลือก็ให้ฟ้าลิขิต

ส่วนข้ออ้างที่ว่า โหวตโนเป็นเพียงใบเปิดทางให้คะแนนจัดตั้งที่ชั่วร้ายได้ชัยชนะ ผู้เขียนว่า นาทีนี้ทุกฝ่ายก็มี “คะแนนจัดตั้งที่ชั่วร้าย” ในมือและเตรียมจะใช้เหมือนๆ กันอยู่แล้ว เพราะคะแนนบริสุทธิ์วันนี้ เขาหันหลังให้พรรคการเมืองทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว

ส่วนข้อกล่าวหาว่า โหวตโนครั้งนี้เป็นแค่ “ใบจองท้องถนน” เพื่อจะให้ได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อหลังการเลือกตั้งไม่ให้ขาดตอน ผู้เขียนคิดว่า ข้อกล่าวหาเหล่านี้ ล้วนฟังไม่ขึ้นแต่ประการใด เพราะ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” คือประชาชนผู้รักบ้านรักเมือง จะออกมาเคลื่อนไหวก็ต่อเมื่อบ้านเมืองต้องการพลังภาคประชาชนในการขับเคลื่อนเท่านั้น ส่วนกรณีการเคลื่อนไหวเพราะแพ้เลือกตั้ง ก็คงปล่อยให้ “เสื้อแดง” กับ “พันธมิตรเพื่อประชาธิปัตย์” เขาทำของเขาไปแล้วกัน ว่ามั้ย???

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น