ตลอดระยะเวลาเกือบ 45 ปี ของการดำเนินงานส่งเสริมการลงทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพื่อใช้แรงงานราคาถูก และปราศจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่คนไทย
แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า การลงทุนจากต่างประเทศในไทยนั้น จะมีการถ่ายทอดน้อยบ้างมากบ้าง แต่อย่างน้อยต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแก่คนไทย เนื่องจากบุคลากรในสายการผลิตนั้นเป็นคนไทยแทบทั้งหมด หากไม่ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านนี้แล้ว โรงงานก็ไม่สามารถที่จะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐานและมีต้นทุนต่ำได้
บริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทยเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตยังดำเนินการวิจัยและพัฒนาในระดับหนึ่ง เริ่มต้นจากวิจัยและพัฒนาแบบง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อนมาก เริ่มจากเป็นห้องปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนฝ่ายผลิตก่อน อาทิ
1. ตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์และแก้ปัญหาการผลิตในประเทศไทย จากเดิมเมื่อการผลิตมีปัญหาต้องส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปทดสอบยังต่างประเทศและส่งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหา ซึ่งสิ้นเปลืองทั้งค่าใช้จ่ายและสูญเสียเวลาจำนวนมาก ดังนั้น บริษัทจำนวนมากจึงจัดตั้งห้องปฏิบัติการนี้ในประเทศไทย
2. ตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อออกแบบสินค้าที่จะผลิตในประเทศไทย จากเดิมการออกแบบต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้การผลิตมีต้นทุนสูงและมีปัญหาในด้านบริหารห่วงโซ่อุปทาน ที่ต้องสั่งซื้อชิ้นส่วนจากฐานการผลิตที่อยู่ห่างไกล หลายบริษัทจึงจัดตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อออกแบบสินค้าในประเทศไทยเพื่อให้สามารถใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทยได้มากขึ้น รวมถึงศึกษาวิเคราะห์ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทยว่ามีมาตรฐานตามกำหนดหรือไม่
3. การวิจัยเพื่อปรับปรุงและดัดแปลงผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น ตัวอย่างหนึ่ง คือ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ในฐานะบริษัทชั้นนำด้านผลิตภัณฑ์จากโพลียูรีเทน ได้เปิดตัวศูนย์ ไบซิสเต็ม อาเซียน (BaySystem ASEAN) อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2550 ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อให้บริการด้านห้องปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนลูกค้าตามความต้องการที่แตกต่างกันไปของแต่ละผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมภูมิภาคเอเชีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
บริษัท ไทยลิฟต์อินดัสตรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด กับบริษัท Kone Elevators ของประเทศฟินแลนด์ ร่วมกันพัฒนาลิฟต์รุ่น KONE 3000 ซึ่งเป็นลิฟต์ที่ออกแบบเพื่อตลาดเอเชียโดยเฉพาะ โดยบริษัทไทยลิฟต์ผลิตและส่งออกในนาม Kone หลายประเทศในแถบเอเชีย
การรับช่วงผลิตเป็นช่องทางสำคัญ
การที่บริษัทต่างชาติในไทย ต้องซื้อชิ้นส่วนจากบริษัทผู้รับช่วงการผลิตในไทย ก็เป็นอีกรูปแบบที่ก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี เนื่องจากความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่ายไม่ใช่แค่การรับส่งสินค้าและจ่ายเงินเท่านั้น แต่ผู้ว่าจ้างผลิตสินค้าจะเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารด้านการตลาดในประเทศผู้ซื้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรสนิยมของผู้บริโภค แฟชั่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์ ฯลฯ
นอกจากนี้ ผู้ว่าจ้างผลิตยังให้การช่วยเหลือแก่ผู้รับช่วงผลิต ทั้งทางด้านเทคโนโลยี การจัดการ การเงิน โดยบริษัทว่าจ้างผลิตจะส่งวิศวกรของตนเองไปยังโรงงานของบรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วนเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการผลิตรวมถึงแก้ไขจุดบกพร่อง ซึ่งการปรับปรุงเทคโนโลยีและรูปแบบการผลิตจะก่อให้เกิดผลดีต่อผู้รับช่วงผลิตเป็นอย่างมาก
เมื่อรับช่วงผลิตระยะหนึ่งจนเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีมากเพียงพอ หลายบริษัทเริ่มเปลี่ยนการผลิตจากการรับช่วงผลิตแบบ OEM ซึ่งผลิตตามแบบที่ลูกค้ากำหนด เปลี่ยนมาเป็นแบบ ODM เป็นการผลิตชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์โดยออกแบบด้วยตนเอง ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า
การร่วมมือระหว่างบริษัทกับสถาบันการศึกษา
บริษัทจากต่างประเทศยังได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของไทย โดยนำประสบการณ์จริงเกี่ยวกับเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรม มาให้ความรู้ในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาในเชิงลึก อาทิ
บริษัท ซีเกทเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิต Hard Disk Drive ใหญ่ที่สุดในโลกและมีฐานการผลิตขนาดใหญ่ในประเทศไทย ได้ร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นเปิดหลักสูตรเทคโนโลยีหัวอ่าน/เขียน สำหรับนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ระดับปริญญาโท เพื่อพัฒนานักศึกษาให้เข้าใจลึกซึ้งทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ และได้ร่วมพัฒนาหลักสูตรกับคณาจารย์ในสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย รวมทั้งจัดผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหัวอ่านและบันทึกข้อมูลจากฐานการผลิตของซีเกททั่วโลกมาบรรยายสรุปให้นักศึกษาฟังด้วย
บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมมือกับกรมอาชีวศึกษาในการจัดตั้งวิทยาลัยเทคนิคอุตสาหกรรมยานยนต์ งบประมาณการก่อสร้าง 300 ล้านบาท ทั้งการบริจาคที่ดิน 30 ไร่ การก่อสร้างอาคาร และอุปกรณ์การเรียนการสอน ซึ่งนับเป็นสถานศึกษาแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผลิตบุคลากรระดับช่างเทคนิคอุตสาหกรรมยานยนต์โดยมีการฝึกอบรมระยะสั้น เพื่อพัฒนาบุคลากรในสาขาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมรถยนต์ การบริการซ่อมบำรุง การจัดการเกี่ยวกับธุรกิจยานยนต์ทั้งระบบ รวมถึงการฝึกอบรมเทคโนโลยีชั้นสูงด้านยานยนต์
ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2553-8111 หรือที่head@boi.go.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น