++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2553

"ฟ้อนเจิง" การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสาง อ.เมือง จ.พะเยา
เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์


      อบต.บ้านสาง จังหวัดพะเยา มีพื้นที่ทั้งหมด 14,875 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ป่าถึง 10,769 ไร่ สภาพทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม แบ่งเขตการปกครองเป็น 9 หมู่บ้าน มีประชากร 4,665 คน ทั้งหมด 1,552 ครัวเรือน เป็นพื้นที่ อบต.ขนาดเล็กที่สมัครเข้าร่วมโครงการเป็น อบต.นำร่องในการดำเนินการของกองทุนฯ ในรุ่นแรกๆ

      "ประสบการณ์การทำงานในฐานะประธานกรรมการกองทุนฯ เริ่มจากการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเป็น อบต.นำร่อง และได้เข้าไปประชุมรับหลักการจาก สปสช. แล้วนำหลักการมาเผยแพร่ ให้คณะกรรมการร่วมกันเสนอและจัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น" นายก อบต. หรือ ประธานกองทุนฯ กล่าวไว้

      ตำบลบ้านสาง ได้มีการจัดตั้งชมรมสร้างสุขภาพมาตั้งแต่ปี 2547  ซึ่งมีกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มแม่บ้าน รวมถึง อสม.และสถานีอนามัย ร่วมกันผลักดันให้เกิดกิจกรรมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพในชุมชนบ้านสางขึ้น ในระยะแรกก็มีอุปสรรคบ้าง เช่น บางกิจกรรมที่จัดขึ้นไม่เหมาะสมกับ กลุ่มอายุของผู้เข้าร่วม จึงเริ่มมีการปรึกษาหารือเพื่อจัดกิจกรรมที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของคนในชุมชน โดยมี อสม.เป็นแกนนำ


      คนในชุมชนบ้านสางเสนอแนวคิดตรงกันว่า ควรใช้ศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น คือ การฟ้อน มาเป็นกระบวนท่าในการออกกำลังกาย ซึ่ง อสม.ก็เห็นด้วย

      " สาเหตุที่ทำกลุ่มฟ้อนเจิงขึ้นมา เนื่องจากเดิมมีกลุ่มการเต้นแอโรบิก ทางกลุ่มก็ล้มเลิกไป สาเหตุที่ทำจริง คือ จากการทำงานอาชีพหลัก นั่งทำปลาส้มนานๆ จึงคิดหาวิธีการในการผ่อนคลายปวดข้อ กล้ามเนื้อ  โดยตัวเองก็ไปปรึกษาหมอที่สถานีอนามัยว่า มีวิธีอะไรที่จะช่วยลดอาการปวดข้อ หมอเดิมหมอฟ้อนเจิง จึงแนะนำให้ลองตั้งกลุ่มฟ้อนเจิงโดยมีหมอเป็นผู้สาธิตฟ้อนเจิง 16 ท่า แต่ละท่าช่วยลดอาการปวดเมื่อยและเพลิดเพลิน เริ่มจากการทำ 10 คน โดยตัวแทนที่เป็น อสม.ของแต่ละหมู่บ้าน เป็นการส่งเสริมในการดูแลสุขภาพและนำความรู้ที่ได้ไปขยาย ในแต่ละหมู่บ้านที่มีการชักชวนกันมาแบบปากต่อปาก ฟ้อนกันตั้งแต่ 4 โมงถึง 6 โมงเย็น ตอนนี้มีสมาชิกประมาณ 20 กว่าคน มีทั้งกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 20 ขึ้นไป และก็พาลูกหลานมาร่วมฟ้อนด้วย"

      จากนั้นก็เริ่มต้นโดยการตั้งกลุ่มฟ้อนเจิงขึ้น และมีหมอพื้นบ้านเป็นผู้สาธิตการฟ้อนเจิงเพื่อบำบัด มีท่าทั้งหมด 16 ท่าเพื่อลดอาการปวดเมื่อยและทำให้เพลิดเพลิน เมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็จึงทำเป็นโครงการขึ้นมีชื่อว่า "โครงการฟ้อนเจิงเพื่อสุขภาพ"


      จากนั้นคณะกรรมการกองทุนฯ ส่งเจ้าหน้าที่อนามัยไปฝึกอบรมการออกกำลังกายด้วยท่ารำฟ้อนเจิง แล้วกลับมาจัดอบรมให้กับตัวแทนหมู่บ้านอีกที นำโดย อสม. หมู่บ้านละ 5 คน ต่อจากนั้นก็มีการขยายวงกว้างไปสู่ลูกบ้าน หรือ คนในชุมชนแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งก็มีผลตอบรับอย่างดี

     นอกเหนือจากความสำเร็จในเรื่องของการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพแล้วนั้น การที่ประชาชนในชุมชนเห็นความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน มีความเข้าใจ สามารถประสานงานทุกภาคส่วนอย่างลงตัว ก่อให้เกิดผลคือประชาชนมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเกิดความภาคภูมิใจในการที่มีส่วนร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

      ฟ้อนเจิงจะมีกระบวนท่าที่ใช้ในการร่ายรำ มีการขยับตัว ยกแขนยกขา เพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวให้เข้ากับท่วงทำนองของเพลง เมื่อมีการนำศิลปะการฟ้อนเจิงมาประยุกต์ให้เข้ากับการออกกำลังกายแล้ว ที่เข้าถึงคนในชุมชน กลายเป็นกิจกรรมเพื่อสุขภาพยอดนิยมของชาวบ้านสางในที่สุด

      และนี่อาจหมายรวมถึง การสร้างหลักประกันสุขภาพที่สอดคล้องและตรงกับบริบทของคนในชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
พวงผกา คำดี
จันทร์จิรา จันทร์บก
วพบ.พะเยา






ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น