++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2553

มิตรภาพ ความรัก ความหวังและพลังใจ ที่กองทุนฯบึงยี่โถ กรณีศึกษา เทศบาลตำบลบึงยี่โถ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

เรียบเรียงโดย วรุณวาร สว่างโสภากุล


        ใครจะคาดคิดว่า....
        ..วันหนึ่ง แม่บ้านที่มีอาชีพซักรีดจะกลายมาเป็นประธานกลุ่มรักษ์สุขภาพของหมู่บ้าน...
        ....คนที่ใครๆเรียก "อาแปะ" จะผันตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำออกกำลังกาย...
        ..ท่ามกลางชีวิตแบบสังคมเมืองที่อยู่กันแบบตัวใครตัวมัน คนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนจะผูกพันสนิทสนม จนสามารถฝากผีฝากไข้ จัดทัวร์ไปไหว้พระด้วยกันได้
        ..ผู้ป่วยอัมพฤกษ์จะเดินได้อีกครั้ง ด้วยกำลังใจและการดูแลจากกลุ่ม....
           เรื่องไม่คาดคิดเหล่านี้เกิดขึ้นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลยี่โถ
        ที่น่าทึ่งไปกว่านั้น คือ ทั้งหมดเป็นผลมาจากโครงการเล็กๆโครงการหนึ่งที่สนับสนุนโดย กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นของเทศบาลตำบลบึงยี่โถ

            เทศบาลตำบลบึงยี่โถอยู่ในเขตเมือง ประชากรส่วนใหญ่จึงทำงานในบริษัทห้างร้านและโรงงานอุตสาหกรรม สภาพพื้นที่และองค์ประกอบทางกายภาพของเทศบาลตำบลบึงยี่โถไม่ต่างกับเทศบาลตำบลที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองอื่นๆ แต่สิ่งที่แตกต่างและทำให้กองทุนฯของเทศบาลแห่งนี้โดดเด่นกว่าที่อื่น ก็คือ การบริหารจัดการของเทศบาล หัวใจเมตตาของผู้คน และที่สำคัญ วิสัยทัศน์ขององค์กร

        ด้วยวิสัยทัศน์ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน โดยเฉพาะเด็กและชาวบ้าน เทศบาลนี้จึงมีกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมที่ประสบความสำเร็จ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่นี่มีถึง 3 ศูนย์ และเคยได้รับรางวัลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กดีเด่นระดับจังหวัดและระดับชาติ สถานบริการสาธารณสุขก็มีถึง 3 แห่ง มีพยาบาลวิชาชีพที่สำเร็จหลักสูตรเวชปฏิบัติถึง 5 คน การเริ่มกองทุนสุขภาพที่นี่จึงไม่ยากเลย ดังที่นายกเทศมนตรีตำบลบึงยี่โถ กล่าวไว้ในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งหนึ่ง           

        ".. ผมเชื่อว่า กองทุนฯของเราจะดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเรามีปัจจัยด้านบุคลากรค่อนข้างพร้อม หากเปรียบเทียบกับหลายๆพื้นที่ มีส่วนราชการต่างๆของ อบต. ซึ่งจะคอยรับนโยบายต่อ ไม่ว่าจะเป็นส่วนสาธารณสุขที่จะเป็นแกนนำในการดำเนินงาน ส่วนสวัสดิการสังคมที่คอยรับปัญหาและดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ มีกองการศึกษาที่คอยรับช่วงปัญหาของกลุ่มเด็กและเยาวชน...."

         บุคลากรทุกส่วนของเทศบาลตำบลบึงยี่โถ เข้าใจแนวคิดของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ เป็นอย่างดี ตั้งแต่ตัวนายกเทศมนตรีที่มีส่วนร่วมในการร่างแนวทางการจัดตั้งกองทุนฯ มากับ สปสช. ตั้งแต่กองทุนยังไม่เป็นรูปร่าง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกระดับซึ่งถูกส่งไปประชุมกับ สปสช. หลังจากเทศบาลตำบลบึงยี่โถเข้าร่วมในโครงการนำร่องของกองทุนฯ ไปจนถึงข้าราชการเทศบาลทุกหน่วยงานที่ได้รับข่าวประชาสัมพันธ์กองทุนฯ จากการประชุมข้าราชการอยู่เสมอ คนทำงานล้วนมีความรู้ความสามารถ รัก ผูกพัน และภูมิใจในเทศบาลของตน

           ไม่เพียงเท่านั้น ผู้นำเทศบาลตำบล เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร และชาวบ้านต่างมีจิตอาสา พร้อมที่จะเสียสละให้กับส่วนรวม และเห็นดีด้วยกับการกระจายอำนาจ ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมของประชาชน การทำงานก็ประสานกันอย่างดี ทำงานกันแบบบูรณาการ คนทำงานทุกระดับได้รับการพัฒนาและอบรมอย่างต่อเนื่อง
            "..โครงการอบรม อสม.รุ่นคุณสำราญกับรุ่นตัวเองมีเยอะดีมากๆ ช่วยเหลือ ช่วยชีวิต ตั้งแต่ทำคลอดไปจนถึงตาย ปฐมพยาบาล ผายปอด ช่วยหายใจ .." อสม.คนหนึ่งเล่าให้ฟังอย่างภูมิใจ

            นอกจากนี้ เทศบาลยังมีอุปกรณ์เทคโนโลยีและสื่อพร้อมเพรียง ทั้งสถานีวิทยุชุมชน,เว็บไซต์ของเทศบาลและระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ อีกทั้งยังมีรายได้มากพอที่จะจัดงบประมาณสมทบกองทุนฯ การบริหารจัดการงบประมาณกองทุนฯ ก็มีประสิทธิภาพ คล่องตัว โปร่งใส และมีการตรวจสอบโครงการก่อนอนุมัติทุกครั้ง

            รู้ได้ว่าเทศบาลนี้มีต้นทุนอะไรอยู่บ้าง ใครๆคงคาดหวังที่จะเห็นโครงการที่เลิศหรูอลังการจากกองทุนฯ บางยี่โถ
            แต่เปล่าเลย โครงการที่ได้รับการยกย่องให้เป็นโครงการดีเด่น กลับเป็นโครงการเล็กๆของชาวบ้านไม่กี่สิบคน ที่มีเพียงสนามเด็กเล่น ไม้พลอง น้ำสมุนไพร และใจรัก อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

            โครงการ "รักษ์สุขภาพหมู่บ้านฟ้ารังสิต" เกิดขึ้นจากพยาบาลประจำศูนย์สุขภาพของเทศบาลตำบลบางยี่โถไปเล่าเรื่องกองทุนฯ ให้กับแม่บ้านผู้สูงอายุในหมู่บ้านฟัง ชาวบ้านเห็นน่าจะจัดกิจกรรมออกกำลังกาย จึงเขียนโครงการขอทุน โดยมีพยาบาลเป็นที่ปรึกษา สนับสนุนช่วยเหลือ ให้กำลังใจ ส่งเสริม และเป็นพี่เลี้ยงให้ในทุกๆทาง แม้กระทั่งการมองหาประธานกลุ่ม ซึ่งเป็นแม่บ้านรับซักรีดแต่ชอบช่วยเหลือ  รักการออกกำลังกายและชอบเรียนรู้

            เนื่องจากครูผู้สอนรำไม้พลองเป็นพยาบาลเช่นกัน จึงให้คำแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน นอกจากนั้นยังมีบริการเสริม เช่น วัดความดันโลหิต ตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเส้นเลือด โดยชาวบ้านไม่ต้องเสียสตางค์แต่อย่างใด

            การจะทำให้คนเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง ก็ต้องมีกลยุทธกันหน่อย กลยุทธ์ของที่นี่ คือ การเสริมแรงด้วยรางวัล เช่น รางวัลขวัญใจกลุ่มรักษ์สุขภาพสำหรับคนที่มีอัธยาศัยดี รางวัลคนที่น้ำหนักลดมากที่สุด รอบเอวลดมากที่สุด และมีคูปองสะสมแต้ม ทุกครั้งที่มาออกกำลังกายจะได้รับลายเซ็นต์จากพยาบาลและประธานกลุ่ม
            ผลก็คือ หลังจากออกกำลังกายติดต่อกันมา 3 เดือน น้ำหนักที่ทุกคนเคยชั่งไว้และรอบเอวที่ทุกคนเคยวัดไว้ก่อนเข้าโครงการลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผู้สูงอายุรู้สึกแข็งแรงขึ้น รักการออกกำลังกาย และเปลี่ยนมากินอาหารที่เหมาะกับวัยและโรคประจำตัว ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์บางคนกลับมาเดินได้ด้วยกำลังใจและการประคับประคองจากเพื่อนๆในกลุ่ม

            แต่ผลทางกาย ก็ยังไม่น่าชื่นใจเท่ากับผลทางใจ
            จากกลุ่มที่รวมตัวกันเพราะการออกกำลังกาย กลายมาเป็นกลุ่มกัลยาณมิตรที่รัก เข้าใจ ไว้วางใจ ผูกพัน เกื้อกูลดูแลสารทุกข์สุกดิบ และเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน
            จากความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้นที่สนามเด็กเล่นกลางหมู่บ้าน เติบโตไปสู่การจัดทัวร์ไปไหว้พระด้วยกัน
            ผู้สูงอายุที่ถูกมองว่า อยู่ในวัยถดถอย ได้ฟื้นคืนศักยภาพของตนเอง มีเพื่อน มีกิจกรรม มีความสุข เกิดความเชื่อมั่น จนผลัดกันขึ้นมานำกลุ่มออกกำลังกายในวันที่ครูฝึกมาไม่ได้
            เมื่อกลุ่มเข้มแข็ง มีพลัง และดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง พยาบาลผู้ทุ่มเทจึงถอยออกมาเป็นเพียงผู้เข้าร่วมกิจกรรมคนหนึ่ง และแม้เมื่อเงินสนับสนุนของ สปสช.หมดลง โครงการก็ยังอยู่ได้ เพราะสมาชิกช่วยกันลงขันเป็นค่าอาหารว่างและค่าเครื่องดื่มของกลุ่ม กับค่าน้ำมันรถของครูฝึกที่มาสอนต่อด้วยใจ ไม่ยอมรับเงินค่าสอนอีกแล้ว
            นี่คือผลลัพธ์อันประเมินค่ามิได้ของโครงการที่ใช้เงินไปเพียงหมื่นกว่าบาท นับเป็นโครงการที่ตรงตามเป้าประสงค์ในการตั้งกองทุนฯ ของ สปสช. คือ เกิดจากความต้องการของคนในชุมชนเอง ไม่ใช่การรักษาโรค แต่เป็นการป้องกัน ฟื้นฟู และสร้างเสริมสุขภาพ และที่มากกว่านั้นก็คือ ช่วยพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนให้ดูแลซึ่งกันและกันได้
           
            ด้วยความเสียสละ ความรัก มิตรภาพ ความหวัง และพลังใจ อะไรที่ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ ก็เกิดขึ้นแล้ว
            ถ้าใครอยู่แถวธัญบุรี จะแวะไปออกกำลังกายตอนเช้ากับชาวบึงยี่โถก็คงได้รับการต้อนรับด้วยความยินดี

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
นิภา ลีสุคนธ์
ผ่องรัตน์ รัตนไทย
วพบ.กรุงเทพฯ



ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น