++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553

การดูแลสุขภาพแบบยั่งยืน กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลสันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์


        สันปูเลย พื้นที่ทางผ่านก่อนขึ้นสู่จังหวัดทางภาคเหนือของไทย อยู่ในเขตอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ขนาด 19.09 ตารางกิโลเมตร มีหมู่บ้านในความรับผิดชอบทั้งหมด 15 หมู่บ้าน มีผู้นำ อบต. ชื่อ นายมนตรี เดชะปัญ ของผู้นำมีมุมมองว่า การมีสุขภาพที่ดีเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ประชาชนทำสิ่งอื่นต่อไปไม่ได้ และการมีกองทุนฯ นั้นทำให้การทำงานเกี่ยวกับสุขภาพมีความคล่องตัวมากขึ้น  ทำให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองได้มากขึ้นด้วย

        "ปัญหาสุขภาพเกิดจากประชาชน แต่ประชาชนยังชินกับการพึ่งพาเจ้าหน้าที่ เมื่อเจ็บป่วย"
        ประโยคนี้เป็นที่มาของความต้องการในการสร้างกองทุนฯ ให้เกิดความยั่งยืนโดยประชาชน เพราะต้องการสร้างให้ประชาชนมีความรู้ ในการดูแลสุขภาพของตนเองก่อนที่ตนเองจะเจ็บป่วย การไม่ใส่ใจดูแลเรื่องสุขภาพขั้นพื้นฐาน สามารถก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพได้ทั้งสิ้น ดังนั้น หากมีกองทุนฯ ผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงจากกองทุนฯ ก็คือ ประชาชน นั่นเอง

        การทำงานของกองทุนฯ สันปูเลยนั้น เริ่มต้นจากชาวบ้าน การรวบรวมปัญหา เสนอความต้องการของชาวบ้าน ผ่านคณะกรรมการหมู่บ้านจากการทำประชาคม เข้าไปสู่การเสนอโครงการเพื่อพิจารณาจัดทำโครงการตามความต้องการของสมาชิกได้ทั้งหมด 12 โครงการ ซึ่งทั้งหมดครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเด็กวัยเรียน เยาวชน ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ หรือ กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง

        เมื่อมีโครงการที่เกิดจากความต้องการของประชาชนแล้ว การมีส่วนร่วมก็มีมากขึ้น แต่ละโครงการของกองทุนฯ ก็จะมีความต่อเนื่องมากขึ้น แม้นว่าบางโครงการจะไม่มีงบประมาณมาสนับสนุนแล้วก็ตาม ชาวบ้านก็ยังคงดำเนินกิจกรรมนั้นอย่างต่อเนื่อง เพระทราบดีว่ากิจกรรมจากโครงการนั้นมันมีประโยชน์อย่างไร เช่นเดียวกับโครงการหนึ่งที่ถือว่า เป็นโครงการดีเด่นของสันปูเลย คือ โครงการส่งเสริมการออกกำลังกาย

            ในระยะแรก โครงการนี้ใช้งบประมาณจากกองทุนฯ คือ จ้างครูมาสอนเต้นแอโรบิควันละ 200 บาท เมื่องบประมาณหมด ชาวบ้านก็ยังสร้างความต่อเนื่องของโครงการโดยเก็บเงินกันเอง เพื่อจ้างครูสอนเต้นต่อไป โครงการนี้ ทำให้ได้มาซึ่งสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงของชาวบ้านนั่นเอง และสิ่งที่ได้นอกเหนือจากนั้น คือ คนในชุมชนที่ไม่รู้จักกันออกมาเต้นด้วยกัน ทำให้ได้รู้จักกันมากขึ้น

            กองทุนฯ อบต.สันปูเลย มีสิ่งขับเคลื่อนที่ทำให้นำโครงการไปสู่ความสำเร็จหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น วิสัยทัศน์ของผู้นำที่ตัดสินใจเข้าร่วมกองทุนฯ และมองเห็นความสำคัญของกองทุนฯ ว่ามีประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ อสม. ที่ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง และทำงานด้วยความเข้าใจ มีความเสียสละ นอกเวลางานก็ให้เวลาเพื่อพัฒนาชุมชนของตน เพราะต้องการให้คนในชุมชนมีสุขภาพแข็งแรง สุดท้ายคือ การมีส่วนร่วมของประชาชน ตั้งแต่เริ่มต้นหาปัญหา ตั้งความต้องการเป็นโจทย์แล้วแสดงความคิดเห็นให้เป็นผล ร่วมกันตัดสินใจและสุดท้ายร่วมกันเป็นเจ้าของโครงการ

            การประชาสัมพันธ์ที่ดีในโครงการต่างๆที่มีนั้น อบต.สันปูเลยได้ใช้เกือบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทำประชาคม, พบปะพูดคุย, ปรึกษาหารือ ทักทาย, สอบถาม สื่อสารกันโดยตรง ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง หรือการประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายของแต่ละหมู่บ้านเอง รวมไปถึงวารสารต่างๆ ของ อบต.และป้ายประชาสัมพันธ์ที่มีอยู่แล้วตามจุดต่างๆในหมู่บ้าน

            การค้นหาปัญหา ความต้องการ ความคิด การวางแผน ตลอดจนการดำเนินการตามโครงการ บนพื้นฐานความต้องการของประชาชนที่แท้จริงแล้วนั้น จะทำให้เกิดการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง และนั่นคือที่มาของ การสร้างหลักประกันสุขภาพแบบยั่งยืน

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
วราพร วันไชยธนวงศ์
เจนนารา สิทธิเหรียญชัย
อัญชลี นิลเป็ง
จินตนา พรสัมฤทธิ์โชค
สุภาพร อิศรางกูล ณ อยุธยา
วพบ.เชียงใหม่

ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

1 ความคิดเห็น: