++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

จุดเล็กๆบนสวนเขื่อน กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลสวนเขื่อน อ.เมือง จ.แพร่

เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์


            จุดเล็กๆในสังคมที่เราอาจมองข้ามไม่ให้ความสำคัญ อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงตามมาอย่างคาดไม่ถึง และนี่เป็นที่มาของโครงการปลดโซ่ตรวนผู้ป่วยจิตเวช ของตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็น อบต.เดียวของจังหวัดที่เข้าร่วมกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ
            ประกอบกับ นายก อบต.สวนเขื่อนมีมุมมองด้านบวกต่อกองทุนฯ โดยเห็นว่า สุขภาพเป็นความสมบูรณ์ของร่างกาย จิตใจ สังคม เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของประชาชน การส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพ มีความสำคัญยิ่งกว่าการแก้ไขปัญหาสุขภาพ

        ผู้นำสวนเขื่อนตั้งเป้าหมายของการดำเนินงานว่า ชาวบ้านต้องตระหนักถึงความสำคัญด้านสุขภาพ ต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบอย่างทั่วถึง เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับปัญหาความเป็นอยู่มากกว่าจะให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ และนี่จึงเป็นอุปสรรคหนึ่งของการดำเนินโครงการ ซึ่งความคิดตรงข้ามกับผู้นำ เพราะผู้นำคิดว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือความเป็นอยู่เป็นงานทีรองจากงานด้านสุขภาพ


        ดังนั้น จึงมีการสร้างคณะทำงาน โดยการประชาสัมพันธ์รับสมัครผู้ที่จะเป็นตัวแทนหมู่บ้าน อสม. และพัฒนาศักยภาพคณะทำงาน โดยเริ่มต้นจาก การศึกษาดูงานจาก อบต.ที่ประสบความสำเร็จ แล้วสร้างจิตสำนึกด้านสุขภาพให้กับตัวแทน ระดมความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนงานทุกด้านที่สร้างเสริมสุขภาพที่ดีไปสู่ประชาชนทุกกลุ่ม อย่างค่อยเป็นค่อยไป

            ดังเช่น โครงการปลดโซ่ตรวนผู้ป่วยทางจิต ถึงแม้ว่าจะมีผู้ป่วย 3-4 คนในพื้นที่สวนเขื่อน แต่ผู้ป่วยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อครอบครัวและชุมชน ทั้งด้านความรู้สึก ความไม่มันคงปลอดภัยของคนในพื้นที่ หรือ ความเครียดและสุขภาพจิตของคนในครอบครัวเอง

            คณะกรรมการกองทุนฯ เห็นว่า ปัญหาของคนไม่กี่คน สามารถมีผลกระทบเป็นวงกว้าง จากครอบครัวสู่ชุมชนได้ แสดงว่า ปัญหานี้น่าจะเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่ง  ถ้ามีแนวทางแก้ไขที่ชัดเจนก็มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติว่า สามารถทำให้คนในชุมชนรู้สึกมั่นคงปลอดภัยและสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยจิตเวชได้

            การดำเนินงานของโครงการเริ่มจากการศึกษาปัญหา วิเครราะห์ปัญหา แล้วดูว่าต้องการพัฒนาสิ่งใด เมื่อสามารถสรุปได้ก็เริ่มต้นที่ การประชาสัมพันธ์โครงการสู่กลุ่มเป้าหมายให้ทั่วถึง จากนั้นก็ประสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทำความเข้าใจ นัดหมายกับญาติผู้ป่วยและคนในชุมชน นำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลาตามที่แพทย์กำหนด ติดตามผลการดูแลรักษาจนกว่าผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนในชุมชนได้  โดยที่คนในชุมชนเองก็สามารถอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้อย่างไม่ต้องระแวดระวัง

            โครงการนี้ จัดว่า เป็นโครงการเด่นชัดโครงการหนึ่ง ที่ทำให้ชุมชนได้เรียนรู้ว่า

            ถ้าจุดใดจุดหนึ่งในสังคมมีปัญหาเพียงเล็กน้อย ก็ก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาวะของสุขภาพในชุมชนได้ ดังนั้น การให้ความสำคัญกับความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับทุกระบบในชุมชน จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและสร้างเสริมสุขภาพได้อย่างครอบคลุม แล้วการแก้ไขปัญหาสุขภาพในชุมชน ควรให้ความสำคัญกับทุกปัญหา ไม่จำเป็นต้องแก้ไขเฉพาะปัญหาที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นจำนวนมาก

            การแก้ไขปัญหาผู้ป่วยจิตเวชนั้น สำคัญที่สุด คือ ลดรอยประทับที่ว่า ผุ้ป่วยทางจิตเวชเป็นบุคคลที่น่าหวาดกลัว ตัวอย่างของชุมชนสวนเขื่อน ทำให้เรียนรู้ว่า ปัญหาบางปัญหาที่เป็นเพียงจุดเล็กๆ จุดหนึ่งในสังคม หากมองเห็นและตระหนักถึงความจริงจังในการแก้ปัญหาจุดนั้นแล้ว ก็สามารถทำให้จุดใหญ่ๆในสังคมเปลี่ยนแปลงได้
            ใช่หรือไม่ว่า ความมั่นคงทางจิตใจของคนทุกคน คือ หลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืนของสังคมตามมา

ขัอมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
ศรีประไพ อินทร์ชัยเทพ
วลัยลักษณ์ ขันทา
ศิริวรรณ ใบตระกูล
ปานจันทร์ อิ่มหนำ
วาสนา มั่งคั่ง
ดร.พัฒนา นาคทอง
วพบ.ลำปาง


ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น