++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2553

ปราชญ์นักพัฒนา นำพาความเข้มแข็งสู่สุขภาพชุมชน กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลแสนตอ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์

เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์

            แสนตอ พื้นที่ที่สามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งเศรษฐกิจของตำบลได้ เพราะอยู่ใกล้ตัวอำเภอและตลาดสด การคมนาคมระหว่างหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียง สามารถติดต่อกันได้อย่างทั่วถึง มีกลุ่มอาชีพต่างๆในพื้นที่มากมายหลายกลุ่ม บางกลุ่มสามารถพัฒนาสินค้าท้องถิ่นเป็นสินค้าโอท็อปได้ เช่น กลุ่มอาชีพกระเทียมดอง กลุ่มข้าวซ้อมมือ กลุ่มแปรรูปขนมจีน และกลุ่มสุรากลั่นชุมชน

            อาชีพส่วนใหญ่ของคนในชุมชนคือ เกษตรกร ปลูกข้าวโพด ข้าว อ้อย หอมและกระเทียม ตำบลแสนตอ แบ่งออกเป็น 8 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งสิ้น 5,355 คนหรือ 1,626 ครัวเรือน มีสถานีอนามัยอยู่ 1 แห่ง ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 บ้านห้วยไคร้ ซึ่งหมู่ 2 นี้จัดเป็นหมู่บ้านที่โดดเด่นของตำบลแสนตอ เพราะชุมชนหมู่ 2 มีการจัดตั้งศูนย์สาธิตการตลาดมายาวนาน มีการจัดการบริหารที่ก่อให้เกิดกำไร และมีผู้นำที่มีศักยภาพ เป็นพื้นที่ตัวอย่างในการบริหารจัดการในตำบลแสนตออีกด้วย
             มุมมองของผู้นำอย่าง นายก อบต.แสนตอที่ชื่อว่า นายอุทัย ชัยชนะ มีอยู่ว่า

            " มั่นใจในศักยภาพของเจ้าหน้าที่ของตำบลแสนตอว่า จะสามารถดำเนินการกองทุนฯ ได้ เพราะทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร เราก็ได้นำร่องตลอด จุดเด่นอีกอย่างของชุมชนเรา คือ ประชาชนมีความรู้ เหมือนมีปราชญ์ในชุมชน ผู้นำชุมชนเข้มแข็ง ผู้สูงอายุรวมตัวกันดี โดยเฉพาะหมู่ 2"
           
            ความมั่นใจในความเข้มแข็งของชุมชน จากตัวผู้นำนั้น มีผลต่อความกล้าในการดำเนินงานเพราะผู้นำมีความเชื่อในชุมชนว่า คนในชุมชน เป็นคนมีความรู้ความสามารถ และมีภูมิปัญญาในเรื่องต่างๆ มากมาย ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ผู้นำคิดว่าสามารถดึงศักยภาพของคนเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาเรื่องสุขภาพของคนในชุมชนได้แน่นอน

            เสียงจากชาวบ้านตำบลแสนตอ สะท้อนว่า "ในหมู่บ้าน ช่วยกันทำโครงการนี้ให้ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากเรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องของทุกคน ทุกคนเป็นเจ้าของ กรรมการหมู่บ้านก้เข้มแข็ง ผู้นำมีความรู้ ความสามารถ" นี่คือ เสียงของชาวบ้านที่มีความเชื่อมั่นในตัวผู้นำเช่นกัน
            เมื่อทั้งสองฝ่ายมีความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันแล้ว ไม่ว่าจะโครงการใดในตำบลแสนตอ คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้มันผ่านได้ด้วยความสำเร็จ นายก อบต.มีนโยบายด้านสุขภาพที่ชัดเจนว่า
            "สุขภาพดี อย่างอื่นก็จะดีด้วย รักษาสุขภาพดี โรคจะน้อย โรคไม่มี สุขภาพแข็งแรง สร้างสุขภาพคนให้สมบูรณ์แล้วก็จะทำให้การพัฒนาก้าวไกลขึ้น"

            โครงการที่กองทุนฯ ได้จัดทำขึ้นแล้วเห็นว่าดี คือ โครงการตั้งศูนย์ Fitness   ซึ่งถือได้ว่ามาจากความต้องการของคนในชุมชนเอง  เป็นการเสนอความต้องการผ่านคณะกรรมการหมู่บ้านจากการทำประชาคม ผู้เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุวัยเกษียณ และเด็ก เมื่อโครงการผ่านการอนุมัติ ผู้นำชุมชนก็เริ่มดำเนินการตามโครงการโดย เริ่มคัดเลือกสถานที่สำหรับจัดเป็นศูนย์ Fitness  จัดระเบียบในการใช้ศูนย์ ทำการประชาสัมพันธ์ในการใช้บริการฟรี สุดท้ายประเมินผลการดำเนินงาน ซึ่งวัดจากความพอใจของผู้ที่ใช้บริการจากการทำประชาคม หรือ โครงการที่จัดทำสามารถเป็นแบบอย่างให้พื้นที่อื่นดำเนินงานตามหรือไม่

            ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการบริหารกองทุนของ อบต. แสนตอ คือ ความที่เชื่อว่า ตำบลนี้มีคนที่มีความรู้อยู่มาก เปรียบเสมือนมีปราชญ์ในหมู่บ้าน และปราชญ์เหล่านี้สนใจที่จะทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนด้วย ดังนั้น ถือว่าทุนทางสังคมที่ตำบลแสนตออาจจะมี่มากกว่าที่อื่น ประกอบกับวิสัยทัศน์ของผู้นำที่ตัดสินใจเข้าร่วมกองทุนฯ และเปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนฯ มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของโครงการร่วมกัน รวมไปถึงทีมงานที่มีความเข้มแข็ง ทำงานด้วยความเข้าใจ และมีจิตอาสาที่จะพัฒนาชุมชนของตนเอง สุดท้าย คือ การประชาสัมพันธ์โครงการให้ทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นการทำประชาคม การกระจายข่าวผ่านหอกระจายข่าว  ผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการกองทุน หรือ ทำหนังสือเชิญเป็นจดหมายข่าว หรือ การติดป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนประกอบให้งานบรรลุเป้าหมายทั้งสิ้น

            ความเข้มแข็งของชุมชน นำมาซึ่งสุขภาพที่เข้มแข็งของชุมชนแสนตอ ที่สามารถพัฒนาไปข้างหน้าอีกไกลไม่ว่าจะเมื่อไร เพราะชุมชนนี้มรปราชญ์นักพัฒนามากมาย ที่จะทำให้ชุมชนนั้นมีหลักประกันสุขภาพที่มั่นคงเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
ดุจเดือน เขียวเหลือง
สุดารัตน์ ไชยประสิทธิ์
วพบ.อุตรดิตถ์
       

ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น