++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2553

คนหนองหลวงสร้างสุขภาวะ ด้วยการไป คลำคิง กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหลวง กิ่ง อ.เฝ้าไร่ จ.หนองคาย

เรียบเรียงโดย กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์



         เมื่อก่อนเป็นคนสูบบุหรี่จัด แต่ต้องเลิกเพราะเราต้องเป็นผู้นำ ผู้นำต้องทำเป็นตัวอย่าง เดี๋ยวนี้ไม่ต้องกินวิตามิน ไปบริจาคเลือดได้ตั้ง 16-17 ครั้งแล้ว ไม่ค่อยเจ็บค่อยป่วย  เมื่อก่อนไม่สบายบ่อย พอเลิกสูบบุหรี่ก็ดี เพื่อนๆก็ไม่รังเกียจ" นายสมควร พรมเทศ กำนันตำบลหนองหลวง

        ในยามเจ็บไข้ได้ป่วยคนหนองหลวง ต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาลในตัวอำเภอโพนพิสัย ที่ยู่ใกล้ที่สุด ด้วยระยะทาง 20 กิโลเมตร  แนวคิดการพึ่งตนเองด้วยการสร้างระบบสุขภาวะองค์รวมจึงอยู่ในความคิดของคนหนองหลวงมาต่อเนื่องยาวนาน


         ด้วยการมองเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในงานพัฒนา ผู้นำโดยเฉพาะ นายก อบต.หนองหลวง นายณรงค์ แก้วแสนเมือง เป็นผู้หนึ่งที่มีความสนใจในกิจกรรมสร้างหลักประกันสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง จึงสมัครเข้าร่วมโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ และต่อยอดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพชุมชน

        จุดเด่นของการทำงานที่นี่ ถึงแม้ว่าจะมีการคัดสรรค์คณะทำงานเป็นจำนวนมาก เพราะต้องดึงความร่วมมือจากทุกกลุ่ม แต่คณะทำงานล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันและกลายเป็นจุดแข็งของการสร้างการมีส่วนร่วมในการทำงาน ทั้งนี้ เพราะตัวแทนจากแต่ละกลุ่มจะเป็นกระบอกเสียงขยายความเข้าใจและเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

        "ผู้นำ ในตำบลหนองหลวงมีความเข้าอกเข้าใจกันดี ไม่มีความขัดแย้งแบ่งกันเป็นฝักเป็นฝ่ายในเรื่องการบริหารกองทุนฯ คนในชุมชนมีส่วนร่วมคิดร่วมเสนอกิจกรรมและเบิกเงินไปใช้ได้โดยให้ทางสถานีอนามัย เป็นที่ปรึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพ " นายณรงค์ แก้วแสนเมือง นายก อบต.หนองหลวง

        2 โครงการตัวอย่าง อันโดดเด่นในกองทุนฯ ของ อบต.หนองหลวง ได้แก่ โครงการออกกำลังกายทุกวัน และกิจกรรมเชิงป้องกันลูกน้ำยุงลาย จากแนวคิดหลัก 2 ประการ คือ การสร้างเสริมสุขภาพ  (Health Promotion) และการป้องกันโรค

        โครงการพัฒนาเครือข่ายชุมชนออกกำลังกาย โดยชมรมสร้างสุขภาพ ตำบลหนองหลวง ความสำเร็จของโครงการนี้ได้รับการพิสูจน์จากคำยืนยันของผู้เต้นหลายคนซึ่งต้องรับประทานยารักษาโรคเบาหวานเป็นประจำ

        หลังจากที่เต้นแอโรบิคเป็นประจำต่อเนื่องกันทุกวันเป็นระยะเวลาพอสมควร ผู้ป่วยหลายคนไม่ต้องรับประทานยารักษาโรคเบาหวานอีกต่อไป (ตรงกับผลงานวิจัยหลายชิ้นที่ว่า การออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วยให้เซลล์ร่างกาย มี  sensitivity  ต่อ insulin  ดีขึ้น และภาวะ insulin resistance จากภาวะ  aging ลดลง ) นอกจากนี้ การมาเต้นแอโรบิคยังช่วยให้ได้มาพบปะเพื่อนฝูง ร่วมกลุ่มพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกัน ช่วยให้สุขภาพจิตดีของคนกลุ่มนี้ดีขึ้น เป็นอีกผลพลอยได้ที่ตามมา

        "ชมรมสร้างเสริมสุขภาพบ้านรุ่งอรุณก่อตั้งโดยกลุ่มผู้สูงอายุ คนไข้เบาหวาน คนไข้ความดันโลหิตสูง ใช้พื้นที่ใต้ถุนบ้านกำนันเพราะภรรยากำนันเป็นผู้นำชุมชน มีสมาชิกเต้นประมาณ 40 คน เต้นแล้วโรคหาย จิตใจดีขึ้น คนเฒ่าคนแก่ได้มาพบปะพูดคุยกัยคลายเหงาไปตามเรื่อง พวกผู้ชายเขาไม่เต้น เขาว่าเป็นเรื่องของผู้หญิงส่วนมากเขาจะไปจ๊อกกิ้งตอนเช้า" คุณหนูเก ราชสีห์ อสม.บ้านรุ่งอรุณ เล่าอย่างนั้น

         โครงการประกวดหมู่บ้านปลอดลูกน้ำยุงลาย ด้วยสโลแกนที่ว่า "ไม่มีลุกน้ำก็ไม่มียุง" ทำให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จ ด้วยวิธีการประเมินไขว้ บ้านใกล้กันจะประเมินเพื่อนบ้านติดกันในทุกวันศุกร์ โดย อสมง หัวหน้าชุมชน และกลุ่มองค์กรพัฒนาสตรี จะเป็นแกนร่วมประเมิน เจ้าของบ้านจะต้องจัดแหล่งน้ำขังที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ส่วนน้ำใช้ต่างๆในบ้านต้องมีฝาปิด พากพบลูกน้ำที่บ้านใด บ้านนั้นจะถูกปรับในอัตราที่ตกลงกันเอาไว้

         "ทีเแรกเราเน้นงานรณรงค์ ลงไปช่วยกันทำความสะอาดแหล่งน้ำขัง แต่ไม่ได้ผลเพราะไม่มีการติดตามผลต่อเนื่อง หัวหน้าสถานีอนามัยฯ เป็นคนออกความคิด  การกำจัดลูกน้ำแบบประเมินไขว้ เน้นกำจัดลูกน้ำ ทีนี้ละเห็นผล " สมควร พรมเทศ กำนันตำบลหนองหลวง กล่าว

         ความสำเร็จของทั้งสองกิจกรรมนี้เกิดจากการมีส่วนร่วมและประสานประโยชน์จากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง มีผู้นำซึ่งเป็นกรรมการกองทุนฯ และเป็นผู้จัดรายการวิทยุ  FM   ช่วยให้การประชาสัมพันธ์ ทั้งนโยบายและงบประมาณกองทุนฯ ทำให้การสานต่อยอดงานด้านการสร้างหลักประกันสุขภาพฯ เป็นไปโดยง่าย จากที่ฝ่ายสาธารณสุขเคยรับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียวก็มีหลายฝ่ายเข้าร่วม เรื่องที่เคยสำเร็จยากกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น


        งานเชิงรุกทำให้ผลงานก่อรูป ความใกล้ชิดเหล่านี้หรือที่เรียกกัน ในภาษาของคนหนองหลวงว่า "ไปคลำคิง" นั้น เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้การทำงานกองทุนฯ ประสบความสำเร็จนั้นเอง


ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
พิชญ์สินี  มงคลสิริ
วิลาวรรณ อุปรโคตร

ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น