++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2553

ค่ายเยาวชน - คนสร้างสุขภาพ

กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งโป่ง
อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น
เรียบเรียงโดย  วิลาวัลย์ เอื้อวงศ์กูล


        โครงการค่ายเยาวชนสร้างสุขภาพอย่างยั่งยืนเฉลิมพระเกียรติ พระชนมายุ 80 พรรษา ถือเป็นผลงานเด่นอันดับต้นๆ จากทั้งหมด 7 โครงการที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ทุ่งโป่ง และคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ตำบลทุ่งโป่งให้การริเริ่มและสนับสนุนด้วยงบประมาณจากการลงขันของ สปสช. และเงินสมทบจาก อบต.  เพื่อให้ความรุ้เกี่ยวกับการสร้างหลักประกันสุขภาพขั้นพื้นฐาน และสร้างจิตสำนึกในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแก่เยาวชนให้สามารถเป็นแบบอย่างและก้าวสู่การเป็นแกนนำถ่ายทอดความรู้แก่คนในชุมชนต่อไปฃ


      ระยะเวลา 2 วัน 1 คืน ถือว่าน้อยนักเมื่อเทียบกับองค์ความรู้ว่าด้วยสุขภาพที่เยาวชนได้เรียนรู้ นับตั้งแต่เรื่องไข่เลือดออก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  อุบัติเหตุ ยาเสพติด อนามัยสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงหนทางป้องกันอย่างการออกกำลังกาย อาหารปลอดภัย และเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งวิทยากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคัดสรรมาพร้อมกับกิจกรรมกลุ่มที่เน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มวัยรุ่นด้วยกัน เยาวชนที่อยู่ในค่าย ยังได้รับการดูแลเอาใจใส่และการปลูกฝังสิ่งดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน จนทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองของบุตรหลานที่มาเข้าค่ายคลายความกังวลลงไปได้มาก

        จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกของโรงพยาบาลอุบลรัตน์ที่ลดลงตามลำดับ จนปัจจุบันไม่พบว่ามีโรคนี้อยู่ในพื้นที่เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จของค่ายเยาวชนสร้างสุขภาพ เพราะเด็กๆ ในโครงการได้มีส่วนร่วมกำจัดต้นเหตุของโรคอย่างลูกน้ำยุงลายดวยการเลี้ยงปลาหางนกยูงร่วมกับคนในชุมชน

        ความสำเร็จดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงพลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ คืนแก่ท้องถิ่นตนเอง ขอเพียงแต่มีพื้นที่และโอกาสในการทำความดี โดยมีผู้ใหญ่ที่ให้ความเข้าใจและเปิดโอกาสให้เขาเหล่านั้นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม ด้วยการหากิจกรรมที่เหมาะสมกับความสนใจและความถนัดของเด็กและเยาวชน เพราะการสร้างความตระหนักให้เกิดความรัก และหวงแหนในท้องถิ่น จำเป็นต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กด้วยทัศนคติและการมองโลกเชิงบวก เมื่อถึงเวลา พลังสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตัวของเด็กและเยาวชนจะช่วยถักทอให้ท้องถิ่นของพวกเขาน่าอยู่ และยั่งยืนอย่างที่ผู้ใหญ่หลายคนมุ่งหวังอย่างแน่นอน


        เมื่อนั้น ความหมายของคำว่า "สุขภาพ" ที่มากกว่ามิติทางกายและใจจะปรากฏ ตามที่ประชาชนใน อบต.ทุ่งโป่งได้ช่วยกันนิยามไว้ว่า สุขภาพต้องประกอบด้วย 7 ด้าน ต่อไปนี้

  1. การมีจิตใจที่ผ่องใส
  2. การปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
  3. การดูแลตนเอง
  4. การใช้ปุ๋ยชีวภาพ
  5. การปลูกพืชผักรับประทานเอง
  6. การดูแลสิ่งแวดล้อม
  7. การได้รับบริการด้านสุขภาพ

         ปัญหาสุขภาพที่ได้รับการรักษาและป้องกันจึงครอบคลุมในทุกมิติ ตั้งแต่ชีวิตปัจเจกไปจนถึงเรื่องอาหารการกินและสภาพแวดล้อมรอบๆชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพื้นที่ 10 หมู่บ้าน ใน อบต.ทุ่งโป่ง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ โรงงานผลิตเยื่อกระดาษ และโรงงานน้ำตาล ื จากข้อมูลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่รอบๆโรงงาน พบว่า บางคนมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ มีอาการไอเรื้อรัง แพ้กลิ่น และมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง ซึ่งล้วนเป็นปัญหาสุขอนามัยของประชาชนในพื้นที่

       ชาวบ้านบางคนไม่กล้าแม้แต่จะรองรับน้ำฝนไว้ดื่มเหมือนเคยปฏิบัติ เพราะกลัวว่าจะมีสารพิษปนเปื้อนตกลงบนหลังคาบ้าน ภวะผิดปกติที่เกิดขึ้นกับสุขภาพของชาวบ้านจึงเป็นการอยู่ร้อนนอนทุกข์/ไปวันๆ ขณะที่ไม่มีใครตอบได้ว่า สาเหตุที่แท้จริงเกิดขึ้นเพราะโรงงานที่อยู่ใกล้เคียงหรือไม่ เพราะจนถึงทุกวันนี้ยังไม่เคยมีหน่วยงานใดเข้ามาตรวจสอบหรือแสดงตนเพื่อรับผิดชอบกับปัยหาที่เกิดขึ้นเลยฃ

        มาตรการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพของบุคคลและชุมชนจึงมิอาจปล่อยให้องค์กรในท้องถิ่นดำเนินการแก้ไขเพียงลำพัง โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพที่เป็นผลกระทบจากสภาพแวดล้อมเป็นพิษ สมควรได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐและหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษอย่างเร่งด่วน เพื่อมิให้อีกหลายชีวิตที่อาศัยอยู่รอบๆโรงงานต้องเผชิญกับสภาวะเสี่ยงยิ่งไปกว่านี้


      อาจเป็นโชคดีของชาวบ้านในตำบลทุ่งโป่งที่มีผู้บริหารอย่าง อบต. ผู้เข้าใจและให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพมายาวนาน เนื่องด้วยในอดีตเขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นสาธารณสุขอำเภอ อบต.แห่งนี้ จึงดำเนินงานด้านสุขภาพมาก่อน เช่น การคัดกรองกลุ่มเสี่ยงจากโรคเบาหวาน มะเร็งปากมดลูก และผู้ป่วยความดันโลหิตสูงซึ่งพบมากในเกือบทุกหมู่บ้าน เมื่อ สปสช. เสนอให้มีโครงการหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น จึงไม่ยากเลยที่จะต่อยอดงานเดิม แถมยังขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ได้มากขึ้น ดังเช่น โครงการค่ายเยาวชนสร้างสุขภาพที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้


        สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ คือ การได้รับความร่วมมืออย่างดีจากชุมชน เพราะสิ่งที่ทำมีแต่จะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย งบประมาณที่ได้รับจากการมีกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบลได้ถูกนำมาใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้โครงการที่ดำเนินมาแล้วก่อนหน้านี้เดินหน้าต่อไปได้ อย่างเช่น โครงการคนไทยไร้พุง ที่มีทีมผู้ให้บริการพร้อมหน้าจากสถานีอนามัยและ อสม. ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการติดตามประเมินผลกลุ่มเป้าหมายในหมู่บ้าน


       ความต่อเนื่องที่ทุกฝ่ายอยากเห็นสามารถก้าวเดินต่อไปได้ ภายใต้การดำเนินการและการบริหารจัดการของคณะกรรมการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพตำบลทุ่งโป่ง ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจาก 3 ภาคส่วน คือ รัฐ ประชาชน และส่วนท้องถิ่น


        เมื่อถามถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จ ที่แม้วันนี้จะยังไม่ถึงขีดสุด ตอบได้ว่า นอกจากความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคนในชุมชน การมีผู้นำที่เข้าใจและพร้อมจะให้ความสำคัญอย่างจริงจังในงานสร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพ กลายเป็นหัวใจที่ขาดไม่ได้สำหรับงานนี้ โดยเฉพาะผู้นำที่มีประสบการณ์งานด้านสุขภาพมาก่อนอย่าง นายก อบต. และผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอประจำพื้นที่ที่ทำให้งานส่งเสริมสุขภาพตำบลทุ่งโป่ง สามารถเดินหน้าและเข้าถึงการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว


        ก้าวต่อไปของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ อบต.ทุ่งโป่ง จึงหมายถึงประสิทธิภาพและการขยายเครือข่ายไปสู่ผู้คนที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความหลากหลายให้เพิ่มขึ้น และย่อมเป็นไปไม่ได้หากไม่ใช่เพราะความร่วมมือ ร่วมใจทั้งจากผู้รับบริการและผู้ให้บริการ เพื่อผลักดันและสานต่อให้กองทุนนี้เป็นหลักประกันสุขภาพที่มั่นคงของประชาชนอย่างแท้จริง

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
ณรงค์ คำอ่อน
เกศินี สราญฤทธิชัย
กันนิษฐา มาเห็ม
พัชรินทร์ เพิ่มยินดี
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น



ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น