++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2553

อบต. 24 ชั่วโมง กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลหัวดง อ.เมือง จ.พิจิตร

เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์

    การบูรณาการเป็นหลักสำคัญในการทำงานพัฒนาของ อบต.หัวดง  เพราะปัญหารากฐานของตำบลนี้คือ ความยากจน ประชากรส่วนใหญ่ทำนาแะเป็นนาที่ต้องเช่าเขาทำ ชาวบ้านตกอยู่ในกับดักของความจน เพราะมีหนี้สินมากมายสุดท้ายต้องขายนาทิ้งเพื่อใช้หนี้ คนรุ่นหนุ่ม-สาวก็เข้ากรุง หางานทำ

        ...ความหวังในการพัฒนาดูจะเลือนรางเหลือเกิน
         แต่ด้วยความมุ่งมั่นของผู้ที่เคยเป็นผู้นำนักศึกษารามคำแหง ค่ายพัฒนาชนบทช่วง 6 ตุลา 2519 นามว่า พิชัย นวลนภาศรี นายก อบต. ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการดำรงชีวิตของชาวบ้าน ก่อนทีจะไปดูแลปัญหารองลงมา

          ประกอบกับอุปนิสัยส่วนตัวที่เป็น นักคิด นักอ่าน นักปฏิบัติการและนักแก้ไขปัญหา จึงไม่ยากที่จะมองเห็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกัน เพื่อจัดทำแผนสุขภาพโดยการวางแผนแบบบูรณาการ การรับรู้ร่วมกันเพื่อให้การพัฒนาเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน

     ตำบลหัวดง มีพื้นที่ 50,401 ตารางกิโลเมตร พื้นที่นี้มีเพียง 6 หมู่บ้าน 938 ครัวเรือน ประชากรทั้งสิ้น 3,523 คน เข้าร่วมในโครงการ โดยระยะแรกผู้นำส่วนใหญ่ยังไม่ชัดเจนนักเกี่ยวกับแนวคิดในการทำงาน แต่เมื่อต่อมามีการพูดคุยกันมากขึ้นในแต่ละภาคส่วนของงาน และได้มีโอกาสไปเรียนรู้จาก อบต.อื่นๆ ก็ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่อย่างที่กล่าวไปคือ "การวางแผนแบบนูรณาการ"

        ในอดีตอาจจะต่างคนต่างทำงาน แต่เมื่อมีการวางแผนสุขภาพแบบบูรณาการแล้ว ก็เกิดการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน โดยแต่ละส่วนจะพูดคุยถึงข้อมูลที่ตนมีอยู่ บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของแต่ละส่วน จะมีการพิจารณาแผนร่วมกัน โดยยึดข้อมูลสุขภาพของประชากรจากสถานีอนามัยในพื้นที่เป็นหลัก


       "ส่วนว่ามันไปแตะกับใคร คนนั้นทำนะครับ ไปแตะกับสถานีอนามัย สถานีอนามัยทำ ไปแตะ อบต. อบต.ทำ เป็นผนบูรณาการเข้าด้วยกัน ไปแตะ อสม. อสม.ทำ" นายก อบต.กล่าวไว้

        ตัวอย่างเช่น โครงการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก  อบต.จะสนับสนุนงบประมาณ ส่วนสถานีอนามัยจะรณรงค์เรื่องการควบคุมป้องกันและให้ความรู้แก่ประชาชน อสม.ช่วยรณรงค์และตรวจนับลูกน้ำยุงลายในท้องที่ บทบาทของประชาชนคือ การช่วยกันดูแลในบ้านของตน

      อบต.ที่มีการวางแผนแบบบูรณาการ จึงทำให้เกิด อบต. 24 ชั่วโมงขึ้น กล่าวคือ ชาวบ้านสามารถมาเขียน เล่า หรือโทรศัพท์ เข้ามาแจ้งปัญหาได้ตลอด 24 ชั่วโมง และอย่างเป็นระบบ โดยภาพรวมคือ ตอนกลางวันเป็น อบต.  ตอนเย็นหลังห้าโมงเย็นเป็นวิทยาลัยชุมชน หรือเปิดการเรียนการสอนภาคค่ำ ที่เปิดโอกาสให้ชาวชุมชนสมัครเข้าเรียน 2 ปีก็ได้ อนุปริญญาตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎ หลักสูตรที่มีอยู่ปัจจุบันคือ หลักสูตรการปกครองส่วนท้องถิ่น หลักสูตรคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และหลักสูตรที่กำลังจะเปิดใหม่ คือ การเรียนเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์อย่างเดียว ส่วนช่วงเวลาสุดท้ายของ อบต.24 ชั่วโมง คือ การกู้ชีพในเวลากลางคืน

       ที่นี่เคยได้รับรางวัลด้านความโปร่งใส เพราะ นายก อบต.เคยกล่าวว่า "จะทำอะไร ให้คอยฟังที่ชาวบ้านเสนอ แล้วนายกฯ ต้องมีความตั้งใจ ซื่อสัตย์สุจริต  มีความรู้ และมีเทคนิคในการบริหาร"
       โดยมีหลักคิดที่ว่า
       " ผมไม่เคยรู้อะไรเลย ...ผมเป็นคนทำงานน้อย แต่ผมเน้นการมีส่วนร่วม เพราะเราต้องทำเพื่อ เราจะไปไม่ใช่จะอยู่ ต้องตั้งระบบ"
         ให้เกียรติยกย่องผู้ร่วมงาน ถ้าเปรียบกับมวย นายก อบต.ท่านว่า
         "ต้องสร้างให้ประชาชนลุกขึ้นมาสู้ ส่วน อบต.เปรียบเป็นเพียงพี่เลี้ยงเท่านั้นเอง"

          และนี่คือปัจจัยแห่งความสำเร็จ ของ อบต.หัวดง ไม่ว่าจะเป็นทุนทางสังคมที่กล่าวกันว่ามันมีอยู่แล้ว หนืทอการมีผู้นำที่ดี รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน นำไปสู่ที่มาของการวางแผนแบบบูรณาการ

       "จัดการน้ำทำนา ปูรากฐานการศึกษา เพื่อพัฒนายั่งยืนหัวดง"
         ไม่รู้ว่าคำพูดนี้ถือว่าเป็นแกนนำหลักทางความคิดหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็ทำให้การทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจและการศึกษาของ อบต.หัวดงนั้น  ได้รับรางวัลต่างๆถึง 5 ปีซ้อน ไม่ว่าจะเป็น รางวัลเกียติคุณด้านความโปร่งใส 2 ปีซ้อน รางวัลการบริหารจัดการที่ดี 4 ปีซ้อน

        ใช่หรือไม่ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากการวางแผนแบบบูรณาการที่ดีของ อบต.ที่ได้ชื่อว่า อบต.24 ชั่วโมง

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
อังคณาพร สอนง่าย
วสส.พิษณุโลก



ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น