++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2553

ปลุกสำนึกรักบ้านเกิด เพื่อสุขภาพที่ยั่งยืน

กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์
เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์

      ที่ราบลุ่มบริเวณสองฝั่งแม่น้ำน่าน บางพื้นที่เป็นชุมชนค่อนข้างหนาแน่น  บางพื้นที่ก็มีผู้คนอาศัยอยู่บางตา แต่ด้วยความสะดวกสบายในเรื่องของการเดินทาง ไม่ว่าจะอยู่ตรงส่วนไหนของหาดสองแคว ชาวบ้านก็สามารถไปมาหาสู่กันได้

      หาดสองแควอยู่ในเขต อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพื้นที่ประมาณ 38 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 4,263 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกข้าว , อ้อยและถั่วเหลือง ส่วนผลไม้ปลูก มะม่วง ส้มโอ และขนุน การเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่เลี้ยงเพื่อจำหน่าย เช่น โคเนื้อ หรือ ไก่พันธุ์ไข่

      คนในชุมชนที่นี่นิยมส่งบุตรหลานเข้าไปเรียนในตัวจังหวัด เป็นสาเหตุให้เยาวชนในพื้นที่ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะรับความเป็นสังคมและวัฒนธรรมแบบสังคมเมือง ดังนั้น โครงการของกอลทุนฯ จึงนำแนวคิดปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิด มาปลูกฝังให้กับเยาวชน เพราะเชื่อว่า เยาวชนเป็นกลุ่มที่ต้องพัฒนาไปเป็นผู้นำหมู่บ้านในอนาคต

      เช่นเดียวกับผู้นำหาดสองแควคนปัจจุบัน ซึ่งมีมุมมองมาตั้งแต่เป็นเยาวชนว่า การปลูกจิตสำนึกนั้นเป็นเรืองที่มีประโยชน์ เพราะตัวท่านเองก็มาจากการเป็นผู้นำเยาวชนมาก่อน ได้รับการปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิดมาจากผู้นำชุมชนรุ่นเก่าๆ ไม่ว่าจะเป็นกำนันหรือเจ้าอาวาส  ทีมีความทุ่มเทให้ชุมชน  มีความเสียสละเพื่อทำให้งานเดินไปข้างหน้า นายก อบต.ท่านนี้ เห็นว่า ควรส่งเสริมเยาวชนในการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการเล่นกีฬาเพื่อออกกำลังกาย และการทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์


      ปลัด อบต.กล่าวไว้ว่า "นายกมีแววเป็นผู้นำมาตั้งแต่เป็นผู้นำเยาวชน" ดังนั้น การทำงานโครงการในหาดสองแควนั้นจะดึงเอาเยาวชนเข้ามาร่วมในการทำงานเป็นส่วนใหญ่ เพื่อสร้างแนวคิดให้กับเยาวชนรักบ้านเกิด  ให้คนชรารู้สึกว่าเด็กสนใจ เอาใจใส่ ก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างคนในชุมชน และเป็นการฟื้นวัฒนธรรมที่ดีงาม เป็นการปลูกฝังให้เด็กเริ่มคิดแล้วมองเป้าเดียวกันกับนายก อบต.


      การทำโครงการในปัจจุบันเปลียนรูปแบบจากการให้คณะกรรมการเป็นผู้เสนอ มาเป็นให้ตัวแทนภาคประชาชนไม่ว่าจะเป็น อสม. เยาวชนที่เข้ามาช่วยงาน รวมไปถึงผู้สูงอายุ ผู้พิการ เป็นผู้เสนอโครงการแทน คณะกรรมการเป็นเพียงผู้พิจารณา โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ตามแนวคิดที่ว่า
      " ร่วมคิด ร่วมเสนอ ร่วมทำ ถ้าคิดคนเดียวจะเหนื่อย ผ่อนแรงในการทำงาน ถ้าชาวบ้านร่วมคิด เขาจะร่วมทำ"

      นั่นคือ วิสัยทัศน์ของนายก อบต. คือ ให้โอกาสให้ทุกคนได้คิด ให้เกียรติกับหน่วยงาน หรือคนที่มาทำงานด้วย นายกฯ เคยกล่าวไว้ว่า
        "ตำแหน่งคือหัวโขน เป็นการแสดงบทบาทหน้าที่ ไม่ต้องยึดตำแหน่ง ชี้แนะ ใช้ทีมตัดสิน ทีมงานเข้มแข็ง ทำงานด้วยความเข้าใจ ทำงานด้วยใจ ด้วยจิตอาสา เพื่อพัฒนาชุมชนของตนเอง และต้องการให้คนในชุมชนมีสุขภาพแข็งแรง"


      โครงการเด่นของหาดสองแควคือ โครงการดูแลคนท้อง เพื่อรับน้อง  สุขภาพดี และโครงการนี้ ผู้ที่เป็นอาสาสมัครในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ ก็คือ ผู้นำเยาวชนนั่นเอง

      อาสาสมัครเหล่านี้ได้รับการฝึกอบรมเรื่องการดูแลสุขภาพ และส่งเสริมสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ ว่าต้องทำอย่างไร เมื่อผ่านการฝึกอบรมแล้ว ก็ต้องออกเยี่ยมเยียน ให้ความรู้พูดคุยกับหญิงตั้งครรภ์  จนกระทั่งคลอดก็ยังต้องไปให้กำลังใจ รวมึถึงให้ความรู้การดูแลหญิงหลังคลอด และการดุแลเด็กแรกเกิด โดยทั้งหมดนี้ผู้นำเยาวชนต้องประสานงานกับ อบต. และสถานีอนามัย ในการทำงานทุกขั้นตอน

      เด็กที่เกดิมาต้องมีสุขภาพดี ไม่เป็นโรค เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรง ไม่ต้องเสียเวลามารักษาโรคหรือซ่อมสุขภาพ การร่วมคิด ร่วมเสนอ ร่วมทำเป็นสิ่งที่ดีเพราะคิดคนเดียวจะเหนื่อย หรือแม้แต่การทำโครงการ ประชาชนต้องได้ประโยชน์จริง "ไม่ใช่ทำเพื่อแปะป้ายถ่ายรูป" แนวคิดเหล่านี้เป็นการปลูกฝังสำนึกรักบ้านเกิด เพราะเยาวชนเป็นกลุ่มที่ต้องพัฒนาไปเป้นผู้นำหมู่บ้านในอนาคต เป็นแนวคิดที่ก่อให้เกิดการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืน ดังคำพูดที่ว่า
       "สร้างสุขภาพถูกกว่าซ่อม และการสร้างสุขภาพมันเกิดขึ้นกับตัวตนของตนเอง ถึงจะใช้เวลานานแต่ก็รู้ที่มาที่ไปของสุขภาพที่ดี เมื่อก่อนเรื่องสุขภาพเป็นของอนามัย แต่เดี๋ยวนี้เรื่องสุขภาพเป็นของทุกคน" นี่คือ ถ้อยคำจากการปลูกสำนึกรักบ้านเกิดเพื่อสุขภาพที่ยั่งยืน

        "สุขภาพเป็นของทุกคน " ใช่หรือไม่ว่า คำนี้คือ  Key word  ที่ช่วยปลูกสำนึกรักบ้านเกิด เพื่อหลักประกันสุขภาพที่มั่นคงและยั่งยืนของชาวหาดสองแคว

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
ดุจเดือน เขียวเหลือง
สุดารัตน์ ไชยประสิทธิ์
วพบ.อุตรดิตถ์


ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น