++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เมื่อขยะกลายเป็นเงินที่โพนงาม


กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์
เรียบเรียงโดย นพรัตน์ จิตรครบุรี

   การพัฒนาชุมชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีสุขภาพอนามัยที่แข็งแรง สมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ชุมชนมีทัศนคติที่ดีงามและมีคุณธรรมให้ยึดถือ ทั้งยังคงศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี เอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นเอาไว้ได้ อาจเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความอยู่ดีมีสุขทั้งสุขภาพกายและใจของคนในชุมชน


      แตที่ อบต.โพนงาม การพัฒนาและการทำงานกองทุนพัฒนาหลักประกันสุขภาพฯ เพือให้เกิดสิ่งดังกล่าวกลับมีปัญหาเมื่อเริ่มต้นการทำงาน ถึงแม้ว่าคนทำงานจะมีความจริงใจและปรารถนาดีก็ตาม นั่นเป็นเพราะว่า
      "ผมว่ามันยังใหม่อยู่ เฮาบ่ฮู้ว่าสิเฮ็ดจังได๋ มันกะทันหันนำ กะต้องเอาผู้นำที่มีอยู่แล้วมาเริ่มดำเนินการก่อน ต้องเอิ้นซุมนี่มาประชุมกันก่อน"
       และต้องประสบกับภาวะการทำงานที่
       "มันกะช้าคือกัน เพราะเฮายังบ่ฮู้ว่าสิเริ่มจังได๋ เฮ็ดจังได๋จะสิถูกระเบียบ สามารถเอาเงินมาดำเนินการได้ คันเฮ็ดบ่ถูกมันกะเอาเงินคืนกะยากอีก ซัวซิเริ่มงานได้กะตั้ง 6 เดือนไปแล้ว" คำกล่าวของคณะกรรมการดำเนินงาน 2 ท่าน

      แต่กระนั้นงานก็ต้องดำเนินต่อไป การจัดทำแผนสุขภาพชุมชนภายใต้หลักการมีส่วนร่วมและยึดชุมชนเป็นศูนย์กลาง การจัดเวทีประชาคมชาวบ้านในพื้นที่เพื่อหาปัญหาและความต้องการจึงเป็นวิธีการทีได้รับการยอมรับ และความร่วมมือจากชาวบ้านมากที่สุด

      การทำเวทีประชาคมจัดโดย อสม.เป็นแกนนำ เจ้าหน้าที่จาก อบต.หรือเจ้าหน้าที่จากสถานีอนามัยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการเขียนโครงการ การทำประชาคมหมู่บ้านจึงช่วยให้ทราบถึงความต้องการของชาวบ้านจริงๆ เนื่องจากการทำประชาคมเป็นการทำประชมคมทุกหมู่บ้านโครงการของแต่ละหมู่บ้านจึงแตกต่างกันออกไป แต่ว่าลักษณะของโครงการจะมีความเกี่ยวเนื่องกับภาวะด้านสุขภาพของชุมชนที่เป็นอยู่ เช่น ในชุมชนมีผู้ป่วยโรคเบาหวานเรื้อรังเป็นจำนวนมาก หญิงตั้งครรภ์ไม่นิยมมาฝากครรภ์ที่สถานีอนามัย เป็นต้น

      โครงการที่เกิดขึ้นโดยการมีรส่วนร่วมของชุมชน ได้แก่ โครงการส่งเสริมการกินอาหารเสริม (นม) สำหรับหญิงมีครรภ์. โครงการจัดซื้อเครื่องตรวจคัดกรองโรคเบาหวานประจำหมู่บ้าน, โครงการจัดตั้งธนาคารขยะ , โครงการอบรมเยาวชน, โครงการส่งเสริมการเลี้ยงดูลูกและผู้พิการ , โครงการแข่งขันกีฬาอนุบาลและโครงการพัฒนาศักยภาพ โครงการที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จอย่างเห็นเป็นรูปธรรม คือ โครงการที่เกิดจากนำโครงการของ อบต.ที่ทำอยู่แล้วมาประสานรวมเข้ากับโครงการที่ชาวบ้านต้องการและที่ สปสช สนับสนุนงบประมาณ คือ โครงการธนาคารขยะชุมชน ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน โดยการพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้สะอาด น่าอยู่ กำจัดสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษต่อสุขภาพ ด้วยการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี มีการแยกขยะ และมีการสร้างมูลค่าจากขยะ โดยการแยกขายขยะในส่วนที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานในด้านต่างๆ เช่น การรับซื้อขยะ การเก็บรักษาและดูแลขยะ การจัดทำสมุดฝากธนาคาร การทำบัญชีรายรัยรายจ่าย เป็นต้น

      ทั้งนี้ได้มอบให้โรงเรียนในเขต อบต.ที่มีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการ เป็นผู้รับผิดชอบ มีโรงเรียนในพื้นที่ทั้งหมด 5 แห่ง แต่มีโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนนำร่องในการดำเนินโครงการ 1 แห่ง เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่และมีความพร้อมในการดำเนินงาน และมีพื้นที่ในการจัดตั้งธนาคารขยะ


      การรับซื้อขยะ ทางโรงเรียนได้เปิดโอกาสให้นักเรียนอาสาสมัครเข้ามาทำช่วงละ 2คน โดยจะมีการรับซื้อขยะทุกวันจันทร์ 2 ช่วงเวลาคือ 7.00-7.30 น. และ 15.30-16.00 น. และนักเรียนที่ทำหน้าที่ในการรับซื้อขยะ จะได้รับเงินค่าตอบแทนในการทำงาน


      จากผลการดำเนินโครงการนอกจากจะเป็นการช่วยลดการทำลายมลพิษทางสิ่งแวดล้อมแล้ว การดึงนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมยังทำให้นักเรียนได้รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ฝึกระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ  สามารถนำความรู้จากสิ่งที่เรียนมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมได้จริง อีกทั้งยังเป็นการสอนให้เยาวชนรู้จักประหยัด อดออม เรียนรู้วิธีการเพิ่มพูนรายได้และการทำประโยชน์ให้กับสังคมอีกด้วย


      การทำงานส่งเสริมสุขภาพชุมชน ความร่วมมือจากสมาชิกเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยทำให้โครงการประสบความสำเร็จ รวมถึงแนวคิดคนทำงานโดยเฉพาะผู้นำชุมชน
      "เรื่องของท้องถิ่นเป็นการบริหารจัดการภายในที่ต้องรับผิดชอบดูแลจัดการกันเอง เรื่องต่างๆที่เป็นของประชาชน ท้องถิ่นต้องดูแลต้องทำอยู่แล้ว อุปสรรคที่พบคือ วิธีคิดในเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชน ต้องไม่ให้คิดเรื่องเงินเป็นเรื่องใหญ่ สุขภาพดีต้องมีวัฒนธรรมที่ดีรวมกับมีวิชาการที่ดี คือ มีความรู้ " นายก อบต.โพนทอง

      เรื่องของการดำเนินงานนั้น การจัดระบบบริการสุขภาพของประชาชน จำเป็นอย่างยิ่งที่เบื้องต้นต้องได้รับการสนับสนุนจากองค์กรของรัฐ  ไม่เพียงแต่การอนุมัติงบประมาณมาให้กับพื้นที่ แต่ในระยะแรกจำเป็นต้องให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดำเนินงานด้วย โดยเฉพาะในระยะแรกของการทำงานที่ อบต.ยังไม่เคยเรียนรู้ในการดำเนินงานมาก่อน และด้วยระเบียบหรือเงื่อนไขต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานอาจมีความซับซ้อนยากแก่การเข้าใจ


      การดำเนินโครงการโดยใช้หลักการบูรณาการ ถือ เป็นการดำเนินการที่ช่วยลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายและที่สำคัญก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินงานทุกฝ่าย ช่วยส่งเสริมให้คนในชุมชนเข้าใจการดำเนินงานอย่างเป็นองค์รวม และยังช่วยพัฒนาศักยภาพของทีมงานในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพราะการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จะส่งผลให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล


ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
เกศินิ สราญฤทธิชัย
กันนิษฐา มาเห็ม
พัชรินทร์ เพิ่มยินดี
ณรงค์ คำอ่อน
วพบ.ขอนแก่น

ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น