++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2552

"กระดูกพรุน" รู้เท่าทัน ป้องกันได้

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 23 พฤศจิกายน 2552 17:18 น.

ปัจจุบันนี้จะได้ยินคำว่า "กระดูกพรุน" มักจะเป็นคำที่ได้ยินกันเสมอๆ ผ่านทางสื่อต่างๆไม่ว่าจะเป็นสื่อโฆษณาตลอดจนผ่านรายการโทรทัศน์หรือวิทยุ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพหากเด็กและเยาวชนรวมไปถึงผู้ใหญ่วัยทำงานมักจะ มองว่าเป็นเรื่องไกลตัวด้วยสุขภาพยังแข็งแรงสภาพร่างกายยังสมบูรณ์หลายคนมอง ว่า"กระดูก พรุน" เป็นภาวะที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับตัวเองได้ เพราะ ณ วันนี้ร่างกายยังกระฉับกระเฉงวิ่งเล่นเท่าไรก็ยังไม่เหนื่อยออกกำลังกายด้วย การเล่นกีฬาเป็นประจำเช่นนี้แล้วภาวะกระดูกพรุนก็ไม่น่าจะมาเยือนได้

...แต่ความจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะอาการเหล่านี้เป็นอาการที่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเสมอไปกับผู้สูงอายุ ทุกราย และสามารถป้องกันได้

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายสาเหตุที่ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกในร่างกายเสื่อมลงดังกล่าวว่า เกิดจากกระดูกที่มีลักษณะการทำงานอยู่ตลอดเวลา ในการสร้างเซลล์กระดูกใหม่และสลายเซลล์กระดูกเก่า ซึ่งจะทำให้เนื้อกระดูกส่วนที่หมดอายุถูกกำจัดออกไปเพื่อให้กระดูกที่สร้าง ใหม่ขึ้นมาแทนที่ โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็กถึงวัยหนุ่มสาว อัตราการสร้างกระดูกจะเร็วกว่าอัตราการสลายกระดูก ทำให้กระดูกต่างๆ ในร่างกายของในช่วงวัยนี้แข็งแรงทนทาน ไม่ก่ออาการเจ็บป่วยง่ายๆ

แต่เมื่ออายุย่างก้าวเข้าสู่วัยที่มีเลข 3 นำหน้าขึ้นไป อัตราการสลายกระดูกจะเร็วกว่าอัตราการสร้างกระดูก ซึ่งเป็นผลทำให้ปริมาณมวลกระดูกลดลงและโครงสร้างภายในของกระดูกถูกทำลาย ทำให้รูพรุนที่คล้ายฟองน้ำของกระดูกชั้นในมีขนาดใหญ่ขึ้น ส่งผลให้กระดูกบางลงและอ่อนแอ จนเกิดภาวะ “กระดูกพรุน” ขึ้น โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ปริมาณเนื้อกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ตลอดชีวิตผู้หญิงจะสูญเสียเนื้อกระดูกมากกว่าผู้ชายถึง 2 - 3 เท่า

ข้อมูลน่าสนใจนี้ ถูกตอกย้ำให้ประชากรโลกโดยเฉพาะผู้คนในแถบเอเชีย พึงตระหนักถึงความเสี่ยงที่เจ้าโรคกระดูกพรุนมีสิทธิ์จะเดินมาเคาะประตู ชีวิตของใครก็ได้ เนื่องจากความเสี่ยงนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนว่า เมื่อไม่นานมานี้มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ (International Osteoporosis Foundation: IOF) เปิดเผยว่าในอนาคตหลายประเทศแถบภูมิภาคเอเชียโรคกระดูกพรุนจะเป็นปัญหาสำคัญ ที่คาดว่า พ.ศ.2593 ประมาณ 50% ของอาการกระดูกหักทั่วโลกจะเกิดขึ้นในเอเชีย ดังนั้นหากยังไม่ตื่นตัวหาวิธีป้องกัน ก็ยิ่งเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน มีโอกาสหกล้มและกระดูกสะโพกหักได้ทุกคน ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิตโดยตรงและรุนแรง

ด้านนพ.ธนา ธุระเจน เลขาธิการมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย อธิบายว่า ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ ได้แก่ ผู้สูงอายุ หญิงวัยหมดประจำเดือน ผู้ป่วยโรคทางเดินอาหารที่มีความผิดปกติในการดูดซึมแคลเซียม คนที่ดื่มสุรา กาแฟ สูบบุหรี่จัด ผู้ป่วยที่ต้องนอนบนเตียงคนป่วยเป็นเวลานาน ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระจายไปที่กระดูก ผู้ที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวกระดูกหักง่าย นอกจากนี้ การได้รับยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาเสตรียรอยด์ ยากันชัก ยาไทร็อกซิน ฯลฯ รวมทั้งคนที่เป็นโรครูมาตอยด์ โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษฯลฯ ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากเป็นพิเศษอีกด้วย

“เมื่อกระดูกในร่างกายเริ่มบางลง จนเริ่มเข้าสู่ภาวะกระดูกพรุน ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆ ปรากฏเลยถ้ากระดูกไม่หัก ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน จะดำรงชีวิตได้อย่างปกติ แต่หากวันดีคืนดีเดินสะดุดก้อนหินหกล้ม หรือถูกคนวิ่งมาชน ภัยเงียบที่แอบแฝงในร่ายกายอย่างเจ้าโรคกระดูกพรุนก็จะสำแดงฤทธิ์เดชทำให้ กระดูกหักได้ทันที กระดูกบริเวณที่พบว่าหักบ่อย ได้แก่ กระดูกหลัง กระดูกสะโพก กระดูกข้อมือ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อกระดูกสะโพกหักนั้นทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเดิน ได้ ต้องนอนบนเตียงเป็นเวลานานทำให้เสี่ยงการเกิดแผลกดทับ ผู้ป่วยไม่สามารถยกของที่มีน้ำหนักได้ตามปกติ รวมทั้งต้องเป็นภาระในการดูแลระยะยาวและอาจเสียชีวิตในที่สุด”

อ่านถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนคงจะเริ่มตระหนักถึงความร้ายแรงของโรคกระดูกพรุนที่มีสิทธิ์ จะเกิดขึ้นกับเราๆ ท่านๆ ได้ด้วยกันทุกคนหากไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพ และเริ่มมองหาวิธีการป้องกันกันบ้างแล้ว เพราะการที่จะรักษากระดูกที่พรุนแล้วให้กลับเข้าสู่สภาพเดิมนั้นมักจะไม่ ค่อยได้ผล ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุด คือ การดูแลตัวเองไม่ให้ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนนั่นเอง...

สสส.ได้แนะแนวการเสริมเกราะป้องกันให้แก่ร่างกาย ให้ปลอดภัยจากโรคกระดูกพรุนด้วยการรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ เพราะร่างกายต้องการแร่ธาตุที่สำคัญเพื่อมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ หรือเติมเต็มสิ่งที่มีอยู่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ร่างกายจึงควรได้รับสารอาหารต่างๆ โดยเฉพาะ “แคลเซียม ” ในวัยผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ควรรับประทานแคลเซียมให้ได้ 1,200 – 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน เพราะแคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในร่างกาย เพราะร้อยละ 99 ของแคลเซียมจะอยู่ในกระดูก ที่เหลือจะกระจายอยู่ตามของเหลวต่างๆ ในร่างกาย หน้าที่ของแคลเซียมคือ ทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง กล้ามเนื้อและประสาททำงานเป็นปกติ กระตุ้นการแข็งตัวของเลือดหลังการบาดเจ็บ และควบคุมการทำงานของเอ็นไซม์และการเต้นของหัวใจ แหล่งอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียม คือ นม โดยเฉพาะนมเสริมแคลเซียมซึ่งควรจะดื่มเป็นประจำทุกวัน โยเกิร์ต ถั่วเหลือง ถั่วเขียว งา ปลาตัวเล็กที่รับประทานทั้งกระดูก และผักใบเขียวที่ปลอดสารเคมี เป็นต้น

และที่ขาดไม่ได้ ก็คือการออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก ทำให้กระดูกแข็งแรงไม่แตกหักได้ง่าย

เพียงเท่านี้ด้วยวิธีง่ายๆ ที่ทำได้ด้วยตนเอง กระดูกของคุณก็จะแข็งแรง และลดความเสี่ยงของการเป็นโรคกระดูกพรุนด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก



http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000142020

1 ความคิดเห็น:

  1. เเดี๋ยวนี้ไม่ต้องรอถึงเลข 3 แล้วครับ ผู้ที่นิยม กินน้ำดำทั้งหลาย ที่มี พีเอช สูง 2.5 และน้ำตาล ที่มีสภาพเป็นกรด อาหารเหล่านี้ เมื่อรับประทานเข้าไปอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย ทุกคราวที่รับประทาน ร่างกายต้องปรับสมดุล ในระบบเลือด โดยนำแคลเซี่ยมจากเลือดที่มีแคลเซี่ยมอยู่ประมาณ 1 % ออกมาใช้ปรับสมดุล เมื่อแคลเซี่ยมในเลือดลดปริมาณร่างกายก็ไปย่อยแคล เซี่ยมในกระดูกออกมาทดแทน หนักๆเข้ากระดูกก็จะค่อยๆบางลงๆ

    ทั้งหมดนี้ก็เนื่องมาจากการรับประทานอาหาร ตามใจชอบนั่นเอง โดยไม่ทราบว่าอาหารนั้นจะส่งผลอย่างไรให้แก่ร่างกาย เอาอร่อยถูกใจไว้ก่อนไม่ใช่ชอบทานของหวานจะอ้วนเพียงอย่างเดียว

    ตอบลบ