++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

สุดยอดสัตว์ นักสร้างสรรค์


ข่าวใหญ่ในขณะนี้ คงไม่มีเรื่องอะไรเกิน "ไข้หวัดนก" นะครับ ทีมงาน ต่วย\'ตูน จึงขอนำเอาเรื่องราวของนก ในแง่ที่น่าทึ่งน่า สนใจ ทั้งในด้านการดำรงชีวิต และการต่อสู้โรคภัยไข้เจ็บ มาเสนอแด่ท่านผู้อ่านใน ซันเดย์ สเปเชียล สัปดาห์นี้ครับผม

สัตว์ทุกชนิด เมื่อเจ็บป่วย ร่างกายของมัน จะลดความแคล่วคล่องว่องไว การหาอาหารหรือล่าเหยื่อก็ยากลำบาก และที่สำคัญคือจะตกเป็นเหยื่อ แก่ศัตรูของมันได้ง่าย ธรรมชาติจึงต้องสร้างภูมิคุ้มกันพิเศษไว้ให้ มันช่วยเหลือตัวเองยามเจ็บป่วย ไม่ว่าจะการรักษาบาดแผล หรือการซ่อมแซมกระดูก ซึ่งสัตว์ หลายชนิดรักษาแผลให้หายได้รวดเร็วกว่ามนุษย์ หลายเท่า


เช่น น้ำลายของสัตว์บางประเภทมีคุณสมบัติ ฆ่าเชื้อโรค (antibiotic) เสือเมื่อบาดเจ็บจะเคี้ยวกินดินเหนียวและเกลือกกลิ้งเพื่อให้ดินเหนียว พอกแผล ลิงชิมแปนซีจะเสาะหาพืชสมุนไพรที่เรียกว่า แอสปิเลีย (Aspilia) แล้วกลืนกินทั้งใบโดยไม่เคี้ยว ใบไม้นี้จะมีสารน้ำมันชนิดหนึ่งซึ่งเป็นตัวยากำจัดเชื้อโรค เชื้อรา รวมทั้งไวรัสและ พยาธิต่างๆได้ดี


นอกจากนี้ สัตว์ยังต้องรู้จักย้ายถิ่นฐาน ให้เหมาะสม กับอุณหภูมิในแต่ละฤดูกาล เนื่องจากหากว่า อุณหภูมิอากาศขึ้นสูงเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส โปรตีนซึ่งเป็น องค์ประกอบสำคัญ ของชีวิต จะจับตัวเป็นก้อน และถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า จุดเยือกแข็ง น้ำก็จะกลายเป็นน้ำแข็ง การทำงานของอวัยวะก็จะหยุดนิ่ง ด้วยเหตุนี้แหละครับ ในฤดูหนาว นกจึงต้องอพยพโยกย้ายถิ่นชั่วคราว อากาศที่เยือกเย็น และช่วงเวลากลางวันอันสั้น ทำให้พืชไม่สามารถสังเคราะห์แสง ได้เต็มที่ การขาดแคลนอาหารจึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ของการอพยพไปสู่ที่อบอุ่น ซึ่งมีหญ้าเขียวขจี นกบางชนิดบินไกลขนาดจากขั้วโลกหนึ่ง ไปอีกขั้วโลกหนึ่ง มันรู้จักเส้นทางได้อย่างไรนั้น ยังคงเป็นปริศนาอยู่ถึงทุกวันนี้ครับ แต่ปัญหาที่นกแปลกถิ่นต้องเผชิญก็คืออาหารที่มันไม่เคยเห็นเคยรู้จัก เช่น แมลงในถิ่นร้อนที่แตกต่างไปจากถิ่นหนาวจะกินได้ไหม? เป็นอันตรายหรือไม่? ซึ่งนกมันก็จะต้องเรียนรู้จากการสังเกตดูนกท้องถิ่นว่าเขากินอยู่กันอย่างไรนั่นแหละครับ


ไม่ว่าจะอยู่ถิ่นเดิมหรือถิ่นใหม่ สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับนกก็คือ รัง นกแทบทุกตัว จะใช้วัสดุจากพืชมาทำรัง จะสานก่อในรูปแบบใดก็ตาม ต้องให้มีความแข็งแรงพอเพียง ไม่ใช่พอลูกนกกระโดดเตาะแตะ ก็ขาดกระจุย นกบางตัวสามารถ ใช้เส้นฟางสอดสลับสาน เป็นมุมฉากได้เป็นระเบียบ แต่น้อยตัวที่จะทำได้ครับ ส่วนใหญ่จะเลือกเส้นฟางยาวๆ มาเรียงเป็นรูปรังแล้วจึงนำกิ่งก้านเล็กๆ มาเกาะ เกี่ยวให้มั่นคง


นกมีฝีมือบางชนิด จะสร้างหลังคา ไว้ปกคลุมรังนอนของมัน บางชนิดไปไกลเกินกว่านั้น คือ มีท่อทางเข้ายื่นออกมาจากรัง นัยว่าเพื่อสร้างความลำบากให้แก่งู ในการเลื้อยเข้ามากินไข่หรือลูกนก เช่น นกตระกูล Malimbus cassini ที่เอาเส้นใยมาถัก เป็นท่อที่ยาวมาก และฝีมือถักของมันนั้นใกล้เคียงกับ การทอผ้าของมนุษย์เชียวครับ


ตำแหน่งที่สร้างรัง ถ้าหากอยู่ ปลายกิ่งก็นับว่าปลอดภัยดีจากงูและลิง เสียแต่ว่าตรงจุดนั้นจะสร้างยาก นกบางตัวจึงแอบไปขโมยใยแมงมุม ที่เหนียวหนับมาช่วยยึดเหนี่ยว ใยแมงมุมนั้นหาได้ใน 2 รูปแบบ คือ จากใยที่มันสานไว้ กับใยที่ห่อหุ้มตัวอ่อน เวลาสร้างรัง นก มันจะดึงเส้นใย ให้ขาดเป็นเส้นสั้นๆ แต่ใยหุ้มตัวอ่อนนั้น มันจะคงไว้ในรูปแบบเดิม ตัวอ่อนก็ยังติดอยู่ยังงั้นแหละครับ คือมันใช้ประดับรัง เพราะเส้นใยแมงมุมนั้น ขาวเป็นประกายสวยดี ประโยชน์ อีกอย่างที่ได้คือ เส้นใยนั้นจะสะท้อนแสง ทำให้ศัตรูมองไม่เห็นรังที่อยู่เบื้องหลัง


แต่ในกระบวนนกทั้งหมดกว่า 6,000 ชนิดแล้ว ไม่มีนกใดสร้างรังได้สวยสดงดงามเท่านกบาวเออร์เบิร์ด (ขออนุญาตเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษนะครับ เพราะถ้าใช้ชื่อภาษาไทยท้องถิ่นเกรงว่าจะผิดเพี้ยนไป)


บาวเออร์เบิร์ด (bowerbird) ซึ่งเป็นนกที่ร้องเพราะขับขานจับใจ อันที่จริงจะเรียกสิ่งที่มันสร้างว่า "รัง" ก็ไม่เชิงนัก เพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อจะ "โชว์" แก่นกตัวเมียให้มีความสนใจ และยินดี ที่จะมาร่วมใช้ชีวิตคู่ด้วย คำว่า "bower" แปลว่า "กระท่อมวิจิตร" ดังนั้นจะขอเรียกสิ่งที่มันสร้างว่า "ทับ" ง่ายๆสั้นๆละกัน


"ทับ" ที่มันสร้างล่อใจตัวเมียนั้นมีหลาก หลายรูปแบบ เจ้าตัวผู้ บางตัวที่ขี้เกียจก็อาจเพียงแค่ไปคาบขนนกแก้วสวยๆ ก้านเดียวมาวางไว้บนดิน อีแบบนี้ตัว เมียส่วนใหญ่มาเมียงมอง แล้วก็มักเมินไปอย่าง ไม่ไยดี "ขืนเอามาเป็นผัว มีหวังอดตาย"


สำหรับ "ทับ" ที่นิยมสร้างมี 2 แบบใหญ่ๆ คือแบบ "ถนน (avenue)" กับ แบบ "เสาสูง (maypole)"


วิธีการสร้างแบบถนนจะเริ่มจากการก่อกำแพงสองข้างด้วยต้นหญ้า หรือต้นกกแข็งๆ ส่วนบนของกำแพงจะโน้มเข้าหาจนเกือบติดกัน ถ้าหากมีเพียงแค่นี้ก็ยังไม่ค่อยจะ "โดนใจ" ตัวเมียซักเท่าไหร่ เจ้านกตัวผู้จึงต้องไปหาอะไรที่มีสีสันเตะตามาประดับให้จ๊าบยิ่งขึ้น ซึ่งก็มีด้วยกันหลายอย่าง อาทิ ดอกไม้สีฟ้าๆ ขนนกแก้ว ใบไม้เหลือง เห็ดราสีเทาๆ ชิ้นส่วนรังผึ้ง เปลือกหอยโข่ง คราบงู ฯลฯ แต่ควรจะหนักไปในทางสีฟ้า บางทีพบฝาขวดหรือกระดาษห่อของสีฟ้าที่มันนำมาประดับไว้ เคยมีรายงานว่า เจ้านกบาวเออร์บางตัวถึงกับคาบกิ้งกือเป็นๆมาประดับทับของมัน!


แต่ด้านในที่เป็นส่วนของถนนนั้น ต้องปล่อยให้เตียนโล่ง อย่าเอาอะไรไปวางประดับ ให้เกะกะเป็นอันขาด อนุญาตเพียงให้เอาสีไประบาย ไว้กับผนังกำแพงเท่านั้น เช่น เอาน้ำจากผลไม้ที่มีสี (โดยเฉพาะสีฟ้า) มาทา บางตัวนำเอาขี้เถ้า จากเปลือกไม้มาละลายด้วยน้ำลาย แล้วแต้มกำแพง


ในขณะที่เจ้าบาวเออร์ตัวหนึ่งกำลังตกแต่ง "ทับ" ของมันอย่างสุดฝีมือนั้น ก็อาจมีตัวผู้ตัวอื่นมาแข่งขันสร้าง "ทับ" ด้วย เพื่อชิงตัวเมีย ซึ่งนางเอกของเราก็จะสำรวจตรวจตราดูแต่ละทับว่า ของใครเด่นกว่า ทับไหนมีเครื่องประดับท่วมท้นก็มักจะชนะขาด แบบนี้เจ้าตัวผู้ก็ต้องบินไปหาสิ่งสวยๆ มาเติมให้เกินหน้าคู่แข่งอย่างไม่หยุดหย่อน


แต่...อา อย่าเผลอเชียวนะ เพราะนกบาวเออร์นั้นได้ชื่อลือลั่นว่า ขี้ขโมย!


เจ้าตัวผู้จะแอบไปคาบขนนกแก้วงามๆจากคู่แข่งมาใส่ในทับของตน นอกจากจะเป็นการเพิ่มความวิจิตรให้ทับของตนแล้ว ก็ยังเป็นการลดค่าของทับคู่แข่งไปในตัว มีการบันทึกสถิติไว้ว่า ค่าเฉลี่ยที่นกตัวหนึ่งจะโดนขโมยของในทับคือ 8 ครั้ง และสถิติสูงสุดคือ 31 ครั้ง!


เรียกว่า หามาเท่าไหร่..... โดนขโมยโม้ด


ส่วนในแบบที่เรียกว่า "เสาสูง" นั้น ก็คล้ายๆ กับต้นคริสต์มาส ที่มีการประดับประดานั่นแหละครับ ดูจากรูปที่นำมาลงประกอบ ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า เจ้านกบาวเออร์นั้น มันช่างสร้างสรรค์เพียงใด


ชีวิตของสัตว์โลกนั้นน่ารัก และมีการดำรงชีวิต ที่แปลกประหลาดอัศจรรย์ อย่างที่เรานึกไม่ถึง ถ้าหากท่านผู้อ่านสนใจ อยากรู้เรื่องราว ของสัตว์โลกที่น่ารักเหล่านี้ยิ่งขึ้น ก็ขอแนะนำให้เปิดชม ในโทรทัศน์ UBC ช่อง Discovery ดูซิครับ ทุกเสาร์-อาทิตย์ จะมีชุด "สุดยอดสรรพสัตว์" อาทิ วันที่ 21-22 ก.พ. นี้ จะเป็นเรื่อง "Builder" สัตว์นักสร้างอย่างที่กระผม เอามาเล่าให้ฟังครั้งนี้ครับ.


ทีมงาน ต่วย\'ตูน
และ "อันโทล"


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น