++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ทางมะพร้าว จากเศษเหลือทิ้งเก็บมาเพิ่มค่าด้วยภูมิปัญญาไทย

ความเจริญที่แทรกซึมเข้ามา ในชีวิตคนเราทุกวันนี้ ได้ทำให้ภูมิปัญญา ของคนไทย สูญหายไปไม่ใช่น้อย หลายเรื่องราวที่ทีมงานทำได้ ไม่จน เก็บมาถ่ายทอด ผ่านตัวหนังสือเล็กๆ (เนื่องจากเนื้อที่มีจำกัด) ให้ได้อ่านกันนี้ หวังว่าจะเป็นอีกแนวทาง ที่ช่วยอนุรักษ์ คงภูมิปัญญาเหล่านี้เอาไว้

วันนี้เป็นอีกวันที่จะนำเสนอ เกี่ยวกับภูมิปัญญาของคนไทย ที่ควรรักษาไว้ นั่นก็คือการทำ ไม้กวาดทางมะพร้าว เห็นแล้วอาจไม่น่าสนใจ แต่ถ้าบอกว่าไม้กวาดที่สองตายายทำนี้ใช้ได้นานเป็น 10 ปี ก็ไม่หลุด ไม่เหมือนไม้กวาดที่ขายในปัจจุบัน ใช้ไม่ถึง 10 วัน พลันก็หลุดหมดแล้ว

นางบุญเรือน-นายชื้น สายด้วง สองยายตา อายุรวมกันปาเข้าไปเกือบ 200 ปีที่ทีมงานไปพบโดยบังเอิญรายนี้อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 69 หมู่ 5 ต.สิงหนาท อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เห็นท่านกำลังขะมักเขม้นง่วนอยู่ กับการตอกๆ ดัดๆ ถามแล้วได้ความว่า กำลังทำโครงไม้กวาดทางมะพร้าว (ด้ามสั้นสำหรับกวาดพื้น และด้ามยาวสำหรับกวาดหยักไย่บนหลังคา)

การทำไม้กวาดให้มีคุณภาพคงทน ต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกไม้ไผ่ หรือไม้รวกมาทำด้าม คือด้ามต้องตรง ปลายเล็ก แต่ไม้ไผ่ที่ซื้อมาส่วนใหญ่ ไม่ค่อยตรง ต้องใช้ไฟดัด และเมื่อดัดเสร็จแล้ว จะใช้ขี้โคลนทาทิ้งไว้ (ทาเฉพาะจุดที่ใช้ไฟลน) เพื่อไม่ให้ไม้คืนรูป เป็นวิธีเดียวกับการดัดโกกคอม ที่ใช้วางบนคอควาย นับเป็นภูมิปัญญา ของคนไทยมาแต่ดั้งแต่เดิม

ส่วนก้านมะพร้าวซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ให้เลือกก้านยาวๆ และให้ฉีกด้วยมือ (ปัจจุบันใช้มีดตัดทำให้ ก้านมะพร้าวหลุดง่าย) เพื่อให้มีเส้นใยรอยฉีกบริเวณขั้ว ก้านเป็นตัวยึดเวลานำไปเข้าด้าม (ดังภาพ) คัดเลือกขนาดความยาวเท่าๆ กัน จากนั้นนำมาหลาวใบออกและนำไปตากแดดให้แห้ง ไม้กวาด 1 ด้ามใช้ทางมะพร้าว ประมาณ 5-6 ทาง

เมื่อเตรียมวัตถุดิบพร้อมแล้ว ก็จะเริ่มทำ โครงหรือด้าม ซึ่งเป็นหน้าที่ของคุณตา และทำ ถักปลอก ซึ่งหน้าที่นี้เป็นของคุณยาย โดยจะใช้หวายหรือพลาสติกนำมาถักก็ได้ เริ่มจากนำก้านที่เตรียมไว้มาชุบน้ำเพื่อให้นิ่มแล้วพันเข้ากับโครงด้ามด้วยลวด ทำประมาณ 10 ชั้น แล้วเสียบเข้ากับปลอก จากนั้นจึงสานลายสองและสานลายสันปลาช่อน เพื่อให้ก้านมะพร้าวบานสวยงามเป็นอันเสร็จ

คุณตาชื้น คุยว่าไม้กวาดทางมะพร้าว ที่เป็นฝีมือของตนเองนั้น มีความคงทนใช้ได้นานเป็นสิบๆ ปี แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ว่าใช้แล้ว เก็บรักษาดีหรือเปล่าด้วย...

เห็นอายุปูนนี้ก็จริงอยู่ แต่เชื่อหรือไม่ว่าวันหนึ่งๆ ท่านทั้ง 2 สามารถทำไม้กวาดได้ไม่ต่ำกว่า 10 ด้าม โดยทำมานานกว่า 60 ปี ภายหลังเกษียณจากอาชีพ ทำนามาแล้ว ก็มาใช้เวลาว่าง และใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่แค่ทำขายเท่านั้น ยังไปเป็นวิทยากรถ่ายทอดภูมิปัญญาเหล่านี้ให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดราษฎ์บำรุงอีกด้วย

ผู้สนใจไม้กวาดทางมะพร้าวหรืออยากได้ความรู้เพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ โทร. 0-1267-6989, 0-9804-3854 และ 0-1848-2585.

ดวงแก้ว ผุงเพิ่มตระกูล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น