++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2553

รู้จัก "เสือ" เมื่อก้าวสู่ปีขาล

หากเอ่ยถึง "เสือ" เพียงคำเดียว ภาพที่ปรากฏในจินตนาการคือภาพ ของ
"เสือลายพาดกลอน" ที่มีตัวสีส้มคาดแถบสีดำ หรือ "เสือโคร่ง"
ที่น่าเกรงขามในป่า แต่ปัจจุบันนักล่าแห่งพงไพร กลับเหลือจำนวนอยู่น้อย
จนน่ากลัวว่าจะสูญพันธุ์ในไม่ช้า

"เสือโคร่ง" แมวใหญ่แห่งพงไพร

เสือในสามัญสำนึกที่คนส่วนใหญ่นึกถึงนี้จัดอยู่ในสกุล "แพนเธอรา"
(Panthera) เป็นสกุลของ "แมวใหญ่" (big cats) 4 ชนิด ที่ประกอบไปด้วย
สิงโต (Panthera leo) เสือจากัวร์ (Panthera onca) เสือดาว (Panthera
pardus) และ เสือโคร่ง (Panthera tigris)
ทั้งนี้สกุลของเสือโคร่งอยู่ในวงศ์ย่อยแพนเธอริเน (Subfamily
Pantherinae) ของวงศ์เสือและแมว (Family Felidae)

เสือโคร่งแบ่งออกเป็น 9 ชนิด ได้แก่ เสือโคร่งไซบีเรีย (Siberian
Tiger) เสือโคร่งจีนใต้ (South China Tiger) เสือโคร่งอินโดจีน
(Indochinese Tiger) เสือโคร่งมลายู (Malayan Tiger) เสือโคร่งสุมาตรา
(Sumatran Tiger) เสือโคร่งเบงกอล (Bengal Tiger) เสือโคร่งแคสเปียน
(Caspian Tiger) เสือโคร่งชวา (Javan Tiger) และเสือโคร่งบาหลี (Balinese
Tiger)

ทั้งนี้เสือโคร่งแคสเปียน เสือโครงชวา และเสือโคร่งบาหลีนั้น
ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ส่วนเสือโคร่งที่พบในเมืองไทยคือ
เสือโคร่งอินโดจีนและเสือโคร่งมลายู
ซึ่งจากการศึกษาทางพันธุกรรมทำให้นักวิทยาศาสตร์จำแนกเสือโคร่งมลายูออกจากเสือโคร่งอินโดจีนและจัดให้เป็นพันธุ์ใหม่เมื่อปี
2547

อย่างไรก็ดีเสือโคร่งทุกสายพันธุ์
ต่างตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงสูญพันธุ์จากธรรมชาติ
และเหลืออยู่ในจำนวนหลักพันเท่านั้น

ที่สุดของเสือโคร่ง

ในบรรดาเสือโคร่งทั้ง 9 ชนิด พบเสือโคร่งเบงกอลมากที่สุด
และส่วนใหญ่จะพบในอินเดียและบังกลาเทศ
ซึ่งจำนวนที่พบในธรรมชาติอยู่ที่ประมาณ 1,000 กว่าตัว
ส่วนเสือโคร่งขนาดใหญ่ที่สุด คือเสือโคร่งไซบีเรีย
ซึ่งมีบันทึกว่าหนักได้ถึง 380 กิโลกรัม
และเสือโคร่งที่มีขนาดเล็กสุดคือเสือโคร่งสุมาตรา
ซึ่งตัวผู้โตเต็มวัยหนักเพียง 100-140 กิโลกรัมเท่านั้น

แม้ว่าเสือโคร่งทุกชนิด จะอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง
แต่สำหรับเสือโคร่งจีนใต้แล้วมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์มากที่สุด
ซึ่งนับแต่ปี 2526 ก็ไม่รายงานการพบเสือชนิดนี้ในธรรมชาติอีกเลย
และคาดว่าน่าเหลืออยู่ธรรมชาติไม่กี่สิบตัว
โดยมีอยู่ในสวนสัตว์ของจีนประมาณ 60 ตัว

ในอดีตถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งกระจายอยู่ทั่วเอเชีย
แต่ปัจจุบันที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งถูกจำกัดพื้นที่ลงและอยู่กันอย่างกระจัดกระจายในจีน
อินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยส่วนใหญ่จะอาศัยใกล้แหล่งน้ำ
และในบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยเหยื่อ ซึ่งจำนวนเสือโคร่ง

ทั้งนี้ เสือโคร่งจัดเป็นผู้ล่าระดับสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในป่าใหญ่
ซึ่งความอยู่รอดของเสือยังสะท้อนถึงความอยู่รอดของเหยื่อในป่าด้วย
ดังนั้นองค์กรอนุรักษ์สัตว์หลายแห่งจึงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์เสือ

"สิงโต" เสือสังคม

แม้ว่าจะถกเถียงกันไม่สิ้นสุดว่า เสือหรือสิงห์ที่เป็นเจ้าป่า
แต่ด้วยพฤติกรรมเป็นสัตว์สังคมของสิงโตซึ่งเป็นหนึ่งใน "แมวใหญ่ทั้ง 4"
แห่งป่ามีภาษีดีกว่าเสือในล่าเหยื่อ โดยมักจะอยู่รวมกลุ่มประมาณ 2-30 ตัว
และสิงโตตัวผู้ 1 ตัวจะรายล้อมด้วยสิงโตตัวเมียประมาณ 5-6 ตัว
และสิงโตตัวเมียเหล่านี้จะร่วมกันล่าเหยื่อมาให้จ่าฝูง

"เสือชีตาห์" สัตว์บกที่วิ่งไวสุดในโลก

แม้จะเรียกติดปากกันว่าเสือ แต่ "ชีตาห์" (Acinonyx jubatus)
ก็จัดอยู่ในตระกูลที่ใกล้ชิดกับแมวมากกว่า นั่นคือวงศ์ย่อยเฟลิเน
(Subfamily Felinae) เช่นเดียวกับแมวบ้าน และเสือชีตาห์นี้
ได้รับการยอมรับว่าเป็นสัตว์บกที่วิ่งเร็วที่สุด
โดยความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 112-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เสือแบรนด์ดัง

สิงโตภูเขา เสือภูเขา เสือคูการ์ หรือ เสือแพนเธอร์ (panther)
เป็นอีกชื่อของ เสือพูมา (Puma) ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทวีปอเมริกา
แม้จะมีรูปร่างใหญ่โดยตัวผู้อาจมีความยาวลำตัวได้ถึง 2.4 เมตร
แต่เสือพูมาถูกจัดให้เป็นญาติที่ใกล้ชิดแมวบ้านมากกว่าเสือ
โดยจัดอยู่ในวงศ์ย่อยเฟลิเน (Subfamily Felinae)
อย่างไรก็ดีเสือพูมาจัดเป็นสัตว์ที่ใหญ่สุดในกลุ่มของ "แมวเล็ก" (small
cat)

ได้ทำความรู้จักกับ "เสือ" เจ้าของสัญญลักษณ์แห่ง "ปีขาล"
ที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ในปีนี้กันแล้ว
หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้ช่วยกันบอกต่อถึงจำนวนประชากรเสือที่เหลือน้อยลงทุกขณะ
และตระหนักถึงการรณรงค์อนุรักษ์เสือ
หนึ่งในสิ่งมีชีวิตร่วมโลกที่กำลังจะสูญพันธุ์ ... สวัสดีปีเสือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น