กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำเกี๋ยน
กิ่งอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน
เรียบเรียงโดน ณัฐฏ์ รัตนกานต์
กินอิ่ม นอนอุ่น ฝันดี
ถ้าหากให้ถอดออกมาเป็นคำ แต่ละคำล้วนมีความหมาย นี่คือคำขวัญของคนน้ำเกี๋ยน ซึ่งเป็นชุมชนเล็กๆ ชุมชนหนึ่งในจังหวัดน่าน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขา มีภูเขาน้อยใหญ่ล้อมรอบ และมีสายน้ำที่สำคัญไหลผ่าน นั่นคือ ลำน้ำเกี๋ยน ลำน้ำที่คนในชุมชนใช้หล่อเลี้ยงชีวิตมาแต่เบื้องบรรพ์ ปัจจุบันบ้านน้ำเกี๋ยนอยู่ในเขตการปกครองของกิ่งอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน มีประชากร 2,763 คน มีทั้งหมด 752 ครัวเรือน แบ่งเป็น 5 หมู่บ้าน
เดิมทีบ้านน้ำเกี๋ยนเป็นชุมชนที่ไม่ได้รับคัดเลือกให้ใช้งบประมาณของกองทุน แต่เนื่องจากผู้นำและกรรมการหมู่บ้าน ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างหลักประกันสุขภาพให้เกิดกับชุมชน ดังนั้น จึงมีการเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างกองทุนฯ ด้วยทุนจากคนในพื้นที่เอง มีการระดมทุนกองทุนวันละบาท จนได้งบประมาณจำนวนหนึ่ง แล้วจึงประสานงานกับ สปสช. เพื่อแสดงเจตจำนงในการขอเข้าร่วมกองทุนฯ อีกครั้ง จนได้รับพิจารณาสนับสนุนงบประมาณในที่สุด
โครงการในบ้านน้ำเกี๋ยวนั้น ส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยการประเมินความต้องการจากชาวบ้านเป็นสำคัญ หลังจากนั้นก็ทำการสร้างคน พัฒนาศักยภาพของทีมงาน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เป็นกรเปิดมุมมองในการทำงาน แล้วประสานความร่วมมือกับองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้อง สร้างเวทีเรียนรู้ให้กับชุมชน เพื่อเกิดการเรียนรู้และมีความเข้าใจในแนวทางการปฏิบัติงานมากขึ้น สุดท้ายก็ทำแผนสุขภาพประจำปี โดยยึดหลักการดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืนและความต่อเนื่องของแผนฯ เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน สามารถทำงานร่วมกันได้ทั้งวัด, โรงเรียน ,สถานีอนามัย, รวมทั้งหน่วยงานอื่นทั้งในและนอกพื้นที่
กองทุนวันละบาท นับเป็นโครงกรเด่นของบ้านน้ำเกี๋ยน เพราะแสดงถึงการตระหนักว่า สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ และเรื่องสุขภาพเป็นความรับผิดชอบของประชาชนและชุมชนเอง ดังนั้นความยั่งยืนของกองทุนฯ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ก็อยู่ที่การปฏิบัติของคนในชุมชนเป็นหลัก
คณะกรรมการกองทุนฯ และ อสม. นับว่าเป็นส่วนสำคัญในการทำงานเพราะทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติตามความต้องการของคนในชุมชน กล่าวคือ คณะกรรมการเป็นผู้ร่างระเบียบออมของกองทุนฯ ตามที่ชาวบ้านเสนอ หลังจากนั้น ก็ส่งเรื่องให้นายก อบต.เป็นผู้อนุมัติในการดำเนินการเกี่ยวกับกองทุนฯ โดยมี อสม.เป็นผู้ปฏิบัติงาน ตัวแทน อสม. จะต้องแบ่งพื้นที่รับผิดชอบประมาณ 10 หลังคาเรือนต่อ อสม.1ท่าน ทำหน้าที่เก็บเงินกองทุนฯ แต่จะเก็บอย่างไรก็แล้วแต่การตกลงกับชาวบ้านในเขตรับผิดชอบ เก็บทุกวันหรือเก็บสัปดาห์ละครั้งก็ได้ เมื่อเก็บมาได้แล้วก็นำส่งคณะกรรมการกองทุนฯ ผู้มีอำนาจเบิกจ่ายได้แก่ นายก อบต. เจ้าหน้าที่ สถานีอนามัย และปลัด อบต.
จากโครงการออมวันละบาท ก่อให้เกิดโครงการอื่นๆตามมาอีกมากมายในชุมชน เช่น โครงการตลาดสดน่าซื้อ, โครงการปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ โครงการลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนมีความพึงพอใจที่มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกองทุนฯ และประชาชนใช้บริการกองทุนฯ อย่างครอบคลุมทุกหมู่บ้าน
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโครงการนี้ประสบความสำเร็จ คงไม่พ้นความมุ่งมั่นและความคิดแบบก้าวหน้าของผู้นำชุมชน อย่างนายก อบต.ที่ต้องการเข้าร่วกองทุนฯ เพราะเห็นประโยชน์ที่จะเกิดกับชาวบ้าน ดังที่กล่าวไป และที่สำคัญและขาดไม่ได้คือ ความร่วมมือจากชาวบ้านเอง เริ่มต้นด้วยลงเงินกองทุนฯ เพื่อได้เข้าร่วมกองทุนฯ ร่วมแสดงความคิด ร่วมทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง สุดท้าย ร่วมความรู้สึกเป็นเจ้าของกองทุนฯ เพื่อให้กองทุนเกิดความยั่งยืนสืบไป
เงิน 1 บาท อาจน้อยคุณค่าสำหรับคนยุคปัจจุบัน แต่หากสามารถสร้างสรรค์การใช้ประโยชน์ ความหมายของเงิน 1 บาท อาจมีคุณจนคาดไม่ถึงดูตัวอย่างจากชาวน้ำเกี๊ยนนั่นประไร
ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
ศรีประไพ อินทร์ชัยเทพ
วลัยลักษณ์ ขันทา
ศิริวรรณ ใบตระกูล
ปานจันทร์ อิ่มหนำ
วาสนา มั่งคั่ง
ดร.พัฒนา นาคทอง
วพบ.ลำปาง
ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น