++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

NutshellMail l เช็กทุกเมลในเมลเดียว

อย่าเพิ่งเบื่อที่เราจะแนะนำอีกหนึ่งบริการที่เกี่ยวกับการเพิ่มขีดจำกัดและศักยภาพในการ
"ใช้อีเมล" ของคุณ ก็เพราะเหตุผลที่ตัวคุณเองก็ทราบดีอยู่แล้วว่า "อีเมล"
เป็นศูนย์กลางของทุกๆ กิจกรรมในโลกดิจิตอล
ทั้งการยืนยันตัวตนเมื่อสมัครสมาชิกเว็บไซต์ต่างๆ การติดต่อสื่อสาร
การซื้อสินค้าออนไลน์
ทั้งหมดล้วนแต่ต้องมีอีเมลเป็นเส้นทางหลักในการติดต่อสื่อสารทั้งสิ้น

ลองคำนวณกันเล่นๆ ว่า ตั้งแต่เปิดคอมพิวเตอร์ที่ออฟฟิศ
กิจกรรมอย่างแรกที่ต้องทำกันก็คือ "เช็กอีเมล" สมมติ ให้โดยเฉลี่ย 1
อีเมล ใช้เวลาเช็ก 3 นาที (ไม่รวมตอบกลับ)
จากนั้นก็ลองถามตัวคุณเองว่าคุณมีอีเมลที่ไหนบ้าง ไล่ไปตั้งแต่ เมลบริษัท
ฟรีอีเมล (ยาฮูเมล (Yahoo! Mail),จีเมล (Gmail),ฮอตเมล (Hotmail) ฯลฯ)
กว่าจะครบทุกเมลก็ล่วงเลยเวลาไปกว่าครึ่งค่อนชั่วโมง
นั่นก็เพราะต้องมีการเข้าสู่ระบบอีเมลซ้ำแล้วซ้ำอีก
ทั้งยังต้องไล่ดูอีเมลทั้งสำคัญและไม่สำคัญนั่นเอง

ดังนั้นถ้าคุณสามารถมีผู้ที่ทำให้อีเมลจากทุกผู้ให้บริการมาผูกรวมกัน
แล้วเช็กจากหน้าเว็บไซต์เว็บเดียวได้ล่ะจะสะดวกโยธินแค่ไหน?
วันนี้เราขอเสิร์ฟความสบายนั้นให้คุณถึงที่ ด้วยบริการของ "NutshellMail"

NutshellMail http://www.nutshellmail.com/ คือ
เว็บไซต์ที่ให้บริการสรุปหัวข้อและอ่านเมลของทุกอีเมล ทั้งฟรีอีเมล (อาทิ
ยาฮูเมล (Yahoo! Mail),จีเมล (Gmail),ฮอตเมล (Hotmail))
รวมถึงเมลของบริษัทด้วย

นอกจากนี้ยังเปิดให้คุณได้อัปเดตข้อความที่เพื่อนๆ
ฝากไว้ให้คุณในเว็บเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ชื่อดัง (อาทิ เฟสบุ๊ก
(Facebook), มายสเปซ (MySpace), ทวิตเตอร์ (twitter)) ได้
โดยทั้งหมดทั้งปวงนี้จะแสดงผลอยู่ภายในอีเมลฉบับเดียว!
และคุณเองสามารถกำหนดให้มันส่งมาเตือนคุณวันละกี่รอบ/สัปดาห์ก็ได้
ที่สำคัญคือฟรี ใช้งานง่ายแค่ตั้งค่าครั้งเดียว และปลอดภัย
ทั้งนี้ก็เพื่อการประหยัดเวลา และสร้างประสิทธิผลสูงสุดในการทำงานนั่นเอง

ก่อนอื่นต้องเรียนให้ทราบว่าความสามารถและวัตถุประสงค์ของ
NutshellMail นั้นแตกต่างจากความสามารถในการนำอีเมลจากที่ต่างมารวมในอีเมลเดียว
(Import Email) เพราะ NutshellMail
เน้นการช่วยให้คุณประหยัดเวลาในการตรวจสอบอีเมลใหม่ๆ
และเลือกอ่านและตอบเฉพาะอีเมลที่สำคัญเป็นอันดับแรกได้ (โดยการกดปุ่ม
Get) แต่ถ้าเป็นการ Import Email ทุกเมลจากที่ต่างๆ
ก็จะนำมารวมกันที่กล่องเมลเดียว ทำให้คุณต้องเลือกอ่านทั้งหมดอยู่ดี

ลักษณะ การเปิดอ่านอีเมล จะแตกต่างจากการอ่านหนังสือ
เพราะเราสามารถตัดสินจากหัวข้อของอีเมลได้ว่าเนื้อหาภายในจะเกี่ยวกับอะไร
โดยไม่ต้องเปิดเพื่ออ่านเนื้่อหาทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง งาน
พนักงานบริษัททุกคนถูกฝึกฝนให้ตั้งหัวข้ออีเมลที่ชัดเจน
และสื่อถึงเนื้อหาที่อยู่ภายใน
เพื่อการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกวันที่เร่งรีบ
นอกจากนี้จากหัวข้อของอีเมล ก็ยังทำให้เราสามารถแยกแยะอีเมลสำคัญ
และไม่สำคัญออกจากกันได้ เช่น ถ้าอีเมลไหนขึ้นต้นด้วย FW
ก็แปลว่าเราสามารถใช้เวลาที่นอกเหนือจากเวลางานในการเช็กอีเมลฟอร์เวิร์ดนี้ในภายหลังได้

ภาพตัวอย่างบางส่วนของ การสรุปอีเมลจาก NutshellMail

ขอนำภาพตัวอย่างบางส่วนของ การสรุปอีเมลจาก NutshellMail มาให้ดูกันก่อน

ใครบ้างที่เหมาะต้องใช้ NutshellMail ช่วยอัปเกรดการเช็กอีเมล?

* คุณคริส ฝ่ายขาย มีอีเมลเกิน 5 บัญชีที่ต้องเช็กทุกวัน 3 เวลาหลังอาหาร
NutshellMail ช่วยให้คุณคริส "ตั้งเวลา"
ที่จะรับการสรุปอีเมลของทุกบัญชีที่เขามี และส่งให้ตรงเวลาทุกวัน

* คุณเพรียว เลขาบริษัทสุดเฮี้ยบ
ที่คอมพิวเตอร์ของบริษัทไม่เปิดให้พนักงานเข้าเว็บไซต์อื่นใดนอกจากอีเมลและเว็บของบริษัทเท่านั้น
NutshellMail ช่วยให้คุณเพรียวอัปเดตโลกภายนอก
และอ่านฟอร์เวิร์ดเมลแปลกๆ ที่เธอชอบอ่านมากๆ ได้ เพียงแค่ "กดปุ่ม Get"
จากหน้าสรุปเมลของที่นี่

* น้องอาร์ตี้ ที่ตอนนี้ติดทุกเว็บที่เพื่อนเป็นสมาชิก
ทั้งเฟสบุ๊ก มายสเปซ ทวิตเตอร์ แถมยังเป็นแฟนประจำของการสั่งของผ่านเน็ต
NutshellMail
ช่วยให้น้องอาร์ตี้อ่านข้อความอัปเดตล่าสุดที่เพื่อนเขียนที่กระดานข้อความ
(Wall) ของหน้าเฟสบุ๊กตนได้
ทั้งยังตอบกลับความเห็นเพื่อนในทวิตเตอร์จากหน้าสรุปเมลได้โดยไม่ต้องเข้าทีละเว็บอีกต่อไป


เริ่มต้นใช้งาน NutshellMail

1. สมัครสมาชิก ฟรี ที่นี่ https://nutshellmail.com/register/Default.aspx

2. กรอกบัญชีผู้ใช้ของเว็บไซต์ และ อีเมลต่างๆ ที่ตนใช้บริการอยู่
อยากตามเช็กกิจกรรมอัปเดตของที่ใด ก็กรอกชื่อผู้ใช้ของแต่ละที่ให้ครบถ้วน

สำหรับการเชื่อมบริการของ NutshellMail
เข้ากับเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ต่างๆ
ไม่ว่าคุณจะคลิกที่เว็บไซต์ไหน
ก็จะมีหน้าต่างแสดงการร้องขอให้คุณอนุญาตให้ NutshellMail
เข้าไปตามดูกิจกรรมอัปเดตของคุณกับเพื่อนเว็บไซต์นั้นๆก่อน
จากนั้นคุณค่อยกรอกชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านของแต่ละเว็บเพื่อยืนยันการเป็น
เจ้าของ

ตัวอย่างหน้าต่างการร้องขอให้ NutshellMail
เข้าไปติดตามความเคลื่อนไหวของเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ในแต่ละบัญชี

สำหรับการเชื่อมบริการของ NutshellMail เข้ากับอีเมลค่ายต่างๆ

เมลบริษัท หลังจากที่คุณกรอกชื่ออีเมล และรหัสผ่านแล้ว กดปุ่ม add
จะมีหน้าต่างขึ้นมาบอกว่าไม่รู้จักเมลที่คุณใช้อยู่ ไม่ต้องตกใจ
เพราะบริการนี้เป็นของต่างประเทศ จึงรู้จักแต่เมลของบริษัทดังๆ
ในเมืองนอก ฉะนั้นให้คุณดูในส่วนของ Custom Provider
ซึ่งจะรองรับอีเมลทั้งแบบ POP3 และ IMAP
จากนั้นจะมีให้กรอกรายละเอียดอีกเล็กน้อย เช่น Incoming Server Address,
Provider Name,SSL,Port แนะนำให้ถามฝ่ายไอทีของบริษัท และจดมาจะดีที่สุด
เมื่อกรอกรายละเอียดส่วนนี้ครบแล้ว
คุณก็จะผูกการเช็กเมลบริษัทกับการสรุปเมลของ NutshellMail ได้

ฟรีอีเมล แต่ถ้าเป็นของเมลดังๆ อย่างฮอตเมล ยาฮูเมล จีเมล ฯลฯ
แค่กรอกชื่ออีเมล และรหัสผ่านจากนั้นกด add ก็จะพร้อมใช้งานทันที

ดูตัวอย่างฟรีอีเมล และบริการต่างๆ ที่รองรับกับ NutshellMail
ได้ที่นี่ http://nutshellmail.com/privacy_security/

3. เมื่อกรอกบัญชีผู้ใช้ของ เว็บไซต์ และอีเมล
ทั้งหมดแล้วให้กดปุ่ม Next จากนั้นก็เลือกตั้งเวลาที่คุณต้องการให้
NutshellMail ส่งสรุปอีเมลมาให้คุณอ่าน
โดยสามารถตั้งความถี่ให้เตือนบ่อยที่สุดคือทุกๆ 1 ชั่วโมง
จากนั้นก็เลือกโซนเวลา (ไทยเราต้องเป็น GMT+7) และสุดท้ายคือ
การกรอกบัญชีผู้ใช้ของอีเมลที่คุณใช้อยู่ประจำ
เพื่อเป็นเมลที่รับการสรุปอีเมลจาก NutshellMail นั่นเอง จากนั้นกดปุ่ม
Finish


4. ต่อจากนี้ ตามเวลาที่คุณตั้งไว้ในแต่ละวัน ก็จะมีอีเมลจาก
NutshellMail ส่งมาให้คุณทันที โดยภายในจะบรรจุหัวข้อเมลล่าสุด ณ
เวลานั้นมาให้คุณทันที

ทิปเล็กน้อยสำหรับการใช้ NutshellMail คือ ตอนเพิ่มบัญชีอีเมล
สามารถ "ลากแล้ววาง" ในการสลับตำแหน่งอีเมลที่เรา
ต้องการให้แสดงผลเมื่อส่งสรุปเมลมาหาเราในแต่ละวันได้ เช่น
เอาอีเมลของบริษัทที่เราใช้ประจำ ขึ้นแสดงผลก่อนฮอตเมล
แหล่งรวมเมลฟอร์เวิร์ดได้

ได้เมลจาก NutshellMail แล้ว ทำอะไรสนุกๆ ได้บ้าง?

ขั้นตอนที่แล้วคุณคริส คงพอใจกับการใช้งาน NutshellMail แล้ว
แต่คุณเพรียวและน้องอาร์ตี้ ยังมีความสนุกรอคุณอยู่ในอีเมลของ
NutshellMail อีกเพียบ

สำหรับคุณเพรียว เมื่อใดก็ตามที่อ่านหัวเรื่อง (Subject)
เมลใดแล้วสนใจอยากรู้เนื้อหาข้างในเมลต่อ ก็สามารถคลิกที่ปุ่ม Get ข้างๆ
หัวเรื่องนั้นๆ จากนั้นระบบก็จะเปิดหน้าอีเมลใหม่สำหรับการส่งกลับไปยัง
NutshellMail เพื่อเรียกเนื้อหาเมลนั้นๆ มาเสิร์ฟให้คุณเพรียว
โดยฟีเจอร์นี้จะเรียกว่า "บูมเมอแรง (Boomerang)"
คุณเพรียวไม่ต้องพิมพ์อะไรเพิ่มเติมอีกเลย นอกจากกดส่งเท่านั้น

จากนั้นรอสัก 5-10 วินาที ก็จะมีอีเมลใหม่เข้ามา
ซึ่งเป็นเมลจากผู้ส่งเมลต้นฉบับนั้น (ไม่ใช่ NutshellMail)
พร้อมเนื้อหาอีเมลแบบเต็มเหยียดของเมลฉบับนั้น
และถ้าหากคุณเพรียวต้องการจะตอบอีเมลนี้ก็ทำได้เหมือนการตอบเมลทั่วไป

อย่างไรก็ดี
สำหรับฟีเจอร์นี้ยังติดปัญหาอยู่บ้างในเรื่องของการแสดงผลภาษาไทยที่หัว
เรื่อง เพราะถ้าต้นฉบับมีหัวเรื่องเป็นภาษาไทย
การร้องขอให้ส่งเมลนั้นจากฟีเจอร์บูมเมอแรง
เมื่อเมลตอบกลับมาหัวเรื่องจะอ่านภาษาไทยไม่ได้แต่กลับเป็นสัญลักษณ์
"????" แทน

และถ้าหากบริษัทของคุณไม่ได้ปิดกั้นการเข้าชมเว็บไซต์อื่นๆ
คุณก็สามารถกดที่โลโก้ของแต่เมล ใน NutshellMail
เพื่อเข้าไปยังเว็บของอีเมลนั้นๆ ได้
จากนั้นก็เช็กเมลอย่างละเอียดอีกทีหนึ่ง

ต่อมาเป็นคิวของน้องอาร์ตี้บ้าง สำหรับเด็กหนุ่มๆ
ก็จะไม่แปลกที่จะติดพันกับเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ไม่แพ้กับเกมออ
นไลน์ ดังนั้น การใช้ NutshellMail
ก็จะเอื้อประโยชน์ให้น้องอาร์ตี้หลบหนีจากความวุ่นวายในสารพัดอีเมลของเขา
ได้ด้วย

ก่อนอื่นผู้เขียนเชื่อว่าคุณยังจำได้เมื่อครั้งที่ ไฮไฟว์ (Hi5)
ฮอตใหม่ๆ และถึงแม้ปัจจุบันคนก็หันมาหาเฟสบุ๊คกันมากขึ้น
แต่ทุกคนคงปฎิเสธไม่ได้ว่าเจ้าสองเว็บนี้เองที่เป็น "ตัวการ" ทำให้
"กล่องข้อความ" ในอีเมลประจำของคุณแทบระเบิด วันๆ
ได้เมลจากเว็บพวกนี้นับร้อยๆ ฉบับ อาทิ มีคนร้องขอ /เพิ่มคุณเป็นเพื่อน
มีคนส่งข้อความให้คุณ มีคนมาเขียนที่กระดานข้อความของคุณ ฯลฯ

ฉะนั้นจะดีกว่าไหม ที่จะหันมาหาเมลใหม่
(อาจจะเป็นอีเมลที่คุณมีอยู่แล้วแต่ไม่ค่อยได้ใช้)
แล้วมาสมัครใช้บริการของ NutshellMail
เพื่อส่งรายงานสรุปเมลประจำวันให้คุณ
จากนั้นความวุ่นวายและค่าเสียเวลาจากการติ๊กเลือกลบเมลขยะก็จะหมดไป
และไม่นานบัญชีเมลนี้ก็จะกลายเป็นบัญชีหลักที่คุณหลงรักในความสะอาด สงบ
และมีประสิทธิภาพของมันในที่สุด

เช่นเดียวกับน้องอาร์ตี้
เมื่อได้เทียบท่ากับอีเมลที่ถูกจัดการด้วย NutshellMail
แล้วเขาก็ยังสนุกกับการอ่าน และตอบ
ข้อความหาเพื่อนในเครือข่ายของเขาได้อีกด้วย เพราะใน NutshellMail
ที่รับการอัปเดตจาก "ทวิตเตอร์"
ผู้ใช้ไม่เพียงแต่จะอ่านข้อความทวีตล่าสุดของเพื่อนได้
ยังทวีตข้อความของตนเอง ตอบกลับทวีต หรือส่งข้อความโดยตรงไปหาเพื่อนๆ
ในทวิตเตอร์ได้อีกด้วย

ดูตัวอย่างการใช้งาน NutshellMail สำหรับเฟสบุ๊ค และ ทวิตเตอร์ ได้ที่นี่
http://www.youtube.com/watch?v=At8fdgsNLcA&feature=player_embedded


ด้าน ล่างนี้คือภาพตัวอย่างของการสรุปอีเมลมาในอีเมลฉบับเดียวของ
NutshellMail ที่รวมทั้งฟรีอีเมล อีัเมลบริษัท
และความเคลื่อนไหวของเพื่อนๆ
ในเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมแบบออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอย่าง เฟสบุ๊ก
มายสเปซ ทวิตเตอร์

ความปลอดภัยในการใช้งาน NutshellMail

เรื่องความปลอดภัยเป็นคำถามที่ผู้อ่านส่วนใหญ่คำนึงถึงเป็นอันดับแรก
ก่อนที่จะใช้บริการใดๆ ที่เป็นฟีเจอร์เสริมมาจากอีเมลปกติ
จากคำสัญญาของผู้ก่อตั้งบริการนี้ระบุว่า ทาง NutshellMail
เน้นมากเรื่องความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยของข้อมูลมาเป็นอันดับหนึ่ง
ดังนั้นไม่ว่าข้อมูล รหัสผ่าน และเนื้อหาใดๆ ในอีเมลทุกบัญชี
ของทุกคนจะถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัย (เข้ารหัส 128 บิตตามแบบเทคโนโลยีของ
Secure Sockets Layer (SSL)) และลับที่สุด ซึ่งมีการรับรองมาตรฐานจาก
GeoTrust และ The Planet อย่างไรก็ดี ก่อนสมัครใช้บริการของ NutshellMail
คุณก็สามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการรักษาความปลอดภัยของ NutshellMail
เพิ่มเติมได้ที่นี่

อาจกล่าวโดยสรุปว่า...

จากที่ผู้เขียนได้ทดลองใช้ NutshellMail มาเกือบ 1 ปี
ไม่พบปัญหาใดๆ ทั้งเรื่องของการแฮกข้อมูล หรือการส่งเมลล่าช้า
แต่อาจจะกล่าวได้ว่าผู้ใช้คนไทยอาจจะใช้ประโยขน์จาก NutshellMail แบบไม่
100% โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้มันเพื่อสื่อสารกับเพื่อนๆ
ในเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมแบบออนไลน์
เพราะติดปัญหาที่การพิมพ์ข้อความภาษาไทยอยู่
อย่างไรก็ดีถ้ามองในอีกแง่ที่ว่า NutshellMail
เข้ามาช่วยจัดระบบการเลือกอ่าน และตอบอีเมลในทุกวันที่วุ่นวายของคุณ
ก็ถือว่ามันคือผู้ช่วยดิจิตอลอีกคนที่จะสามารถอัปเกรดไลฟ์สไตล์ที่สุด
อลหม่านของคุณในแต่ละวันให้ง่ายขึ้นได้อย่างแน่นอน

ข้อดี

* มีการตั้งค่าในการใช้งานได้รวดเร็ว ไม่ซับซ้อน
และเมื่อตั้งค่าครั้งแรกเรียบร้อยแล้ว
จากนั้นก็แทบจะไม่ต้่องไปปรับอะไรที่เว็บไซต์ของ NutshellMail อีกเลย
นอกเสียจากคุณปรับเปลี่ยนรหัสผ่านของบัญชีใดบัญทีหนึ่งที่ผูกไว้กับ
NutshellMail

* สำหรับฟีเจอร์บูมเมอแรงทำงานได้รวดเร็วดีมาก

ข้อเสีย

* ในอีเมลสรุปของ NutshellMail
จะดึงเฉพาะเมลที่อยู่ในกล่องข้อความเข้า (Inbox) เท่านั้น
กล่องอื่นไม่สามารถดึงมาดูได้ อาทิ ฉบับร่าง (Draft) ส่งออก (Sent)
เป็นต้น

* การตอบ
หรือโพสทวีตในทวิตเตอร์เมื่อพิมพ์ภาษาไทยไปแล้วจะแสดงผลเป็นตัวอักษรที่อ่านไม่ออก
ดูรูปด้านล่างประกอบ


เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับ NutshellMail

NutshellMail เป็นบริษัทจากรัฐฮุสตัน สหรัฐอเมริกา
ที่ก่อตั้งโดยคนหนุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวโทรคมนาคม (David Lyman)
และนักวางแผนธุรกิจ (Mark Schmulen) กับพนักงานอีกเพียง 4 คน
เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2549

ส่วนตัวแล้วผู้เขียนรู้จัก และทดลองใช้บริการนี้มาได้กว่าปี
แต่เพิ่งไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ NutshellMail
สามารถแสดงผลชื่อหัวเรื่องภาษาไทยในอีเมลสรุปที่ส่งมาได้
จึงเป็นเหตุผลให้ผู้เขียนรีบนำมารีวิวให้ผู้อ่านได้รู้จัก และใช้งานกัน


http://www.manager.co.th/CBizReview/ViewNews.aspx?NewsID=9520000077794

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น