++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

"เซียน" ปราบ "เซียน"...งานวัด "กึ๋น" อธิการฯใหม่ปทุมวัน

รายงานพิเศษ โดย....คีตฌาณ์ ลอยเลิศ

หลายคนคงได้ติดตามข่าวของ "สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน"
ที่นักศึกษารุ่นพี่ออกมาเรียกร้องให้ผู้บริหารสถาบันเปิดสมัครสอบคัดเลือก
นักศึกษาเข้าเรียนเพิ่มเติมเป็นรอบที่ 3 และ 4 เนื่องจาก 2
รอบแรกที่เปิดสอบไปนั้น
มีรุ่นน้องที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาได้เพียงแค่คนเดียว

เรื่องราวการประท้วงของนักศึกษารุ่นพี่เทคโนฯ ปทุมวัน
ถูกสื่อมวลชนนำเสนอข่าวอย่างใกล้ชิด
สาเหตุหนึ่งเพราะการเรียกร้องลุกลามบานปลายไปถึงขั้นปิดถนน
อีกสาเหตุหนึ่งเพราะปทุมวัน
เป็นสถาบันที่มีปัญหาเรื่องการยกพวกตีกับคู่อริอยู่เนืองๆ
ซึ่งมาตรการเพิ่มความเข้มข้นเกณฑ์การคัดเลือกนักศึกษา
จนทำให้แทบไม่มีนักศึกษาผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนชั้นปี 1
ก็เป็นมาตรการหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าว และอีกเหตุผลหนึ่ง
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า
สถาบันแห่งนี้เป็นสถาบันที่สร้างบุคลากรคุณภาพด้านช่างกลให้กับประเทศมาหลาย
ยุคหลายสมัย ในชื่อ "ช่างกลปทุมวัน"

ปฏิกิริยาของนักศึกษาที่มีต่อผู้บริหารซึ่งถูกนำเสนอผ่านสื่อ
มีทั้งดุ เด็ด เผ็ด มัน และหลายครั้งดูก้าวร้าวรุนแรง
ทำเอาผู้คนในสังคมพากันหนักใจแทน และยิ่งย้อนดูประวัติไปเมื่อ 2550
ก็จะพบว่า ผู้บริหารสถาบันแห่งนี้ถูกเปลี่ยนตัวเนื่องจากนักศึกษาประท้วงให้ลาออกจาก
ตำแหน่งถึง 2 ครั้ง 2 หน

นับๆ แล้วเป็นเวลาเกือบ 2 ปี
กว่าปทุมวันจะได้คนนั่งเก้าอี้อธิการบดีตัวจริง โดย "ผศ.วิศิษฎ์
ประทุมสุวรรณ"อดีต รองอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน
ได้รับการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีรายล่าสุดหมาดๆ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่ง ผศ.วิศิษฎ์
ได้เข้าไปรับหน้าที่ในฐานะรักษาการอธิการบดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
รอเพียงการโปรดเกล้าฯ ก็จะถือว่าเป็นอธิการบดีเต็มตัว

แน่นอนว่าภาระหนักหนารออธิการบดีคนใหม่ให้เข้าไปสะสางอยู่มากมาย

"ที่ ปทุมวันมีอัตลักษณ์พิเศษ คือ หลังจากเป็นอุดมศึกษาแล้ว
ระบบคิด ยังเป็นไปในทางอาชีวศึกษา ดังนั้น สิ่งที่ต้องเร่งพัฒนา คือ
คุณภาพทางด้านวิชาการที่ต้องเป็นอุดมศึกษา
โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายของรัฐ
ปทุมวันต้องรักษามาตรฐาน และเกณฑ์ของอุดมศึกษาไม่ต่างจากสถาบันอื่นๆ
ขณะเดียวกัน ก็ต้องผ่านการประเมินภายนอกจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการ
ศึกษา หรือ สมศ.และหลักสูตรก็ต้องเป็นไปตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนด
นักศึกษาก็ต้องผ่านการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม หรือ
กว.ด้วย" ผศ.วิศิษฎ์ บอกเล่าถึงแผนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในเทคโนฯ
ปทุมวันให้เป็นที่ยอมรับของสังคม

สิ่งที่ว่าที่อธิการบดีคนใหม่คิดไว้นั้น อาจจะไม่ง่ายนัก
หากไม่ได้รับความร่วมมือนักศึกษา
และอาจจะต้องเจอกับแรงต้านเหมือนที่ผู้บริหารชุดก่อนๆ เคยประสบมา
ซึ่งรักษาการอธิการบดี บอกว่า
ต้องทำความเข้าใจกับนักศึกษาว่านี่เป็นการพัฒนาสถาบันฯ
และคุณภาพของนักศึกษาเอง ขณะเดียวกัน เมื่อแรกเข้าสถาบัน
มีคู่มือนักศึกษาแจกให้กับทุกคน
ซึ่งนักศึกษาก็ต้องทำความเข้าใจทั้งเรื่องหลักสูตรที่ตนเองเรียน กฎ
ระเบียบ ข้อบังคับ ให้ครบถ้วนบริบูรณ์
และต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านั้น

"อย่า คิดว่าเข้ามาในสถาบันแล้ว จะทำได้ตามอำเภอใจ
เพราะหากทำเช่นนั้น ก็มีแต่จะทำให้สถาบันเสื่อมเสียชื่อสียง ผมเข้าใจว่า
นักศึกษาในปทุมวันมาจากหลายที่ และมาจากสายอาชีวศึกษา
บางครั้งมีความรักพี่รักน้องค่อนข้างรุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องดี
แต่ก็ต้องแยกให้ออกว่า ต้องรักไปในทางสร้างสรรค์ และเราเป็นอุดมศึกษาแล้ว
คือ อุดมไปด้วยการศึกษา หากเราไม่ปรับปรุงตัวเอง
สุดท้ายจะไปมีปัญหาที่ปลายทาง ไม่มีใครอยากรับเราเข้าทำงาน
สังคมไม่ให้การยอมรับ เชื่อว่านักศึกษาก็คงไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น
ส่วนใครที่มีพฤติกรรมชอบนอกกติกาก็คงพูดคุยกันเป็นรายบุคคล
ซึ่งผมยังมั่นใจว่านักศึกษาส่วนใหญ่ยังเคารพครู อาจารย์
แต่หากใครมีพฤติกรรมที่หมิ่นเหม่ผิดกฎหมายก็ต้องให้เจ้าหน้าที่บ้านเมือง
จัดการ"

สำหรับปัญหาการยกพวกตีกันกับคู่อริตลอดกาลอย่างสถาบันเทคโนโลยีราช
มงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ผศ.วิศิษฎ์ เปิดเผยว่า
ขณะนี้ในระดับผู้บริหารทั้ง 2
สถาบันได้มีการหารือร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด
ซึ่งองค์การนักศึกษาทั้ง 2 แห่ง จะต้องมีกิจกรรมร่วมกันมากขึ้นเรื่อยๆ
หรือหากเป็นไปได้ก็อยากให้มีพิธีครอบครูช่างเพื่อบูชาพระวิษณุกรรมร่วมกันใน
อนาคต และเชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ จะค่อยๆ ดีขึ้น

ไม่เพียงแต่ปัญหาจากนักศึกษา ดูเหมือนว่าภายในเทคโนฯ ปทุมวัน
ยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างครู อาจารย์ด้วยกันเองอีกด้วย
ซึ่งรักษาการอธิการบดี ยอมรับว่า ปัญหาดังกล่าวมีอยู่จริง
แต่เป็นปัญหาความเข้าใจไม่ตรงกัน ซึ่งหากมีการพูดจากันก็จะเข้าใจกัน
โดยหลังการเข้ารับตำแหน่งแล้ว จะมีการเรียกประชุมคณาจารย์
และผู้บริหารเพื่อพูดคุยกันอย่างเปิดอกและแก้ปัญหาที่มีอยู่

"จิตสำนึกของครูอาจารย์อยู่ที่นักศึกษาเป็นหลัก
ทุกคนต้องการให้นักศึกษาอยู่อย่างมีความสุข ครู
อาจารย์ก็ต้องมีความรับผิดชอบ นำพานักศึกษา และองค์กรไปสู่ความสำเร็จ
ความไม่เข้าใจกันที่มีอยู่ หากมีการประชุมร่วมกันมากขึ้น ทั้งในสาขาวิชา
และระดับภาพรวมของสถาบัน ผมมั่นใจว่าปัญหาความขัดแย้งแก้ไขได้แน่นอน"

ถึงแม้จะยอมรับว่า มีความหนักใจอยู่มากกับภาระหน้าที่ในฐานะ
"อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน" แต่ ผศ.วิศิษฎ์ ยืนยันว่า

"ผมต้องการเข้ามาทำงานและพัฒนาสถาบัน
การปิดปทุมวันไม่ได้อยู่ในความคิดผมเลย"

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000074568

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น