++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การเสมอภาคทางการเมืองและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ

โดย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน


หลักการใหญ่ๆ ของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย คือ
สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค
ซึ่งหมายความว่าประชาชนทุกคนในสังคมมีความเสมอภาคกันในแง่การเป็นสมาชิกของ
ชุมชนนั้น อย่างไรก็ตาม
ความเสมอภาคดังกล่าวอาจจะมีไม่ครบถ้วนทุกคนเนื่องจากมีความแตกต่างในหมู่
สมาชิกในสังคม เช่น
สิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้นมีการกำหนดอายุขั้นต่ำเอาไว้
สิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งก็เช่นเดียวกัน
หรือในกรณีที่มีการดำรงชีวิตไม่เหมือนผู้อื่น
และการใช้สิทธิทางการเมืองอาจจะมีผลกระทบในทางลบได้
ก็จะไม่มีความเสมอภาคเท่าผู้อื่น เช่น พระภิกษุสงฆ์ นักบวช นักพรต
ไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น

บุคคลที่ถูกศาลสั่งเป็นบุคคลล้มละลายก็ไม่มีสิทธิทำนิติกรรม
เพราะเสมือนคนซึ่งตายแล้วในทางเศรษฐกิจ
ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้คือข้อจำกัดของสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค
แต่ส่วนใหญ่เป็นข้อยกเว้น

สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคที่เป็นเรื่องหลักๆ นั้นก็คือ
สิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในร่างกาย สิทธิในทรัพย์สิน
สิทธิในการเลือกที่อยู่อาศัย ฯลฯ ส่วนความเสมอภาคนั้นได้แก่
ความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย (equality before the law)
ความเสมอภาคทางการเมือง (political equality) หนึ่งคนหนึ่งเสียง (one man
one vote) ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ (human dignity) ซึ่งจะละเมิดมิได้

แม้จะมีการประกันสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคดังกล่าวในรัฐธรรมนูญโดย
ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ
ตราบเท่าที่ประชาชนยังมีความยากจนค้นแค้น ชักหน้าไม่ถึงหลัง
ทำมาหากินฝืดเคือง หนี้สินพะรุงพะรัง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเกษตรกรที่ส่วนใหญ่ติดหนี้ ธกส.
ติดหนี้เงินกู้นอกระบบ ราคาพืชผลถูกกำหนดโดยคนกลาง
ผลตอบแทนที่ได้มักจะต่ำกว่าแรงงานและความมานะบากบั่นที่ใส่ลงในอาชีพ
ความยากจนดังกล่าวนำไปสู่ความไม่เสมอภาคทำให้เกิดช่องว่างอย่างมากในทาง
เศรษฐกิจ

คนจำนวนไม่น้อยมีลักษณะยากจนข้นแค้นหรือบางทีเรียกว่า จนดักดาน
ซึ่งมีนัยสำคัญทางการเมือง ความยากจนจะไม่นำไปสู่ความเชื่อมั่น
รวมทั้งความมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
มีคำกล่าวหนึ่งกล่าวว่า "ผู้ใดที่ไม่มีความอิสระทางเศรษฐกิจ
ผู้นั้นจะไม่มีความอิสระทางการเมือง" (If you cannot be economically
independent, you cannot be politically independent.)

นอกจากความจนที่กล่าวมาแล้ว
การขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีระยะเวลายาวนานพอ
เมื่อผสมผสานกับระบบการศึกษาที่ไม่ส่งเสริมให้มีการคิดวิเคราะห์
ย่อมจะทำให้ขาดข้อมูลและความรู้ที่พอเพียง
ผนวกกับการอยู่ในสังคมที่คนถูกสอนให้ว่านอนสอนง่าย สยบต่อผู้มีอำนาจ
เกรงกลัวอำนาจรัฐ ผลที่ตามมาก็คือการขาดความรู้และการขาดข้อมูล
หรือการไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเนื่องจากด้อยความรู้นั้น
นำไปสู่ความเขลาทั้งๆ ที่อาจจะเป็นคนฉลาดในทางสมอง เรียนรู้ได้เร็ว
ความเขลาเมื่อผสมกับความจนก็จะกลายเป็นความชั่วคู่แฝดที่มีผลกระทบต่อสิทธิ
เสรีภาพและความเสมอภาคทั้งทางตรงและทางอ้อม

ความจนที่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจนั้นแก้ไขได้โดยการพัฒนาเศรษฐกิจที่
กระจายความมั่งคั่งให้ทั่วถึง เพื่อขจัดปัญหาเรื่อง "รวยกระจุก จนกระจาย"
อันหมายถึงจะต้องมีการแจกแจงรายได้อย่างเป็นธรรม นอกจากที่กล่าวมาแล้ว
สิ่งซึ่งสามารถจะทำให้เกิดความเสมอภาคทางการเมืองโดยตัวแปรทางเศรษฐกิจนั้น
ที่เห็นได้ชัดคือ การปรากฏของสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีราคาถูกกว่าเดิม
ทำให้คนทั่วไปสามารถซื้อสินค้าได้มากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าประชาชนมีอำนาจซื้อมากขึ้นกว่าเดิม

ตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นได้ก็คือ เมื่อ 50
ปีก่อนนั้นการมีวิทยุหนึ่งเครื่องจะมีได้เฉพาะคนร่ำรวยเท่านั้น
วิทยุกรุนดิกของเยอรมนีเครื่องละ 5,000 บาท โดยก๋วยเตี๋ยวมีราคาชามละ 50
สตางค์ หมายความว่าจะต้องใช้ก๋วยเตี๋ยวหนึ่งหมื่นชามจึงจะสามารถซื้อวิทยุได้
และเนื่องจากในต่างจังหวัดกลางวันไม่มีไฟฟ้าก็ต้องใช้แบตเตอรี่แทน
หลังจากที่มีการพัฒนาวิทยุทรานซิสเตอร์ใช้ถ่านไฟฉายแทนไฟฟ้า
การมีวิทยุมีได้ตั้งแต่คนสวน ผู้ช่วยแม่บ้าน จนถึงเด็กๆ
ทั้งเครื่องเล็กและใหญ่ ทั้งในรถยนต์ ในบ้านอาจจะมีถึง 5-6 เครื่อง
กลายเป็นสินค้าที่นำไปสู่ความเสมอภาคในหมู่ประชาชนทันที

ต่อมาก็คือโทรทัศน์ขาวดำซึ่งมีได้เฉพาะคนร่ำรวยเท่านั้น
มาในปัจจุบันโทรทัศน์สีสามารถหาซื้อได้โดยคนที่มีรายได้อยู่ในระดับไม่สูง
นัก ในสมัยนั้นจักรยานซึ่งสั่งมาจากอังกฤษยี่ห้อราเล่ย์และฮัมเบอร์ราคาคันละ
1,100 บาท เท่ากับก๋วยเตี๋ยว 2,200 ชาม
ซึ่งมีไว้สำหรับคนซึ่งมีฐานะเป็นชนชั้นกลาง
ส่วนคนยากจนก็ใช้จักรยานราคาคันละ 700 บาท เป็นจักรยานบรรทุก
ซึ่งหมายความว่าจักรยานคันที่แพงกว่านั้นเปรียบได้กับรถเก๋ง
ส่วนจักรยานที่ถูกกว่าเปรียบได้กับรถกระบะ ในกรณีรถยนต์นั้น
คนที่มีรถยนต์ในสมัยนั้นคือเศรษฐี
แต่มาในปัจจุบันทั้งคนเศรษฐีและคนฐานะปานกลางต่างมีสิทธินั่งรถยนต์ได้
ที่สำคัญคือ รถกระบะกลายเป็นรถติดแอร์ มีเครื่องเสียงอยู่ข้างใน
อาจจะไม่นิ่มเท่ารถเก๋งแต่การใช้งานเหมือนกัน

ในสมัย 40-50
ปีก่อนคนมีฐานะคือพ่อค้าหรือข้าราชการเท่านั้นจึงมีสิทธิดื่มเบียร์
แต่ในปัจจุบันคนทุกชั้นไม่ว่าฐานะสูงต่ำเพียงใดมีสิทธิดื่มเบียร์เท่ากัน
ทั้งสิ้น ในอดีตคนที่มีรายได้น้อยดื่มได้เฉพาะเหล้าขาว (35 ดีกรี)
แพงหน่อยก็คือเหล้าเชี่ยงชุน นอกจากสิ่งที่กล่าวมาแล้วเรื่องอาหารการกิน
เสื้อผ้า ก็มีการเปลี่ยนแปลงในทางเสมอภาคมากยิ่งขึ้น กางเกงขายาว
เสื้อประเภทต่างๆ รวมทั้งรองเท้าหนังใส่กันเกลื่อนทั่วไป
เปรียบเทียบกับสมัยก่อนรองเท้าหนังยี่ห้อบาแรตสั่งจากอังกฤษคู่ละ 180 บาท
ซึ่งมีราคาแพงกว่ารองเท้าผ้าใบมาก

ในสมัย 40-50 ปีก่อนเนื้อไก่มีราคาสูงลิ่วกินได้เฉพาะคนที่มีฐานะ
หรือคนไทยเชื้อสายจีนหรือคนจีนที่มีการกินไก่ไหว้เจ้าตอนตรุษจีน คนทั่วๆ
ไปมีโอกาสน้อยที่จะได้กินเนื้อไก่นอกจากไก่ทาขมิ้นเสียบกับไม้ไผ่เป็นรูปสาม
เหลี่ยมอันเป็นไก่ย่างชนิดหนึ่งที่มีการขายด้วยราคาพอที่จะจับจ่ายได้
ที่ขึ้นชื่อที่สุดคือ ไก่ทาขมิ้นขายที่สถานีรถไฟชื่อวังพงษ์
ในกรุงเทพมหานครก็มีไก่ย่างอิสลามและไก่ย่างสนามมวยซึ่งราคาก็ไม่ถูกนัก

ที่กล่าวมาทั้งหมดเพื่อชี้ให้เห็นว่า
การพัฒนาทางวัตถุก็มีส่วนช่วยให้เกิดความเสมอภาคทางสังคม
อันนำไปสู่ความเสมอภาคทางการเมืองมากยิ่งขึ้น
และในความเป็นจริงความจำเป็นเบื้องต้นของมนุษย์ก็คือปัจจัยสี่
หลังจากนั้นก็คือสิ่งซึ่งที่อำนวยประโยชน์ในทางเป็นดัชนีชี้ฐานะเหนือผู้
อื่น เช่น ไม่ว่าเศรษฐีหรือยาจกต่างก็ต้องมีที่อยู่อาศัย มีอาหาร
เครื่องนุ่งห่ม และเมื่อเจ็บป่วยก็ต้องมีการรักษาโรค
เป็นแต่ว่าอาหารที่รับประทานจะแตกต่างกันในเรื่องราคา
เครื่องนุ่งห่มก็จะแตกต่างกัน
ที่อยู่อาศัยรวมทั้งการรักษาพยาบาลก็จะแตกต่างกัน
สังคมที่ดีคือปัจจัยสี่นี้จะต้องมีมาตรฐานที่รับได้สำหรับคนที่ยากจนที่สุด

ส่วนคนที่ร่ำรวยกว่าจะทำให้หรูหราอย่างไรก็เป็นสิทธิของปัจเจกบุคคล
และจะประดับด้วยเพชรนิลจินดาเพื่อยกฐานะทางสังคมก็เป็นสิทธิอันชอบธรรม
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า แม้คนยากจนที่สุดก็ควรจะมีอาหารรับประทานพอเพียง
มีบ้านสำหรับอาศัยหลับนอน
และความต้องการที่จะมีที่อยู่อาศัยนี้มีตัวอย่างเมื่อประมาณ 40-50
ปีมาแล้วคือ นายไถง สุวรรณทัต
จัดโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจขึ้นที่บางแคเป็นหลังเล็กๆ มีเนื้อที่ประมาณ
20 ตารางวาหรืออาจน้อยกว่า ขายหลังละ 5,000 บาท
ปรากฏว่าประชาชนแห่ไปซื้อกันหมดภายในพริบตาเดียว
ซึ่งมาในยุคสมัยใหม่ก็คือบ้านเอื้ออาทรเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของการมี
ที่อยู่อาศัย

การพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเพื่อให้สัมฤทธิผลบนหลักของ
สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคนั้น
การขาดการพัฒนาเศรษฐกิจและการแจกแจงรายได้อย่างเป็นธรรมเพื่อลดช่องว่าง
ระหว่างคนรวยและคนจน
ช่องว่างระหว่างนาครและชนบทจะไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาไปสู่เป้าหมายดัง
กล่าวได้ บทบาทของนักธุรกิจในการช่วยยกฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชน
โดยการทำให้เกิดการว่าจ้างแรงงานอันจะช่วยขจัดความยากจน
จึงเป็นบทบาทที่สำคัญและควรส่งเสริม
ตราบเท่าที่คนมีฐานะต่ำสุดในสังคมมีปัจจัยสี่
มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและการว่าจ้างแรงงาน
สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคย่อมจะเกิดขึ้น
และนี่คือบันไดแรกของการนำไปสู่การพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ต่อ
เนื่องและยั่งยืน

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น การมีวิทยุทรานซิสเตอร์
ไก่ย่างราคาย่อมเยา
ปลาและกุ้งที่มีการเพาะเลี้ยงจนนำไปสู่ราคาที่สามารถจับจ่ายได้โดยชนชั้นที่
มีรายได้พอสมควร เสื้อผ้าที่มีราคาไม่สูงนัก
และการรักษาพยาบาลที่คนยากจนมีโอกาสได้รับการเยียวยา

การมีโอกาสได้เล่าเรียนหนังสือโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในชั้นประถม
มัธยม และในมหาวิทยาลัยเปิด ฯลฯ
ล้วนแล้วแต่เป็นตัวแปรที่จะปิดช่องว่างความไม่เสมอภาคและความเขลาของชนชั้น
ในสังคม กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการศึกษาจึงเป็นกระทรวงที่ต้อง
มีรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถ มีปรัชญาของการปกครองบริหาร
มีวิสัยทัศน์ในการสร้างชาติ สร้างอนาคต เข้าใจระเบียบวาระแห่งชาติ
มีจินตนาการ และมีความมุ่งมั่นทางการเมือง

เมื่อ ประชาชนกลายเป็นพลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพ เสมอภาค
มีเกียรติและศักดิ์ศรี ปลอดจากความยากจนข้นแค้น
เข้าถึงข้อมูลและมีความรู้
การพัฒนาประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000074397

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น