++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2552

3 ปี “ค่ายสร้างสุข” 3 ปีแห่งการปลูก “จิตอาสา”

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    
       ‘จิตอาสา’ เป็นคำหนึ่งที่ระยะหลังมานี้หลายคนจะได้ยินกันบ่อย แต่ก็มีอีกไม่น้อยเช่นกันที่ไม่รู้ถึงความหมายของ คำเล็กๆ คำนี้ หากแปลความโดยรวมคือ ผู้ที่มีจิตใจเป็นผู้ให้ ทั้งกำลังแรงกาย แรงจากปัจจัย แรงจากสมอง โดยการเสียสละของที่ตนเองมี ยอมทิ้งประโยชน์ส่วนตน เพื่อเผื่อแผ่ให้กับส่วนรวม และมุ่งเน้นให้สังคมเกิดความสุขเพิ่มมากขึ้น

#        “ออกค่าย” การเรียนรู้นอกตำรา
      
       ในความสำคัญของเยาวชนกับการทำงานจิตอาสาเพื่อสังคมนั้น รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา ให้ความเห็นไว้ว่า วัยหนุ่มสาวถือเป็นช่วงชีวิตที่มีโอกาสดีมากในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ และการออกค่ายเป็นกิจกรรมหนึ่งที่บ่งบอกถึงการทำงานเพื่อสังคม ด้วยการศึกษาในปัจจุบันที่ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ด้านวุฒิปัญญาจากในหนังสือ ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการร่วมกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพของตัวเอง ซึ่งจะทำให้มีความเข้าใจโลกเพิ่มขึ้น ดังนั้นในวัยที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ก็ยังมีโอกาสลงไปสัมผัสกับสังคมที่เป็นจริง และกิจกรรมการออกค่ายก็ทำให้พวกเขาได้เข้าใจกับโลกที่เป็นจริงได้
      
       แน่นอนว่า ในโลกของความเป็นจริงไม่มีใครอยู่ได้โดยลำพัง หากมองย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้วนักศึกษาส่วนใหญ่มีโอกาสได้ทำงานเพื่อสังคม มีการเคลื่อนไหวภายในมหาวิทยาลัย และนักศึกษามีโอกาสได้ใกล้ชิดและสัมผัสกับชนบท แต่ปัจจุบันนี้ด้วยความเจริญก้าวหน้าที่เข้ามา ทำให้วัยรุ่นโดนดึงเข้าไปเพื่อแสวงหาความบันเทิงเสียเป็นส่วนใหญ่ สนใจโลกบันเทิงมากกว่าการทำค่ายอาสาซึ่งหากมีโอกาสได้เรียนรู้ ได้สัมผัสกับอีกสังคมหนึ่งที่ห่างออกไปจากตัวเมือง ก็จะได้เรียนรู้อีกหนึ่งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ได้ตั้งสติ และทำให้มีเกิดการเคารพผู้อื่นมากขึ้น
      
       “หนุ่ม สาว มีโอกาสเข้าถึงตรงนี้ได้ง่าย เพราะเมื่อล่วงเข้าสู่ช่วงวัยทำงานบรรยากาศตรงส่วนนี้จะหมดไป หากที่ผ่านมาเราได้เสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตตรงส่วนนี้เข้าไป จะช่วยให้เรามองสังคมเป็นไปในทางบวก และจะส่งผลให้อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นตามไปด้วย เหมือนคำพูดที่ว่า “ไม่มีส่วนไหน ยิ่งใหญ่ไปกว่าส่วนรวม” และหากการศึกษาสามารถบ่มเพาะให้เยาวชนเกิดความเข้าใจในเรื่องของจิตอาสาได้ บ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อช่วยกันดูแลรักษาส่วนรวม ก็จะเป็นการรักษาผลประโยชน์ของคนทุกคน และการทำประโยชน์เพื่อคนอื่นอาจจะพบความสุขมากกว่าทำเพื่อตัวเองด้วยซ้ำ ดังนั้นการทำค่ายจะทำให้เข้าใจความจริง เป็นการอุทิศตนเองเพื่อสิ่งที่ดีของสังคม ซึ่งเมื่อเราได้ให้คุณค่าสิ่งอื่นนอกจากตัวเองแล้ว สังคมในอนาคตก็จะดีขึ้นแน่นอน ” ส.ว.รสนา ขยายความ


       ด้าน รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ในฐานะคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 6 แผนสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรม สสส. ให้ความเห็นเช่นเดียวกันว่า ในช่วงชีวิตของคนๆ หนึ่ง เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นถือได้ว่าเป็นช่วงที่หายใจหายคอ ไม่ทั่วท้อง เพราะต้องลุ้นอยู่ตลอดเวลาทั้งเรื่องการเรียน การใช้ชีวิต แต่เมื่อเข้าสู่วัยอุดมศึกษาจะเริ่มเห็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่ชัดเจน มีทิศทางมากขึ้น ดังนั้นช่วงเวลานี้เป็นเหมือนการ “หยุดพักหายใจ” และการไปค่ายก็เหมือนไปพักหายใจ ไปใช้ชีวิตให้คุ้มค่า นำความรู้ที่มีอยู่เพื่อเผื่อแผ่ให้กับสังคม
      
       “คำ พูดที่ว่า เยาวชนคืออนาคตของชาติ คงไม่ใช่แต่เป็น เยาวชนคือปัจจุบันของชาติ มากกว่า ตอนนี้ทำอะไรเพื่อเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง แก่สังคมได้ก็ต้องรีบทำ ซึ่งทุกคนต่างก็หวังให้เยาวชนเป็นเรี่ยวแรงที่สำคัญตั้งแต่วันนี้ พยายามชักชวนกันไปทำสิ่งดีๆ ชวนกันไปพักหายใจกับค่ายอาสา แล้วจะได้มีชีวิตที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น” รศ.นพ.กำจร แนะนำ

#        เรียกพลัง “จิตอาสา” จากเด็กค่าย

      
       ถึงตรงนี้เชื่อเหลือเกินว่าจิตอาสา เป็นสิ่งที่สังคมไทยในปัจจุบันต้องการ และจากการให้ความสำคัญตรงนี้ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิโกมลคีมทอง ที่จับมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เปิดให้ทุนสนับสนุนโครงการเยาวชนในชื่อ “ค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพ” หรือ “ค่ายสร้างสุข” เพื่อเป็นการต่อยอดกระบวนการเรียนรู้ ความคิด ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ให้ร่วมกันสร้างสรรค์สังคมด้วยพลังของจิตอาสาขึ้น
      
       ...แล้ว 3 ปีที่ผ่านมากระบวนการค่ายสร้างสุข ได้เรียกพลังจิตอาสาของเยาวชน หนุ่ม สาวได้มากน้อยแค่ไหนนั้น
      
       พี่ติ๊ก - วีรินทร์วดี สุนทรหงษ์ ผู้อำนวยการโครงการค่ายอาสาพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพ ให้รายละเอียดถึงภาพรวมว่า ที่ผ่านมา ได้สนับสนุนทุนแก่น้องๆ เยาวชนมากกว่า 200 โครงการ โครงการละไม่เกิน 1 แสนบาท ผลที่ได้ คือ ที่ผ่านมาน้องๆ มีการทำค่ายที่หลากหลาย โดยแบ่งลักษณะของการทำค่ายได้ดังนี้ ทั้งค่ายสร้าง ค่ายการเรียนรู้ ค่ายสุขภาพ ค่ายสิ่งแวดล้อม และค่ายผสมผสาน ซึ่งส่วนใหญ่แต่ละค่ายน้องๆ จะใช้วิชาชีพของตนเองที่เรียนมาเพื่อไปทำค่าย ด้วยศักยภาพของการทำงานที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ และสิ่งที่ได้ตอบแทนมาคือ การได้เรียนรู้ ได้เพื่อน ได้ประสบการณ์ ความคิด เรียนรู้กระบวนการจัดการที่ไม่ใช่อะไรที่ง่าย ทั้งการรวบรวมทุน หาสมาชิก หาสถานที่ ซึ่งแต่ละส่วนต้องผ่านการประสานงานทั้งหมด

วีรินทร์วดี สุนทรหงษ์
       “บางคนกลับจาก ค่ายมาทำให้เขาได้คิดถึงแนวทางการใช้ชีวิต ของคนต่างจังหวัดที่เขาได้ไปสัมผัส หลายคนคิดถึงมิตรภาพที่เกิดขึ้น นึกถึงการใช้ชีวิตอันเรียบง่าย และเมื่อได้หยิบยื่นสิ่งพวกเขาขาดเพื่อเติมเต็มให้แก่ชุมชนนั้นๆ รอยยิ้มของชาวบ้าน ก็นำมาซึ่งกำลังใจของชาวค่ายทุกคน ซึ่งหากมองดูก็จะเห็นว่าทั้งหมดนี้คือสิ่งที่น้องๆ ได้หลังกลับจากค่ายทั้งสิ้น พวกเขาเองสามารถที่จะเลือกนอนเฉยๆ อยู่กับบ้าน เล่นเกม เที่ยวไปวันๆ ก็ได้ แต่เมื่อมาอยู่ค่ายทั้งหมดที่กล่าวมาก็ถือได้ว่าเป็นการสรุปภาพรวมตลอด 3 ปีที่ผ่านมาได้ดีที่สุด” พี่ติ๊ก ให้ภาพ
      
       พี่ติ๊ก ยังบอกอีกว่า สิ่งที่เห็นอย่างเด่นชัดที่สุดคือ น้องๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยธรรมชาติ อย่างเช่น ในค่ายหนึ่งที่น้องๆ จากภาคอีสานต้องลงไปทำงานในพื้นที่ภาคใต้ จ.สตูล ซึ่งก่อนจะลงทำค่ายนั้นก็ต้องมีการลงพื้นที่ศึกษาคลุกคลี กับชุมชนก่อน ว่าสิ่งที่จะทำให้กับชุมชนมีผลกระทบทั้งทางบวก และทางลบอย่างไร การลงเก็บข้อมูลเหล่านี้ต้องใช้เวลานาน ทำให้การศึกษาการเรียนรู้ วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนอีสาน กับคนใต้ไปด้วยกันโดยธรรมชาติ และหลังจากน้องๆ ได้ลงพื้นที่สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนแล้วก็จะมีการติดตามผล และเสียงตอบรับตามหลังที่ได้จากชาวบ้านคือ “เมื่อไหร่ค่ายจะกลับมาอีก”... เพียงแค่นี้ก็เชื่อว่าสิ่งที่ทุกคนได้ร่วมแรง ร่วมใจทำนั้นมันเกิดประโยชน์ต่อผู้รับมากแค่ไหน

       สำหรับแนวทางการสนับสนุนค่ายสร้างสุขในปีที่ 4 จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น พี่ติ๊ก เผยว่า ในปีที่ 4 จะเน้นหนักไปที่ค่ายพัฒนามากขึ้น โดยจะมีการพัฒนาแกนนำค่าย และไม่เพียงแค่ให้น้องๆ ส่งโครงการเข้ามาเสนอเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการสร้างเครือข่ายให้น้องๆ จากต่างพื้นที่ ต่างชุมชน ต่างโรงเรียน ต่างมหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน เน้นการเชื่อมโยงการทำงานให้เป็นเครือข่ายมากกว่าที่เป็นอยู่
      
       ทั้ง นี้ จะมีการเพิ่มเงื่อนไขการทำค่ายให้ส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน สร้างเสริมสุขภาพ และสร้างเสริมความสามัคคี ที่เมื่อเขียนโครงการมานำเสนอก็ต้องกำหนดแนวทางการจัดการเรื่องราวเหล่านี้ มาด้วย ซึ่งในปี 2552 นี้จะเปิดรับพิจารณาโครงการ 2 รอบ เริ่มในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค.รับ 70 โครงการ และในเดือนตุลาคมจะเปิดรับอีก 30 โครงการ สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา กลุ่มไหนสนใจสามารถดูรายละเอียดการเสนอโครงการค่ายสร้างสุขได้ที่ www.dek-kai.org

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000022225

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น