โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
ปัจจุบันถือได้ว่าการเรียนรู้จากตำราไม่เพียงพอสำหรับนิสิต นักศึกษา หลายวิชาในแทบทุกมหาวิทยาลัยต่างพยายามหาหนทางให้นิสิต นักศึกษา ได้มีโอกาสไปเรียนรู้และฝึกภาคปฏิบัติจากของจริง อย่างเช่นหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ ที่ผู้ร่ำเรียนทางด้านวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ต้องลองลงมือทำกันเองตั้งแต่ต้นจนจบ หรือแม้แต่ผู้ที่ร่ำเรียนทางด้านการโรงแรมก็ต้องมีการฝึกปฏิบัติ เห็นได้จากหลายมหาวิทยาลัยจัดตั้งห้องอาหารขึ้นเพื่อให้นักศึกษาที่ร่ำเรียน ทางด้านดังกล่าว ได้มีโอกาสฝึกปรืองานทางด้านบริการภายในห้องอาหาร
ไลฟ์ ออน แคมปัส – ออนไลน์ มีโอกาสได้อ่านคอลัมน์ ‘สะพายเป้ เข็มทิศ ลายแทง’ ในสารรังสิต (วารสารภายในของมหาวิทยาลัยรังสิต) เราพบว่าคณะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยรังสิตเปิดการเรียนการสอนในรายวิชาการท่องเที่ยวเชิงผจญภัย พร้อมๆ กับพาลูกศิษย์ออกฝึกภาคปฏิบัติการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยจากของจริงด้วย
อาจารย์อิทธิพันธ์ พัฒนานุพงษ์ อาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ ผู้ทำหน้าที่สอนรายวิชาดังกล่าว เปิดเผยว่าการที่เปิดรายวิชานี้ขึ้นมาเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้การจัดการ เทคนิควิชาการ รวมทั้งได้ปฏิบัติจริง และหวังให้นักศึกษาเมื่อจบการศึกษาแล้ว หากได้ไปทำงานกับหน่วยงานที่เป็นการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยอย่างปีนหน้าผา หรือล่องแก่งจะสามารถทำงานกับเขาได้
“หากเป็นการท่องเที่ยวแบบทั่วๆ ไปก็ไม่มีอะไร ผู้ที่จบการศึกษาอาจจะไปเป็นไกด์นำเที่ยวลักษณะนี้ได้ แต่เราเห็นว่าเดี๋ยวนี้นักท่องเที่ยวเริ่มที่จะเข้ามาเที่ยวแบบผจญภัยกันมาก ขึ้น เราทำตรงนี้ขึ้นมาก็หวังให้ลูกศิษย์เรามีโอกาสได้งานทำมากขึ้น”
เรื่องความปลอดภัยของผู้เรียนนับเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง อาจารย์อิทธิพันธ์ยืนยันว่า การท่องเที่ยวเชิงผจญภัยนั้นมีความเสี่ยงอย่างแน่นอน ดังนั้นก่อนที่จะไปลงสนามฝึกปฏิบัติจริงกัน อาจารย์จะต้องเดินทางไปสำรวจดูก่อนว่ามีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด หากเป็น 80 / 20 (ปลอดภัย/เสี่ยง) ก็จะไม่พานักศึกษาไปลอง แต่ถ้าเป็น 90 / 10 แล้วถือได้ว่ามีความปลอดภัยเพียงพอ
“ผมสอนในห้องผมสอนหลักวิชาการ และเชิญวิทยากรที่มีความรู้ เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการผจญภัยมาถ่ายทอดความรู้ให้กับตัวนักศึกษา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้เขาจะมีเทคนิคของเขาเวลาเขาไปเที่ยวผจญภัยของเขาเอ ง เราคำนึงถึงความปลอดภัยของนักศึกษาเรามากที่สุด อย่างกิจกรรมปีนหน้าผาความสูง 30 -50 เมตร ผมก็ให้เด็กปีนสัก 20 – 30 เมตรก็พอแล้ว คือให้เขาได้ประสบการณ์จริงบ้าง”
ใช่ว่าผู้ที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชานี้จะได้ไปฝึกท่องเที่ยวเชิงผจญภั ยกันทุกคน เพราะอาจารย์อิทธิพันธ์มีการตรวจสอบประวัติสุขภาพของผู้ที่จะไปก่อน โดยให้นักศึกษากรอกประวัติเองว่ามีโรคประจำตัวอะไรหรือไม่ ต้องทานยาอะไรเป็นประจำบ้าง
“บอกตรงๆ นะบางคนผมเห็นแล้วถามเขาตรงๆ เลยว่าไม่ไปได้ไหม เพราะเห็นท่าทางเขาไม่แข็งแรงน่ะ เราไม่อยากให้เขาไปเสี่ยง ดีใจอย่างหนึ่งที่ตั้งแต่สอนรายวิชานี้มาไม่เคยมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเลย และหวังว่าจะไม่เกิดขึ้นตลอดไป”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้เรียนมีหลากหลายรูปแบบทั้งที่ชอบชีวิตแบบลุยๆ กินอยู่ง่าย บางคนไม่เคยนอนกลางดินกินกลางทราย ชีวิตสุขสบาย ดังนั้นการมาใช้ชีวิตด้วยกันเมื่อต้องเดินทางไปฝึกภาคปฏิบัตินั้น ผู้สอน ผู้ดูแล อย่างอาจารย์อิทธิพันธ์นั้นต้องมีวิธีควบคุมอย่างเท่าเทียม
“วันเข้าเรียนวันแรกผมบอกก่อนเลยว่าวิชานี้ต้องลุย ต้องทำอะไรบ้าง รับได้ไหม ถ้ารับไม่ได้ก็ไปถอนวิชาได้เลย เมื่อเขาไม่ถอน แต่พอออกฝึกปฏิบัติแล้วมาบ่นนี่ ผมชี้หน้าเขาเลยนะ ผมพูดเลยผมบอกคุณแล้วว่าเรียนวิชานี้ต้องลุย จะมาเหยาะแหยะไม่ได้ เขาก็หยุดนะสู้ต่อ
เรื่องแบบนี้ไม่เท่าไหร่หรอก แต่ที่สำคัญสุดๆ เลยเรื่องห้องน้ำ คือจะลุยจะอะไรก็ตามแต่ แต่ห้องน้ำนี่ต้องสะอาดสุดเลย เวลาสำรวจนี่หลายที่ ที่ผมเห็นว่าน่าไป แต่ติดตรงเรื่องห้องน้ำ ก็ต้องเปลี่ยนที่ใหม่ ต้องเข้าใจเด็กเหมือนกันว่าอะไรก็ตามห้องน้ำนี่สำคัญมากๆ”
เห็นดูแข็งแรงแบบนี้อาจารย์อิทธิพันธ์นั้นอายุกว่า 50 ปีแล้ว อาจารย์บอกว่าการสอนให้ลูกศิษย์รุ่นลูกเข้าใจนั้น ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับเด็ก อย่าปล่อยให้ตัวเองแก่ไปตามอายุ
“วิชาที่ผมสอนนี่ไม่ใช่ว่าสอนเฉพาะผู้เรียนในคณะ ผู้เรียนคณะอื่นก็สามารถที่จะลงทะเบียนเรียนได้ ดังนั้นในหนึ่งเทอมจะมีผู้เรียนจากนอกคณะประมาณครึ่งหนึ่งแล้วก็ผู้เรียนในค ณะอีกครึ่งหนึ่ง เมื่อเขามาเรียนด้วยกันทำให้เขาได้กลุ่มเพื่อนต่างคณะที่ค่อนข้างจะชอบอะไรเ หมือนๆ กัน อย่างนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ก็มีมาเรียนวิชานี้ เขาบอกว่าเขาอยากเรียนวิชาที่แบบไม่ต้องเครียดมากนัก ก็เห็นวิชานี้เรียนแล้วน่าจะได้ปลดปล่อยบ้าง
เวลาสอนใช้ว่าเราให้ความรู้กับเด็กเพียงอย่างเดียว เราก็เรียนรู้จากเด็กเหมือนกัน เพื่อให้เข้าถึงใจเด็กได้ว่าเด็กเขาต้องการอะไร พูดคุยกับเขาอย่างญาติสนิท วิชาที่ผมสอนจะไม่มีการเช็คว่าใครเข้าไม่เข้าห้องเรียน ปล่อยให้เด็กเขาตัดสินใจเองถ้าเต็มใจจะเข้าเรียนก็เข้ามา
ไม่เต็มใจจะเรียนก็ไม่ต้องเข้าเรียน ผมให้สอบด้วยแต่อย่าพลาดนะ เพราะอย่างที่บอกวิชานี้เรียนจากของจริงเป็นหลัก ดังนั้นในห้องเรียนจะมีของจริงให้ดูให้จับต้องได้ อย่างพวกเข็มขัดรัดเวลาปีนเขา ตัวดึง ตัวปล่อยเชือกมีให้ดูหมดในห้องเรียน ลักษณะการเรียนการสอนของผมก็เป็นแบบนี้ล่ะ”
http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9520000012437
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น