โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
ผล สำรวจ 10 สถานการณ์เด่นสุขภาพคนไทย พบสังคมไทยแย่ตกอยู่ในห้วงความทุกข์ เครียดการเมืองแบ่งขั้ว-ยาเสพติดกลับมาระบาด-น้ำมันแพง-ซึมเศร้าฆ่าตัว ตายกระฉูด-ซีแอล-ภัยทางเพศ-เมลามีน-เอดส์ ส่วนสถานการณ์ด้านสาธารณสุข หมอ-พยาบาล แห่ลาออก 40% ย้อนกลับไปเหมือน 30 ปีที่แล้ว ประสิทธิภาพความปลอดภัยของผู้ป่วยตาย 35%
วันที่ 24 มีนาคม ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล คณะทำงานสุขภาพคนไทย 2552 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม กล่าวในการเสวนา “10 สถานการณ์เด่นสุขภาพคนไทยควรรู้” พร้อมเผยแพร่หนังสือ “สุขภาพคนไทย 2552 เพื่อสุขภาวะแห่งมวลมนุษย์หยุดความรุนแรง” ว่า สถาบันจัดอันดับความสุขของโลก ได้จัดให้ไทยเป็นประเทศที่มีความสุขเป็นอันดับรองสุดท้ายของกลุ่มประเทศอา เซียน ซึ่งก็สอดคล้องกับ 10 สถานการณ์เด่นด้านสุขภาพของคนไทย ที่คณะทำงานสรุปได้ในปีนี้ ซึ่งล้วนบ่งชี้ว่า สังคมไทยกำลังตกอยู่ในห้วงของการเป็นสังคมแห่งความทุกข์
“เรื่องที่ควรต้องให้ความสำคัญมากที่สุด คือ เรื่อง ความรุนแรง ทั้งความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ความรุนแรงจากปัญหาการเมือง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็ก รวมถึงความรุนแรงและล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษา เพราะปัญหาเหล่านี้สะท้อนถึงความซับซ้อนทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและแก้ไขยากกว่าเรื่องเหล้า บุหรี่ หรือปัญหาทางสุขภาพอื่นๆ” รศ.ดร.กฤตยา กล่าว
รศ.ดร.กฤตยา กล่าวว่า ทั้งนี้ 10 สถานการณ์ด้านสุขภาพปี 2552 ประกอบไปด้วยความ เครียดของคนไทยอันเนื่องมาจากปัญหาการแบ่งขั้วทางการเมือง ปัญหายาเสพติดที่กลับมาระบาดหนักอีกครั้ง วิกฤตน้ำมันแพงที่ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย อาการป่วยของคนไทยที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายสูงขึ้น การประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ที่มีผลต่อการเข้าถึงยาของคนไทย ภัยทางเพศในสถานศึกษา สารเมลามีนที่ปนเปื้อนในน้ำนม แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ผจญชะตากรรมในประเทศไทย ภัยเอดส์ที่คุกคามวัยรุ่นไทย และสุดท้ายคือ การมีสมัชชาสุขภาพที่จะมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาสังคม และสนับสนุนให้สังคมมีสุขภาวะ ใครสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมของหนังสือสุขภาวะของคนไทย สามารถหาอ่านได้ที่ www.ipsr.mahidol.ac.th
ด้าน ดร.อุมาภรณ์ ภัทรวาณิชย์ คณะทำงานสุขภาพคนไทย 2552 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการสำรวจระบบบริการสาธารณสุขของไทยในปีนี้ พบว่า มีข้อเสีย คือ บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระจุกตัวอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนและเขตเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพฯ และยังมีอัตราการลาออกสูงถึง 40% ซึ่งเท่ากับย้อนไปสู่สังคมไทยเมื่อ 30 ปีที่แล้วที่มีปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางด้านสาธารณสุขมาก
“นอก จากนี้ ยังมีปัญหาด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระหว่างการรักษา ทำให้มีการเสียชีวิตของผู้ป่วย 35% และเกิดปัญหาการฟ้องร้องทางการแพทย์มากขึ้น ขณะที่การป้องกันโรค เช่น วัคซีนต่างๆ แม้จะมีมากขึ้นแต่ก็ยังมีปัญหาในเรื่องการคัดกรองผู้ป่วย ทำให้ไม่สามารถตรวจพบผู้ป่วยได้ โดยเฉพาะในการกรณีของมะเร็งปากมดลูกและโรคเบาหวาน” ดร.อุมาภรณ์ กล่าว
ดร.อุมาภรณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อดีที่พบ คือ ระบบบริการสุขภาพขยายตัวอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะระบบบริการปฐมภูมิ อีกทั้งระบบประกันสุขภาพก็มีความครอบคลุม ทำให้ประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลดน้อยลง ส่วนการให้บริการเพื่อป้องกันโรค เช่น วัคซีนต่างๆ ก็สามารถทำได้ทั่วถึงเกือบ 100% ที่สำคัญคือ ระบบบริการสาธารณสุขของไทย ถือว่ามีประสิทธิภาพในการให้บริการดีที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การที่โรงพยาบาลยโสธร ได้รับรางวัล “UN Putlic Service Awards 2008” ในสาขาหน่วยงานที่มีการปรับปรุงระบบการให้หรือเสนอบริการของตนให้ถึงประชาชน ได้เป็นอย่างดี จากองค์การสหประชาชาติ
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000033644
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น