++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2551

เอ็นทรานซ์... ที่สะท้าน : ในรั้วการศึกษา

อาษา อาษาไชย
คนที่สะท้านจากเอ็นทรานซ์

            ความหวังของบรรดานักเรียนชั้น ม.๖ ส่วนใหญ่ต้องการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐที่ดีๆ ไม่ว่าจะเป็นจุฬา, เกษตร,  ธรรมศาสตร์, มหิดล, ขอนแก่น, ลาดกระบัง ฯลฯ ดังนั้น ทุกคนจึงตั้งหน้าตั้งตาท่องตำรับตำราเพื่อที่จะได้สมดั่งหวังที่ตั้งใจไว้

            การที่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งของพวกเรา ซึ่งนอกจากพ่อแม่จะปลื้มใจอย่างสุดๆแล้ว ทางครูอาจารย์จากสถาบันเดิมก็ยังภูมิใจที่สามารถถ่ายทอดวิชาความรู้จนลูกศิษ ย์ของตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้และยังสร้างชื่อเสียงและสถิติใหม่ๆของคนที่สอ บเอ็นทรานซ์ติดแก่สถาบันนั้นๆด้วย

            ด้วยเหตุผลนี้และอีกหลายๆเหตุผล ทุกคนจึงตั้งหน้าตั้งตาขยันเข้าไว้ ครูบาอาจารย์ก็คอยให้กำลังใจเสมอ อันวิชาความรู้ท่านไม่เคยหวง อยากจะถ่ายทอดซะให้หมดด้วยซ้ำ ยิ่งที่บ้านผมอีสานนี่เรียกได้ว่า แทบจะป้อนให้เลย อาจารย์ท่านจ้ำจี้จ้ำไชสารพัด แต่อันนี้ก็แล้วแต่ตัวผู้เรียนเองว่าจะรับได้มากน้อยแค่ไหน

            การเตรียมตัวสอบของแต่ละคนก็ตามสไตล์ของตัว นับจากซุ่มเก็บตัวอย่างกับนักกีฬาเตรียมไปแข่งซีเกมส์หรือโอลิมปิค, ไปติวตามที่ดีๆ หรือ ทำแบบฝึกหัดกันมากๆ และก็วิธีการต่างๆที่รุ่นพี่เขาแนะนำ อย่างการอ่านหนังสือเมื่อใกล้สอบ เขาว่าถ้าอ่านทุกวิชาอาจจะไม่ได้แอ้มสักวิชา เอายังงี้น้อง จับเอาวิชาชัวร์ๆ ๓ วิชาเลย ถนัด ๓ วิชาไหน โกยเหรียญทอง เฮ้ย โกยคะแนนให้มากๆ วิชาไหนไม่เข้าใจเก็บไว้ก่อน บ้างก็บอกให้จัดทำตารางดูหนังสือ ซึ่งก็เป็นคำแนะนำที่ดี แต่บรรดาน้องๆท่านจะทำรึไม่ อันนี้ก็แล้วแต่

            ส่วนการเลือกคณะก็ให้เลือกตามเปอร์เซ็นต์คะแนนต่ำสุดเรียงลงมา บ้างก็ว่าคะแนนในแต่ละอันดับควรให้ต่างกัน ๕% มั่ง ๗% มั่ง, ๑๐% มั่ง เผื่อเอาไว้ให้ติดในอันดับท้ายๆด้วย เลือกสูงเกินไปอาจพลาดหมด แต่คะแนนที่เราได้ อาจจะติดในคณะอื่นที่คะแนนต่ำกว่า ซึ่งน่าเสียดายมากๆ

            และเมื่อใกล้วันสอบ พวกเราต้องเดินทางไปยังศูนย์สอบจังหวัดขอนแก่น ส่วนใหญ่ก็สอบแถวๆวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนไปบรรดาญาติๆก็ให้ศีลให้พร และให้กำลังใจกันเพียบ "ได้นะ"  "ได้อยู่แล้ว" "ไม่มีพลาด" ... "สบายอยู่แล้ว...ติดชัวร์" ฯลฯ ก่อนเดินทางคุณป้าของผมก็ให้คาถาบทหนึ่งเอาไว้

            นะจำจิต นะจำใจ
            พุทธจำไว้ พุทธะ
            ออกโม ซอกเห็น
            อมสะ หมติด ติดปานตัง
            ยังเป็นป้วง ไฝ่ท้วงแห่งติด


            คาถานี้ต้องท่อง ๓ จบ ก่อนจะเข้าสอบ แล้วก็เดินก้าวเข้าห้องสอบอย่างสง่า ผ่าเผย ห้ามเหยียบธรณีประตู และถ้ามีใครทัก ถือเป็นเคล็ดจะไม่พลาดแน่นอน

            ก่อนวันสอบ ๑ วัน แต่ละคนก็ต้องเดินทางไปดูสถานที่สอบ ซึ่งในปี  พ.ศ.๒๕๓๕ นี้ ทบวงมหาวิทยาลัยก็จัดส่งซองจดหมายแจ้งสถานที่สอบ ห้องสอบที่ ตึกที่ให้ด้วย ทำให้ไม่ต้องไปดูที่มหาวิทยาลัยเช่นปีก่อนๆ

            แล้วก็มาถึงวันสอบ วันแรกหลายคนจะมาแต่เช้า ๗.๐๐ น. มากันเกือบเต็ม ทั้งๆที่สอบ ๙.๐๐ น. ก็มาดูห้องสอบ ที่นั่งสอบ แล้วก็เดินสำรวจสถานที่สอบ หรืออ่านหนังสือกันไป แต่ในวันถัดๆมาก็จะมากันสายขึ้น ยิ่งวันสุดท้ายมาตอนใกล้เวลาสอบนั่นแหละ

            คณิตศาสตร์ถือเป็นวิชาแรกสุด แค่ ๔๗ ข้อ ก็นั่งทำไปทั้ง ๓ ชั่วโมง เกร็งมากจนจะเป็นเหน็บ แต่ขนาดนั้นก็ยังทำไม่ทันก็ต้องเดากันหลายข้อ ห้องสอบห้องหนึ่งๆก็กว้างพอสมควร แต่จัดโต๊ะไว้ห่างๆกัน ๒-๓ เมตร เลยจุได้ห้องละ ๒๕ คน กว่าจะทำข้อสอบออกมาได้แต่ละข้อ โดยเฉพาะคำนวณก็แทบแย่ ยิ่งพื้นฐานความรู้ไม่ชัวร์ป๊าด ทำไม่ได้เลย  บ้างก็เดา ไม่ทำเลยซักกะข้อ และยิ่งมีกฎว่าห้ามออกจากห้องสอบก่อนเวลา ๒ ชั่วโมง หลายคนก็เสร็จตั้ง ๔๐ นาทีแล้ว ก็นั่งหลับใน  นั่งหาวรอจนหมดเวลาไป ซึ่งต่างกับหลายคนที่หน้าดำคร่ำเครียดแทบเป็นแทบตาย วิชาที่พอทำได้ออกจากห้องสอบมาก็สีหน้าแช่มชื่น ซึ่งก็มีไม่กี่วิชา แต่วิชาที่ยากๆออกมาก็ทำหน้าเหนื่อยหน่ายทุกที แต่ก็อย่างว่า ข้อสอบเอ็นทรานซ์ ก็ต้องการคัดคนที่มีความรู้จริงๆ เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน

            หลังสอบเอ็นทรานซ์เสร็จ หลายคนก็นั่งรอนอนรอ เป็นเวลากว่าเดือนเศษ ในปีนี้ทางทบวงฯ จัดบริการแจ้งผลสอบทางไปรษณีย์ ซึ่งทำให้ทราบผลก่อนเวลาประกาศผลสอบอย่างเป็นทางการถึง ๓ วัน (๖ พ.ค.) ในใจของแต่ละคนก็คิดเข้าข้างตัวเองว่า ได้เอาไว้ก่อน เอ มหิดลดี ..รึจุฬาดี เอ๊ะ เกษตรดีกว่ารึว่าธรรมศาสตร์ดีนะ แต่ละคนก็นั่งฝันหวานไป (รวมทั้งผมด้วยครับ)

            และแล้วก็มาถึงสำหรับซองแจ้งผลสอบทางไปรษณีย์ เมื่อ ๖ พ.ค. พอได้รับซองก็มือสั่นระริก แม้แต่ขณะแกะซองก็ยังสั่น ใบหน้าเริ่มเครียด กำลังลุ้น...  ได้-ไม่ได้-ได้-ไม่ได้ ขอให้ได้เถอะ เอ-ถ้าได้แล้วจะร้องไชโยให้ลั่นบ้านเลย มือพลางแกะซองและหยิบกระดาษแผ่นในออกมาดู สายตากวาดไปตามตัวหนังสือ แล้วก็มาถึงประโยคขวามือบรรทัดท้ายสุด ตะลึงนะจังงังกับข้อความในกระดาษประโยคนั้น

            "สอบไม่ผ่าน"

            พลันกระดาษแผ่นนั้นที่ถือเอาไว้ในมือ ก็หลุดร่วงลงไปเฉยๆ ที่ฝันๆเอาไว้หายไปในชั่วพริบตาเดียว และในชั่วโมงนั้น ก็นั่งซึมเหม่อ... เสียงร้องไห้ดังข้ามรั้วก็แว่วมาเข้าหู ผมอยากจะร้องไห้เหมือนกัน แต่ไม่มีน้ำตา...ผมก็เปิดวิทยุฟังไป วิทยุเจ้ากรรมก็เปิดเพลงถูกจังหวะพอดี เป็นเพลงปลอบใจทั้งนั้น "อย่ายอมแพ้" "กำลังใจ" "เก็บตะวัน"  ฯลฯ พร้อมทั้งดีเจจัดรายการก็พูดเชิงปลอบ ผมก็เลยค่อยๆใจ เอ็นไม่ติดก็ใช่ว่าโลกจะถล่ม ฟ้าจะทะลายซะเมื่อไหร่ ว่าแล้วก็ปาดมะม่วงกินย้อมใจ แต่ก็ยังเสียใจอยู่ลึกๆ ก็เลยจัดการไปซะ ๕-๖ ลูก วันนั้นก็เลยท้องเสียฉลองเอ็นไม่ติดซะอีก

            วันต่อๆมาก็เริ่มได้ข่าวคราวของเพื่อนๆ คนนั้นติดเกษตร โน่นจุฬา นั่นขอนแก่น รวมจาก ก.พ.ส. ก็เกิน ๒๐ กว่าๆแล้ว เฉพาะห้องของผม ๖/๑ ก็เกือบครึ่งของสถิติ ก.พ.ส. เวลาออกไปเจอหน้าใคร บรรดาคนสอบไม่ติดก็จะต้องสอบถามผลของคนอื่นๆซะก่อน เป็นไง....ได้อะไรไหม...พอเขาถามคืน ความเศร้าก็เข้ามาทันที ต้องตอบออกไปอย่างเจ็บใจ ยิ่งคนสอบเอ็นไม่ได้ทั้งคู่ มาเจอกันช่วงวันสองวันหลังทราบผลใหม่ๆ ก็ต้องคอยปลอบใจกันเอง

            วันที่ ๓ หลังจากทราบผลสอบส่วนใหญ่ทำใจได้แล้ว ยกเว้นคนที่หวังเอาไว้มากๆ ก็อาจจะทำใจกันนานหน่อย หลายคนก็เริ่มหาที่ศึกษาต่อ ในมหาวิทยาลัยเปิด หรือไปทำงานกันเลยก็มี อย่างเพื่อนคนหนึ่งของผมเอง.. "ประเวทย์" ก็ทำงานเป็นพนักงานธุรการอยู่อำเภอกมลาไสย สบายใจเฉิบ สำหรับผมก็บากหน้าสู่มหาวิทยาลัยที่ชื่อ "รามคำแหง" และปีหน้าจะกลับมาสอบใหม่อีก จะพลาดไม่ได้ ... (ถ้าพลาดก็เรียนรามปี ๒ ต่อไป)

            เพื่อนอีกคนหนึ่งของผม ทราบผลมา ๗ วันก็ยังทำใจไม่ได้ หมอนี่เลยปลอบใจตัวเอง โดยนั่งเปิดเพลงรักเศร้าๆ อกหักมากๆ อย่าง "เจ็บนี้อีกนาน" "ลางร้าย" ฯลฯ พลางร้องตามไปมั่ง ออกลีลาท่าทางไปพร้อม ดูๆไปนึกว่าจะไปประกวดร้องเพลง นั่น...มีน้ำตาคลอออกมารึว่าถูกใครหักอกมาจริงๆ เออ แต่ยังไม่มีแฟนนี่ รึจะไปเล่นมิวสิควีดีโอให้ใครเขาล่ะ ดูเข้าถึงบทบาทดี หมอนี่กว่าจะทำใจได้ ก็เกือบๆรามคำแหงจะปิดรับสมัคร

            และในการสอบครั้งนี้ก็ได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่ดีๆเยอะ ในการทำข้อสอบ แต่ก็มีคำแนะนำหนึ่งที่ท่านๆควรจะพิจารณาเอาเอง เวลาทำไม่ทันหรือทำไม่ได้เลยสักข้อ พี่ๆเขาแนะนำว่าต้องกาเป็นแถวยาวเรียงลงมาเลย กา "ก" ตลอด "ข" ตลอด "ค" ตลอด แล้วแต่ชอบเบอร์ไหน ถ้ากากระจายโอกาสถูกก็ ๕๐: ๕๐ ถ้ากาข้อเดียวยาวลงมาก็มีสิทธิ์ ผมก็ลองๆใช้มั่งเวลาคับขัน...

            ความฝันของเด็ก ม.๖ หลายๆคน ก็ฝากความหวังเอาไว้กับเอ็นทรานซ์นี้แหละ เพราะเด็กกาฬสินธุ์หลายคนไม่ทราบเลยว่า มีสถาบันใดอีกที่เปิดรับ นอกจากมหาวิทยาลัยของรัฐกะรามคำแหง  เมื่อสอบไม่ได้ขึ้นมาความรู้สึกมันขนขื่นจับหัวใจ ในคืนวันที่ทราบผลแทบจะนอนไม่หลับ ผมลองๆโทรศัพท์ไปเช็คดู เพื่อนผมก็รับสายอยู่จริง ขนาดตี ๒ ตี ๓ แล้ว คืนนี้เป็นคืนที่ทรมานมาก ทรมานในการทำใจ ดังนั้น กำลังใจน่ะ สำคัญ ต้องพูดจนเกิดความหวังใหม่ (ไม่เกี่ยวกับการเมืองนะครับ) หรือให้ฮึดสู้ขึ้นต่อไป อย่างอาของผู้เขียนได้ปลอบใจผู้เขียนและเพื่อนดังนี้

            "การสอบนี่นะเธอขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวของแต่ละคน จะได้รึไม่ได้ก็อยู่ที่ "กึ๋น" ที่ความรู้ของเราว่า แน่แค่ไหน วันนี้พวกเธออาจจะไม่แน่พอก็เลยพลาด เธอจะเสียใจไปสักเท่าไหร่ เธอก็ไม่ได้เข้าไปเรียนในที่ที่เธอหวังเอาไว้หรอก เธอจะมาเสียใจให้กับข้อสอบแค่ไม่กี่ร้อยข้อเท่านั้นรึ ที่พวกเธอไม่สามารถพิชิตมันได้ เธอมาเสียใจอย่างงี้ เพื่อนๆคนอื่นๆ คงจะเยาะเย้ยสะใจที่เธอพลาด ในขณะที่พวกเขาทำได้ พวกเขาคงจะสบประมาทเธอต่างๆนานา ว่าแค่นี้ยังทำไม่ได้ พวกเขายังได้เลย เธอจะยอมให้เขาดูถูกเธอรึ ดูถูกว่า ไอ้พวกขี้แพ้...ไร้น้ำยา กระจอก เขาคงจะหัวเราะเยาะและสะใจไปไม่รู้กี่เที่ยวแล้ว ที่จริงเธอก็มีสิทธิ์ที่จะเข้าเรียนเหมือนกัน พวกเธอยังอยากเข้าเรียนไหม"

            "ครับ"

            "ก็นั่นแหละ  ในเมื่อคนอื่นได้ พวกเธอจะไม่ได้เลยหรือ พวกเธอก็ต้องได้เหมือนกัน ถ้าจะเอาซะอย่าง เธอมีสิทธิ์ที่จะเลือกได้ดีกว่าพวกเค้านะ ... อาเชื่อมือพวกเธอนะ...แล้วปีหน้าอาจะคอยฉลองให้"

            จากที่กำลังเศร้าเสียใจ กลับเลือดขึ้นหน้าจนเกิดมีมานะ จากคำพูดและน้ำเสียงเมื่อครู่นี้ เป็นคำปลอบที่จะแรงๆบ้าง มีหลายประโยคที่รุนแรงฟังแล้วขนลุกซู่ แต่ผมขออนุญาตเซ็นเซอร์ซะก่อน เพราะเป็นคำอีสานล้วนๆ เดี๋ยวไปกระทบกระเทือนใครเข้าจะยุ่ง สรุปก็อย่างที่กล่าวมาข้างต้นนั่นแหละครับ ท่านทั้งปลอบใจและ "ปลุกใจ" ...ถ้าปลอบใจเฉยๆ อาจจะเศร้าสร้อยยิ่งกว่าเดิม ก็เลยปลุกใจให้กลับมามีมานะดังเดิมหรือยิ่งกว่าเดิมอีก วิธีการแบบนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์นะครับ ท่านผู้ปกครองจะนำไปใช้ในปีหน้าก็ได้ แต่ควรออกน้ำเสียงให้เป็นจังหวะจะโคน ไม่ให้เป็นการด่า แต่อันนี้ก็แล้วแต่บุคคลนะครับ บางคนใช้วิธีนี้อาจจะโศกเศร้าหนักยิ่งกว่าเดิม
   
            แต่สำหรับผมและเพื่อน หลังจากฟังคำปลุกใจในวันนั้น เกิดความรู้สึกเฉยๆ ก็เหมือนๆกับสอบเก็บคะแนนในชั้นเรียน แล้วเราก็สอบไม่ผ่าน ก็ต้องตามแก้ให้ผ่าน ก็ที่สอบเก็บคะแนนไม่ผ่าน เรายังไม่ฟูมฟายเลย ผมก็เลยเลิกโศกไปเลย       


            ในปีหน้าสำหรับท่านผู้ปกครอง ท่านใดที่บุตรหลานสอบเอ็นไม่ติด แล้วคิดจะมาให้คุณอาของกระผมช่วยปลุกใจให้ล่ะก้อ คุณอาของผมก็ยินดีที่จะปลุกใจให้ โดยไม่คิดค่าบริการใดๆทั้งสิ้น แต่ท่านควรจะมีความรู้ทางด้านภาษาพื้นเมืองทางอีสานมั่งนะครับ เดี๋ยวมาเจอคุณอาผม มาฟังๆท่านปลุกใจ อาจจะงงเต็กไม่รู้เรื่องและไม่ทราบซึ้งประทับใจเท่าที่ควร แหะๆ

            ชีวิตของผมและเพื่อนๆอีกหลายคนก็จะต้องดิ้นรนกันต่อไป ต่างคนก็ต้องแยกย้ายกันไป คนที่เอ็นติดในสถาบันอุดมศึกษาของเอกชนก็ต้องเซย์กู๊ดบาย เพราะค่าหน่วยกิตเล่นซะแพงอย่าง ม.รังสิต หน่วยกิตละ ๕๐๐ บาท, ม.ศรีปทุม หน่วยกิตละ ๓๐๐ บาท , ม.สยาม หน่วยละ ๓๒๐ บาท เพื่อนของผมแต่ละคนก็ฐานะปานกลาง ยังพิมพ์แบงก์เองไม่ได้ ค่าใช้จ่ายเทอมหนึ่งๆก็เป็นค่าใช้จ่ายของครอบครัวเพื่อนๆผมในแต่ละเดือนซึ่งก็ไม่ค่อยจะพอใช้ ถ้าให้เรียน พ่อแม่ก็ต้องผูกคอตายซะก่อน ลองคิดดู ค่าหน่วยกิต ๕๐๐ บาท เรียนเทอมละเกือบ ๒๐ หน่วย และค่าบำรุงต่างๆอีก ขณะที่จุฬา ๕๐ บาท ขอนแก่น ๓๐, ราม ๒๕ บาท ดังนั้นคนเอ็นติด ก็มีสิทธิ์เรียนรามเหมือนกัน (อย่างเพื่อนผมไง)

            หลังจากนั้นผมก็ได้มาพิจารณาหาสาเหตุ ..ก็เพราะ...เตรียมตัวไม่ดี ความรู้ยังไม่แน่น ตีโจทย์ไม่ค่อยจะเข้าใจ พลางก็เปิดสมุดพลิกไปพลิกมา พลางใช้ความคิดไปเรื่อยเปื่อย ทันใดนั้น กระดาษแผ่นหนึ่งตกลงบนพื้น ผมจึงหยิบขึ้นมาดู
       
            "นะจำจิต นะจำใจ
            พุทธจำไว้ พุทธะ..."

            เอ๊ะ รึว่าเราลืมท่องคาถาบทนี้ นะ?
           
           

ตีพิมพ์ในหนังสือ
ต่วย' ตูนฮิวเมอร์ : อารมณ์ขันของคนรุ่นใหม่
กรกฎาคม ๒๕๓๖ ฉบับที่ ๗๘ ปีที่ ๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น